Lifestyle

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด : รายงาน  โดย...  ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected] 

 

          “ผู้นำ-คนรุ่นใหม่ต้องยืนอยู่บนขาของตนเอง พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ พัฒนาสังคม พลิ้วไหวเดินไปข้างหน้า” นายพิภพ 

          โลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแรงและเร็ว ทุกส่วนของโลกเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก “โรงเรียนอนาคต” ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับภาคีเครือข่ายด้านการเรียนรู้ เพื่อเป็นโรงเรียนภาคฤดูร้อนสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย
"เกศินี วิฑูรชาติ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มธ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่  มูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ., ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มธ. และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด เพื่อดำเนินโครงการโรงเรียนอนาคต ซึ่งจะเป็นการจัดการเรียนการสอนสร้างผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.6 และนักศึกษาระดับปริญญาตรี จากทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย จำนวน 30 คน เข้าร่วมอบรม เข้าค่าย 

 

 

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด

 

          ผู้เข้ารับการอบรมจะมีโอกาสพูดคุยกับนักคิด นักวิชาการ นักเปลี่ยนแปลงทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นการบ่มเพาะความคิด และนักเรียน นักศึกษาสามารถไปต่อยอดความคิดสร้างองค์ความรู้ด้านตนเอง โดยผู้เข้าร่วมต้องมีการทำโปรเจกท์ที่จะได้เห็นแนวความคิดการเปลี่ยนแปลงสังคมจากมุมมองของผู้นำทุกคน ผ่านการเขียนวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อเด็กจะได้รู้ว่าต้องการอะไร เสนออย่างไร และจะสร้างอะไรแก่ประเทศไทย 

          “การสร้างบัณฑิต ต้องหากระบวนการที่หลากหลาย โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดเดาได้ยากว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งใครที่สามารถปรับตัวเองให้อยู่รอดในยุคนี้และอนาคตได้เป็นเรื่องที่ควรสร้างขึ้นแก่เด็ก มธ.มีวิสัยทัศน์สร้างผู้ให้สังคมไทยและนานาชาติ และตั้งเป้าหมายในการปลูกฝังบัณฑิตของมธ.ให้มีคุณลักษณะ 6 ข้อ ที่เหมาะกับการเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ GREATS ประกอบด้วย รู้เท่าทันโลกและสังคม มีความรับผิดชอบ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และทรงพลัง มีสุนทรียะในจิตใจ เป็นผู้นำทีม และมีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม ซึ่งหากทุกคนมีสิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะช่วยให้สังคมเดินหน้าไปได้ และโรงเรียนอนาคต เป็นการเรียนรู้ผ่านรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย เปิดโลกทัศน์ และปลูกฝังวิธีคิดแก่เด็ก เป็นโครงการที่ช่วยดึงศักยภาพของเด็ก เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย และอนาคต" เกศินี กล่าว

 

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด

 

          หนุนเยาวชนคิดวิพากษ์คิดสร้างสรรค์

          สตีเน่อ  คลีพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท (FES) ประเทศไทย กล่าวว่า โรงเรียนอนาคต จะเป็นการสร้างเยาวชน ผู้นำในการพัฒนาสังคม และประเทศ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพ เกิดการตระหนักรู้  สร้างคำถามที่สร้างสรรค์ในอนาคต ที่สำคัญต้องสร้างเยาวชนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยากให้เยาวชนสร้างสังคมที่เกิดความสมานฉันท์มากขึ้น หวังว่าโรงเรียนที่จะมีกิจกรรมเข้าค่าย ภายใน 2 สัปดาห์จะพัฒนาเยาวชนเหล่านี้ให้มีศักยภาพในการยกระดับสังคมต่อไป 

          ไม่ใช่ค่ายผู้นำแพลตฟอร์มการเรียนรู้
          พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า โรงเรียนอนาคต เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้สาขาอื่นๆ นอกจากสาขาหรือความถนัดของตนเอง เพื่อได้เรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ และเข้าใจทุกอย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะสังคมอนาคตต้องการคนรุ่นใหม่ เข้าใจสถานการณ์โลกปัจจุบัน และอนาคต ต้องเตรียมคนที่ทำให้คนรุ่นใหม่ยืนอยู่บนขาของตนเอง พร้อมปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ พัฒนาสังคม และพลิ้วไหวเดินไปข้างหน้า

          “อนาคต ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด ไม่มากเท่ากับจินตนาการ  เพราะโลกอนาคตต้องหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดวิพากษ์ คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนตัวเองได้เมื่อเจอกับการเปลี่ยนแปลงในโลก  สิ่งที่มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาจะทำได้ดี คือเตรียมคนให้พร้อมเผชิญกับปัญหาเหล่านั้น ด้วยทักษะคิดวิเคราะห์ ค้นคว้า บวกกับจินตนาการที่ดี สร้างคนที่มีฐานคิดหนักแน่น ไม่เลื่อนลอย โรงเรียนอนาคตจึงเป็นการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ทั้งก่อนเข้ามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับคนในอนาคต หากมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โรงเรียนอนาคต ไม่ใช่เพียงค่าย แต่เป็นแพลตฟอร์มของการเรียนรู้ในสังคม เพื่อพัฒนาประเทศให้เดินหน้าไปข้างหน้า” พิภพ กล่าว

 

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด

 

          3 เชื่อ รู้แนวใหม่ปลูกอนาคตสังคมไทย 
          ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า โรงเรียนอนาคต มีความเชื่อ 3 ประการ คือ 1.เชื่อว่าสังคมมีความหวัง และความหวังอยู่ที่คนรุ่นใหม่ จึงตั้งใจทำโครงการกับคนรุ่นใหม่ 2.เชื่อในเรื่องความหลากหลาย เพราะความหลากหลายคือพลัง ในโครงการนี้เด็กจะได้เรียนรู้วิชาที่หลากหลายเพื่อก้าวออกจากศาสตร์ของตนเอง หรือความสนใจของตนเอง ซึ่งในโรงเรียนอนาคต มีนักศึกษา และนักเรียนมัธยมเข้าร่วม 30 คน จากทั่วประเทศ และจากสาขาวิชาที่หลากหลาย ทั้ง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ปรัชญา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะการแสดง ซึ่งการเรียนรู้ในยุคนี้ความสามารถความรู้เฉพาะด้านไม่เพียงพอ และ 3.เชื่อในเรื่องของการสร้างเครือข่าย ต้องการให้เด็กแต่ละสาขามาสร้างเครือข่ายร่วมกัน และทำงานร่วมกัน สร้างการเปลี่ยนแปลง ขยายองค์ความรู้ ไปสู่โรงเรียนในวงกว้าง
รูปแบบเรียนรู้หลากหลาย-ตลาดวิชา 

          ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด กล่าวว่า โรงเรียนอนาคตเป็นประสบการณ์เรียนรู้แบบใหม่ ที่มีความหลากหลาย ซึ่งเสน่ห์ของโรงเรียนอนาคต เป็นตลาดวิชา เป็นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ มุ่งเน้นฝึกฝนทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของนักเรียน ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อร่วมสร้างอนาคตสังคมไทยให้ดีขึ้น ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ทั้งวงแลกเปลี่ยนถกเถียง อาทิ ระเบียบโลกใหม่ ความยั่งยืนและระบบนิเวศ เป็นต้น วงปฏิบัติการ อาทิ การคิดวิพากษ์ การเขียนอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น วงเสวนา อาทิ การเมืองไทยในอนาคต เศรษฐกิจไทยในอนาคต เป็นต้น วงสนทนา หรือ Dinnet talk  และวงเดินทาง อาทิ เทคโนโลยี นวัตกรรม และผู้ประกอบการยุคใหม่ เป็นต้น

 

โรงเรียนอนาคตความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด

 

          โดยรูปแบบการใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกัน 2 สัปดาห์เต็ม มีวิทยากรระดับประเทศในวงการต่างๆ เกือบ 50 คน  มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ตั้งแต่ 9 โมงถึง 3 ทุ่มทุกวัน มีกระบวนการระดับประเทศช่วยดูแลกระบวนการเรียนรู้ตลอดโครงการ มีการนำเสนอผลงานกลุ่มในวันสุดท้าย และผลงานเดี่ยวระบบการศึกษาที่ต้องส่งภายใน 3 เดือนหลังกิจกรรม  โดยจะจัดแสดงผลงานทั้งหมดต่อสาธารณะต่อไป นอกจากนั้นการเรียนรู้จะเป็นการฝึกทักษะเชื่อมโยงความรู้ ต้องสร้างคาแรกเตอร์นักเรียนนักศึกษาให้พร้อมการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง การกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม การเป็นผู้นำ สร้างระบบการเรียนรู้อย่างไร ให้นักเรียนมีองค์วามรู้ที่ดี ทักษะที่ดี และมีความคิดที่ดี 

          อยากรู้ “โรงเรียนอนาคต” เป็นอย่างไรดูได้ที่  www.tu.ac.th/news

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ