Lifestyle

วช. หนุนพัฒนาสูตรอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กในวัยเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วช. หนุนพัฒนาสูตรอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กในวัยเรียน

 

            วันที่ 26 มิ.ย.  ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณแก่แผนงานโครงการ “ครัวไทย
สู่ตลาดโลก” โดยหนึ่งในแผนงานนี้คือ “โครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพของเด็กวัยเรียน”
ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.ทวีศักดิ์ เตชะเกรียงไกร และคณะ ได้ทำการศึกษาและพัฒนาตำรับ อาหารไทยมื้อกลางวัน ที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และตรงกับความต้องการ
ของเด็กวัยเรียน

         โดยได้ศึกษาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดนครนายก จำนวน 131 โรงเรียน เด็กนักเรียนประถมศึกษา ปีที่ 4 – 6 จำนวน 7,459 คน คณะวิจัยได้พัฒนาตำรับอาหารกลางวัน จำนวนทั้งหมด 26 รายการ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ผัดกะเพราหมูใส่ถั่วฝักยาว ผัดพริกแกงใส่ผักบุ้ง ผัดกะหล่ำปลีหมูใส่ไข่ ผัดผักรวมมิตร ผัดโป้ยเซียน แกงเทโพ แกงเขียวหวานไก่ แกงเผ็ดไก่แฟง แกงส้มผักรวม ต้มจืดวุ้นเส้นหมูสับ ต้มจืดไก่ใส่แฟง ต้มจืดผักกาดขาว หมูสับเต้าหู้ ต้มจืดไข่น้ำ ต้มจับฉ่าย ต้มยำไก่ใส่เห็ดนางฟ้า หมูกระเทียม ไข่เจียว ยำหมูยอ ข้าวผัดหมู ซึ่งตำรับอาหารกลางวันนี้ นักวิจัยได้ลดความหวาน ความมันและความเค็มลง โดยเพิ่มปริมาณผักใน ส่วนประกอบอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิมและยังคงคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน โดยมีต้นทุนอาหารไม่เกิน 20 บาทต่อมื้อต่อคน
         ซึ่งสามารถปรับใช้กับโรงเรียนในทุกภาคของประเทศได้ ซึ่งหลังจากที่เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่พัฒนาขึ้นนี้แล้วเป็นระยะเวลา 3 เดือน ปรากฏว่าปริมาณไขมันในร่างกายของ นักเรียนลดลงแต่ปริมาณกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น น้ำหนักและส่วนสูงยังเพิ่มขึ้น จากความสำเร็จของโครงการ ดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กในวัยเรียนใน อัตราวันละ 20 บาทต่อมื้อต่อคนนั้น
มีความเหมาะสมและเพียงพอ สามารถจัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทาง โภชนาการที่เหมาะสมให้กับเด็กวัยเรียนได้เป็นอย่างดี และเมนูอาหารดังกล่าว มีผลดีต่อการเจริญเติบโตของ ร่างกายเด็กนักเรียน

          ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลสัดส่วนของร่างกายก่อนและหลังการกินอาหารกลางวัน สูตรเพื่อสุขภาพของโครงการฯ ผลที่ได้คือ น้ำหนัก ส่วนสูง และกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น โดยไขมันในร่างกายลดลง นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พัฒนาซอสปรุงรสเข้มข้นที่ได้ลดปริมาณเกลือโซเดียม น้ำตาล และไขมันลงสำหรับใช้ในการปรุงอาหาร โดยมีคุณค่าทางโภชนาการตามวัย และมีความสะดวกในการใช้งานประกอบอาหาร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้อาหารไทยมื้อกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ได้มาตรฐานแน่นอนและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะปรุงโดยพ่อครัวแม่ครัวคนใดก็ตาม โดยซอสที่ปรุงรสขึ้นนี้มีจำนวน 4 ชนิด คือ ซอสเข้มข้นสำหรับผัด  ซอสเข้มข้นสำหรับแกงแดง ซอสเข้มข้นสำหรับ
แกงเขียวหวาน และซอสเข้มข้นสำหรับน้ำแกง

            สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงข่าวโครงการพัฒนาตำรับอาหารไทยมื้อกลางวันเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน : กรณีศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่นครนายก ในวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว เวลา 09.30 น. โดย วช. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จะมอบข้อมูลผลงานวิจัยทั้งหมดแก่โรงเรียนที่สนใจโดยไม่คิดมูลค่า และ โครงการครัวไทยสู่ตลาดโลกและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมให้การอบรมพ่อครัว/แม่ครัวของโรงเรียนในการปรุงอาหารด้วยซอสปรุงรสเข้มข้น ซึ่งจะสามารถคงความอร่อยของรสชาติและสามารถลดหวาน มัน เค็ม แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทำให้เด็กไทยลดความเสี่ยงต่อภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ