Lifestyle

นายกฯห่วงใย ปัญหาทีแคส แนะทำความเข้าใจปชช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกฯห่วงปัญหาทีแคส แนะทำความเข้าใจปชช. ด้าน นักวิชาการ จี้ยกเลิกระบบรับตรง ใช้ระบบสอบร่วมแบบเก่าแทน ลั่นมหาวิทยาลัยรับตรงเหตุต้องการหารายได้มากกว่าตัวเด็ก 

 

           8 มิ.ย.61-"หมออุดม" เผยนายกฯ ห่วงใยปัญหาทีแคส ชี้เข้าใจหลักการ แนะให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบทีแคสมาพูดให้ประชาชนทราบข้อมูล ฝากทุกคนมีสติก่อนส่งข้อมูลแชร์โซเซียล ขณะที่นักวิชาการ จี้ยกเลิกระบบรับตรง ใช้ระบบสอบร่วมแบบเก่าแทน  ลั่นมหาวิทยาลัยรับตรงเหตุต้องการหารายได้มากกว่าตัวเด็ก แนะศธ.ปฏิรูปทั้งระบบ คุมหลักสูตรเฟ้อ ลดปัญหาที่นั่งเกลื่อนเกินจำนวนเด็ก 

             ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากปัญหาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส มีการใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นปีแรกและมีปัญหาการดำเนินการของระบบที่เกิดขึ้นนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.61  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการดำเนินการระบบทีแคส โดยนายกฯ ได้กล่าวในช่วงท้ายการประชุมแต่ไม่ได้เป็นการตำหนิ  เพราะนายกฯเข้าใจดีว่า ของใหม่ก็ต้องมีปัญหาบ้าง อีกทั้ง เข้าใจหลักการทีแคส ด้วยว่าเป็นหลักการราคาดี ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สอบเข้าทั้งหมด เพียงแต่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย ทำให้มีการส่งต่อกันจนเรื่องแพร่กระจายไปไกล  แต่เมื่อมีปัญหาต้องแก้ไข  ซึ่งนายกฯ อยากให้นำผู้ที่ได้รับประโยชน์จากระบบทีแคสมาพูดให้ประชาชนทราบข้อมูลอีกด้านหนึ่งด้วย

       

          “ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการส่งต่อๆกันในสื่อสังคมออนไลน์ ทปอ.พยายามชี้แจงทำความเข้าใจ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครฟัง ผมเห็นใจและให้กำลังใจ ทปอ.ทุกคน  และอยากให้ทุกคนใช้สติก่อนจะส่งต่อข้อมูลใดๆ และรับฟังคำชี้แจงของทปอ. ซึ่งทำงานกันอย่างหนัก ยอมรับว่าอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ข้อดีในระบบทีแคสก็มีมากกว่าข้อเสีย และคงไม่ตอบโต้ในทุกเรื่อง อยากให้สังเกตว่า เมื่อมีการเคลียริ่งเฮ้าส์ รอบ 3/2 นักเรียนก็พอใจ และพร้อมเดินหน้าสู่ทีแคสรอบที่ 4 แอดมิชชั่นกลาง  และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ ซึ่งผมมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาแน่นอน” ศ.นพ.อุดม กล่าว
ทั้งนี้  ทีแคสรอบ 3 รับตรงร่วมกัน ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ เพราะที่ผ่านมาผู้ปกครองต้องพาลูกหลานเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายทั้งการเดินทาง และที่พัก ซึ่งในปีนี้  ไม่ได้รับการต่อว่าจากผู้ปกครองที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพาลูกไปสอบในมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ได้รับการต่อว่าจากผู้ประกอบการโรงแรม รถทัวร์ว่า การรับตรงร่วมกันปีนี้ ทำให้โรงแรม รถทัวร์ รายได้ตกลงไปมาก อย่างไรก็ตาม  ระบบทีแคสรอบ 3 เป็นการวิ่งรอกสอบเช่นกัน แต่วิ่งรอกสอบในคอมพิวเตอร์แทน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นผลจากทีแคส ที่คาดไม่ถึงเช่นกัน

         ด้านนายวีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวว่า ประเด็นการรับตรงของสถาบันอุดมศึกษา เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้เกิดการแข่งขันในการเลี้ยงดูตนเอง เนื่องจากรัฐจะให้งบประมาณแค่บางส่วน ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้ คือ การเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้น ทำให้ที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ จากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีที่นั่งเหลือเพียงหลังหมื่น แต่ปี 2560 มีที่นั่งว่างเหลือ 30,000 ที่นั่ง  เมื่อเกิดการแก่งแย่งเด็กแบบนี้ จึงเกิดการรีบรับสอบตรงก่อนเพื่อที่จะกั๊กเด็กไว้ ซึ่งตรงนี้สะท้อนถึงการคำนึงถึงรายได้เป็นหลัก มากกว่าเรื่องการศึกษา ซึ่งเห็นด้วยที่จะไม่มีการรับตรง แต่ระบบสอบร่วมแบบเก่าแทน 

         "ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแต่ละที่จะรีบเปิดรับก่อน พอเด็กปิดเทอมก็มีโปรโมชั่น  ซึ่งอนาคตอาจต้องไปเคาะประตูบ้านเพื่อเรียกเด็กมาเรียนก็ได้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็ไม่ควบคุมการขยายการเปิดหลักสูตร ปล่อยให้เปิดอย่างอิสระ ไม่มีการคุมประเภทของมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อปริมาณเยอะ คุณภาพลดลง เรียกว่าตอนนี้มั่วและฟุ้งเฟ้อไปหมด และเมื่อปริมาณเยอะเด็กเล่นตัว มหาวิทยาลัยต้องเปิดสอบหลายรอบ อย่าง ทีแคสเปิด 5 รอบ เพราะว่ารอบแรกไม่เต็ม รอบ 2 ไม่เต็ม รอบ 3 ไม่เต็ม จนกระทั่งรอบ 5 เชื่อว่าอาจจะไม่เต็ม" นายวีรชัย กล่าว

         รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในขณะนี้ ไม่ได้มองว่าเกิดจากทีแคสอย่างเดียว เพียงแต่ วันนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็น เพราะคนที่ประท้วงทีแคสไม่ใช่คนที่สอบไม่ได้ แต่เป็นพวกที่สอบได้แต่ไม่ได้ในคณะที่ตนเองต้องการ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทีแคส ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายผู้ปกครองได้ แต่ก็ยังต้องพัฒนาระบบต่อ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือรัฐบาลเองต้องอาศัยโอกาสนี้ที่มองเห็นปัญหาแล้วแก้ปัญหาให้ได้ ถึงจะเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง ซึ่งมองว่าต้องปรับแก้ทั้งระบบ ทั้งเรื่องของหลักสูตรที่ฟุ้งเฟ้อจะต้องมีการกำจัดหรือลดหลักสูตรลง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ