Lifestyle

"สิทธิขอตาย" วิธีเขียนพินัยกรรมให้หมอ "ไม่ยื้อชีวิต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สิทธิขอตาย" วิธีเขียนพินัยกรรมให้หมอ "ไม่ยื้อชีวิต" โดย ทีมข่าวรายงานพิเศษ คมชัดลึก

 

               สมัยนี้มนุษย์เกิดมาก็มีสิทธิติดตัวหลายอย่างโดยไม่ต้องเรียกร้อง หรือที่เรียกกันว่า “สิทธิมนุษยชน” เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิศรี เช่นมีอิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค ฯลฯ และในวันนี้ สิทธิใหม่ที่มนุษย์กำลังเริ่มเรียกร้องคือ สิทธิในการเลือกตายอย่างมีศักดิ์ศรี...

 

               ล่าสุด “ดร.เดวิด กูดดัล” คุณปู่ออสเตรเลียอายุ 104 ปี ออกมาเรียกร้องสิทธินี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ เพราะอยากจบชีวิตตัวเองโดยไม่ต้องรอเจ็บป่วยจนหมอรักษาไม่ไหวคุณปู่รายนี้มีปูมหลังไม่ธรรมดา เป็นถึงนักวิทยาศาสตร์อายุมากกว่าร้อยปี ยังพูดรู้เรื่องเดินทางไปประเทศต่างๆ ร่ำลาเยี่ยมเยียนลูกหลานญาติพี่น้องอย่างมีความสุข

 

               คุณปู่รู้สึกผิดหวังที่ประเทศออสเตรเลียล้าหลังไม่ให้สิทธินี้แก่ตัวเอง เลยไปขอจบชีวิตที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 วันสุดท้ายก่อนขอลาโลกนี้ไป คุณปู่เดวิด จัดแถลงข่าวขอบคุณสวิตเซอร์แลนด์ที่ช่วยให้เขาได้ปิดฉากชีวิตอย่างสวยงามพร้อมหวังว่าเรื่องราวของตัวเองจะทำให้รัฐบาลออสเตรเลียและคนทั่วโลกเปิดใจยอมรับและเคารพ “สิทธิในการขอตาย” หรือ “การุณยฆาต” เหมือนสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ พร้อมคำพูดสุดท้ายว่า

 

               “ผมดีใจที่มีโอกาสตาย แต่อยากได้โอกาสนั้นในออสเตรเลียมากกว่า”

 

               ปัจจุบันมีเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โคลอมเบีย ที่อนุญาตให้ทำ “การุณยฆาต” หรือให้สิทธิการตายสำหรับคนทั่วไปแต่ประเทศส่วนใหญ่จะให้สิทธินี้กับคนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรืออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น หากป่วยเป็นมนุษย์ผักหรือต้องอยู่ในห้องไอซียูใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยให้หายใจไปเรื่อยๆ

 

 

               “การุณยฆาต” หมายถึงการขอจบชีวิตอย่างดีและสงบด้วยตัวเอง ภาษาอังกฤษกลุ่มแพทย์เรียกว่า “ยูธานาเซีย” (Euthanasia) แต่ถ้าคนทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า “เมอซี่ คิลลิ่ง” (Mercy Killing) 

 

               ส่วนเรื่อง สิทธิการตายแบบปฏิเสธการรักษายื้อชีวิต (Living will) ตอนนี้สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือคนที่ตกอยู่ในสภาพเจ็บปวดทรมานอย่างแสนสาหัสจากโรคต่างๆ ถ้าคนไข้แสดงเจตจำนงหรือความต้องการทิ้งไว้ หรือที่เรียกว่า “การเขียนพินัยกรรมชีวิต” ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากนัก นอกจากแพทย์บางกลุ่มที่ยังรู้สึกว่าต้องรักษาจนสุดความสามารถ ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดจรรยาบรรณแพทย์

 

 

"สิทธิขอตาย" วิธีเขียนพินัยกรรมให้หมอ "ไม่ยื้อชีวิต"

 

 

               สำหรับประเทศไทยนับว่าก้าวหน้าพอสมควรเพราะมีกฎหมายอนุญาตให้ “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” หรือผู้ป่วยโรคร้ายแรงหรือบาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สามารถทำ “พินัยกรรมชีวิต” หรือ “หนังสือแสดงสิทธิปฏิเสธการรักษา” ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่ระบุว่า

 

               บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือเพื่อแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

 

               “พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน” ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในผู้ร่างข้อกฎหมายนี้ อธิบายให้ฟังว่า กรณีคุณปู่เดวิดถือเป็นการขอทำการุณยฆาตตามความหมายของ “ยูธานาเซีย” ซึ่งคนธรรมดาที่ไม่ป่วยทำได้คล้ายๆ กับสิทธิขอตายเอง โดยหมอจะช่วยด้วยวิธีให้ยามาฉีดยาเอง ยาตัวนี้มีฤทธิให้หลับสบายแล้วค่อยๆ หมดสติ สิ้นลมหายใจไป

 

 

"สิทธิขอตาย" วิธีเขียนพินัยกรรมให้หมอ "ไม่ยื้อชีวิต"

 

 

               “หมอจะไม่ฉีดให้ ผู้ป่วยต้องเอาไปฉีดเอง เพราะไม่งั้นอาจโดนข้อหาสนับสนุนการฆ่าตัวตาย เพราะที่ต่างประเทศการฆ่าตัวตายถ้าไม่สำเร็จ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพราะศาสนาของเขาห้ามไม่ให้ฆ่าตัวตาย ส่วนของประเทศไทยการฆ่าตัวตายถ้าไม่สำเร็จคนที่ทำก็ไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย เช่น กินยาฆ่าตัวตาย ถ้าส่งโรงพยาบาลทัน หมอก็ล้างท้องให้ เสร็จแล้วกลับบ้านได้ การทำการุณยฆาตหรือขอตายแบบนี้ กฎหมายไทยปัจจุบันยังไม่อนุญาต”

 

               พิสิษฐ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าสำหรับการใช้สิทธิขอจบชีวิตตามมาตรา 12 นั้น ต้องเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ในอเมริกามีมานานกว่า 40 ปีแล้ว รวมถึงในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธินี้ เพราะถือเป็นการแสดงเจตจำนงให้หมอรู้ว่าคนไข้ไม่ขอรับการรักษาที่ยืดการตาย หรือยื้อชีวิตที่ไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้ เช่น ขอให้หมอไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ต้องใส่สายยางให้อาหาร และการทำ “พินัยกรรมชีวิต” เอาไว้ล่วงหน้าจะทำให้ญาติกับหมอไม่ต้องลำบากใจว่าจะยืดเยื้อการรักษาไปนานแค่ไหน

 

               ที่ผ่านมาก่อนมีกฎหมายนี้ บางครั้งทั้งหมอและญาติรู้สึกถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ หรือกลัวว่าวิธีปล่อยให้ตายตามธรรมชาติขัดต่อจริยธรรมทางการแพทย์ การมีกฎหมายระบุไว้ทำให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก่อนคนป่วยหลายคนก็ทำพินัยกรรรมชีวิตไว้ ส่วนมากเป็นปากเปล่า แต่ตอนนี้เขียนเป็นตัวอักษรหรือหนังสือแสดงเจตจำนงไว้ได้เลย และวิธีการเขียนก็ไม่ได้มีแบบฟอร์มบังคับ เพียงแต่ขอให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยต้องการรักษาแบบไม่ยืดเยื้อ หมอไม่ต้องพยายามต่อลมหายใจ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ารักษาไม่หาย”

 

               ย้อนไปปี 2558 มีแพทย์คนไทยกลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาล เพราะไม่เห็นด้วยกับมาตรา 12 เสมือนขัดต่อจรรยาบรรณของแพทย์ เป็นการห้ามแพทย์หยุดรักษาผู้ป่วยแต่ “ศาลปกครองสูงสุด” มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” เพราะถือว่ากระบวนการร่างกฎหมายถูกต้องและสอดคล้องตามมาตรา38ของรัฐธรรมนูญปี50ที่ให้สิทธิผู้ป่วยในเรื่องนี้และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศของแพทยสมาคมโลก

 

 

"สิทธิขอตาย" วิธีเขียนพินัยกรรมให้หมอ "ไม่ยื้อชีวิต"

 

 

                 ตามหลักการสากลถือว่า การปล่อยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ใช้ “สิทธิขอตาย” นั้น คือการ ยอมรับการตายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์มายืดความตายให้ช้าลง เพราะยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเจ็บปวดทรมานทางกายและจิตใจ ทั้งตัวผู้ป่วยและญาติ “การขอหยุดการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์” เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

 

               สำหรับวิธีเขียนพินัยกรรมชีวิต หรือ “หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข” นั้น ของเพียงผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนแจ้งหมอเป็นคำพูดที่ชัดเจน หรือเขียนข้อความในกระดาษว่า “ขอปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต”แล้วเซ็นชื่อกำกับไว้ ก็ถือว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์จะมีพยานรับรู้หรือไม่มีก็ได้

 

               แต่ถ้าใครยังไม่ป่วยแต่อยากทำเผื่อไว้ในอนาคตก็ทำได้ง่าย เพียงเขียนข้อความด้วยลายมือตัวเองในกระดาษว่า “ขอปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต” แล้วถ่ายสำเนาพกติดตัวไว้ แล้วเอาตัวจริงฝากไว้ที่ญาติหรือฝากไว้ที่ฝ่ายเวชระเบียน กรณีที่มีโรงพยาบาลรักษาประจำหากเกิดอุบัติเหตุหรือป่วยขั้นสุดท้ายที่หมอวินิจฉัยว่าร้ายแรงไม่สามารถรักษาได้ ก็จะได้ไม่ต้องพยายามรักษาให้ยืดเยื้อถือว่าช่วยญาติให้ประหยัดค่ารักษาและไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะรักษาให้ถึงที่สุดแบบไหนดี

 

               “สิทธิขอตาย”.... ถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน ที่มนุษย์มีสิทธิเลือกจะไม่ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ต่อต้านวิถีของธรรมชาติ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”

 

               ตอนนี้มีผู้คนจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลมอบสิทธินี้ให้ “คนธรรมดา” ที่ไม่ได้ป่วย เพราะเชื่อว่าชีวิตควรกำหนดได้ด้วยตัวเองหากไม่อยากมีชีวิตอยู่ก็ไม่ต้องอดทนรอจนถึงวันตายตามธรรมชาติ...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ