Lifestyle

ทวงถามรัฐบาลข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 60 ไม่คืบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คสรท-สรส."ร่วมยื่นหนังสือทวงถามรัฐบาล"บิ๊กตู่"ข้อเรียกร้อง วันกรรมกรสากล ปี 60 ไม่คืบ!! ระบุ 1พ.ค.61วันกรรมกรสากลเตรียมรณรงค์ติดตามข้อเรียกร้องเดิม

 

         นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. และ เลขาธิการ สรส. นำภาคีแรงงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จำนวนประมาณ กว่า 100 คน

 

       

        เดินทางเข้ายื่นหนังสือ เพื่อติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลปี 2560 ที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ถ.พิษณุโลก ทำเนียบรัฐบาล  เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 โดยประธาน คสรท. และ เลขาธิการ สรส. ได้กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องเดิม ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของคนงาน และขบวนการแรงงาน

 

        แม้ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบการดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นไปในปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระที่ตอบมาเป็นแบบกว้างๆ ตามภาระกิจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการตามนโยบาย หรือกรอบการทำงานของหน่วยงานเท่านั้น ไม่ได้เป็นการดำเนินการตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด

 

        ไม่มีระยะเวลาชี้ชัดว่าจะดำเนินการ เมื่อใด ความคืบหน้าในการทำงานไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องแต่อย่างใด ทั้งที่สถานการณ์ต่างๆของโลกได้เปลี่ยนไป แต่ยังพบว่าสถานการณ์การขดขี่ การเอารัดเอาเปรียบไม่ได้ลดทอนลงเลย ยิ่งนับวันจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากมองปัญหาให้ลึกลงไป

 

        ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เราจะพบเห็นความเหลื่อมล้ำ คนจนยิ่งจนลง คนรวยยิ่งรวยขึ้น เกิดเป็นช่องว่างที่ถ่างกว้างมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน

 

        สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 เพื่อให้แก้ไขปัญหามีดังนี้ 1. รับต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

       1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

      2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว 2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี


      3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48

 

        4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้

 

          4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

 

         5.รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้ 6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

 

         6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน

       

         6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย 6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558    6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

       

       7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

       

      8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

     

       9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

   

        10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

   

      ส่วนในวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม 2561  ทาง คสรท.และสรส. ระบุว่าจะไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่จะมีการจัดงานเดินขบวนรณรงค์เพื่อติดตามข้อเรียกร้องในปี2561ที่ผ่านมา เพราะมองว่าข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข

 

      โดยการเข้าร่วมเดินขบวนรณรงค์ในครั้งนี้ จะเริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ให้รัฐบาลได้เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้อง หวังเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน

---***---

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ