Lifestyle

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”ครูเพียงคนเดียวในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านกรูโบ กับบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ก่อนสิ้นลมหายใจ...ติดตามกับ"คมชัดลึกออนไลน์"

************

            ​“การสอนเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และครูต้องไม่เปิดช่องให้เด็กได้ทำผิด ถ้าเปิดช่องให้เด็กทำผิดได้ นั่นเป็นความผิดของครูที่ดูแลเด็กไม่ดีพอ”

​                บทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ของครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ครูรางวัล “คุณากร” ประจำปี 2560 จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ก่อนสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2561 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว และเจ็บป่วยจากโรคต่อมน้ำเหลืองอุดตันที่รักษามานาน แต่ยังคงยืนหยัดเป็นครูในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

            20 ปี ของการเป็นครูเพียงคนเดียวในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านกรูโบ ที่ครูเจี๊ยบทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับสอนหนังสือให้กับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เพียงลำพังในชุมชนกระเหรี่ยงหมู่บ้านสุดท้ายที่อยู่ลึกที่สุดในเขตพื้นที่ของผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร

​             “ทุกวันนี้ถ้าเป็นหน้าฝนต้องใช้เวลาเดินทางออกไป 3 วันกว่าจะถึงถนนดำ แรกๆ ที่มาอยู่ ต้องทำทุกอย่างทั้งครูสอนหนังสือ และเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจเชื้อมาลาเรีย วัดความดัน จ่ายยาให้กับชาวบ้าน จนกระทั่งเริ่มมีสุขศาลาขึ้นในพื้นที่เมื่อสัก 5-6 ปีมานี่เอง” ครูเจี๊ยบเล่า

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

​             การใช้ชีวิตเพียงลำพังในป่าลึกกับการทำหน้าที่ “ครู” ที่ไม่ได้หยุดแค่การสอนหนังสือและมอบวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ แต่ “ครูเจี๊ยบ” ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งการสร้างงานสร้างอาชีพจากฝีมือการทอผ้าที่สวยงามของชาวกะเหรี่ยง การหาหนทางเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เช่นการแปรรูปพริกแห้งให้มีราคาที่ดีขึ้นฯลฯ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เด็กๆ รักและหวงแหนผืนแผ่นดินบ้านเกิด รักแผ่นดินไทย ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากแรงกายแรงใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวที่มีหัวใจเด็ดเดี่ยวเต็มไปด้วยความเสียสละและความอุตสาหะ เพราะคำมั่นสัญญาว่าจะดูแลและไม่ละทิ้งเด็กภูเขาชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

            “ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลอย่างที่บ้านกรูโบจะมองว่าครูเป็นตัวแทนของในหลวง ดังนั้นหากความเหน็ดเหนื่อยของตนเองเพียง 1 คน สามารถทำให้คนอีกหลายๆ คนได้รับโอกาสและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เป็นสิ่งสมควรทำเพื่อประเทศชาติ เปรียบเสมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสียสละ ทรงงานหนักเพื่อคนไทยอีก 60 ล้านคน ได้อยู่ดีมีสุข ทอผ้า เลี้ยงหมู ปลูกผักปลอดสาร ธนาคารข้าว ปลูกป่าสร้างรายได้ ทำทั้งหมด ทำยังไงก็ได้ให้ชาวบ้านเขาอยู่ได้โดยไม่ต้องไปบุกรุกป่า ในโรงเรียนก็มีแปลงตัวอย่างให้เด็กๆ ได้หัดปลูกผัก

           ถามว่าเหนื่อยกว่าเดิมไหม ไม่ได้คิดถึงตรงนั้น อะไรที่มันเป็นประโยชน์ทำทุกอย่าง คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของคนในชุมชนและเด็กๆ ไว้ก่อน ดังคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าเมื่อทำงานอย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง แต่ให้ทำบนความขาดแคลนให้ดีที่สุด นี่คือหลักคิดที่ครูยืดถือและปฏิบัติตามมาโดยตลอด” ครูเจี๊ยบเล่าถึงงานที่ทำนอกเหนือไปจากการสอนหนังสือเด็กๆ กว่า 57 คน

 

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

​            แม้ว่า “บ้านกรูโบ” จะเป็นชุมชนสุดท้ายที่ลึกและห่างไกลจากอำเภออุ้มผางมากที่สุด ด้วยรถยนต์ทั้งทางดำและทางฝุ่นรวมกันมากกว่า 90 กิโลเมตร และห่างไกลชนิดที่เรียกว่าหลายคนไม่เคยได้ออกไปไกลจนถึงอำเภออุ้มผาง และตัวจังหวัดตากหลายคนยังอาจไม่เคยเห็น ไกลจนชนิดที่เรียกว่าการศึกษาอาจไม่จำเป็นสำหรับพวกเขาเสียด้วยซ้ำ แต่ “ครูเจี๊ยบ” ก็ยังมุ่งมั่นที่จะพยายามหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษา และผลักดันให้ลูกศิษย์ทุกคนได้ออกไปเปิดโลกกว้างทางการเรียนรู้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยทุกวิถีทางที่จะทำได้

 

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

​           “เด็กๆ ที่นี่เราไม่เน้นเรื่องความเก่ง แต่เราเน้นเรื่องของการเป็นคนดี เพราะวันนี้ในการจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตรเรามักจะไม่ไม่เน้นคน ดี เน้นแต่คนเก่ง แม้ว่าความเก่งจะใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ถ้าเก่งแล้วไม่ดีหรือเก่งแล้วโกงจะมีประโยชน์อะไร แต่สิ่งที่สำคัญคือเขาต้องรู้ตัวเองว่าเขาเป็นคนไทยไม่ใช่กะเหรี่ยง กระเหรี่ยงมันเป็นแค่เชื้อชาติเฉยๆ แต่ทุกคนเป็นคนไทย และความรู้ที่เขาได้รับถ้าเกิดเขาไม่เรียนต่อเขาก็จะอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกใครมาหลอกลวง เพราะคนที่มีความรู้เขาจะไม่ถูกหลอก”

     ​        ส่วนการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก 60 คนซึ่งมีตั้งชั้นอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ครูเพียงคนเดียวจะทำได้ โดย “ครูเจี๊ยบ” เล่าให้ฟังว่าต้องใช้วิธีพี่ดูแลน้อง แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่คนในการดูแลส่วนต่างๆ ของโรงเรียน ในการสอนก็จะให้พี่ชั้น ป.6 ช่วยดูแลน้องอนุบาลในเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งการจับมือหัดเขียนหัดอ่าน ในบางวิชานั้นก็จะใช้วิธีการเรียนรวมกัน เช่นวิทยาศาสตร์ก็จะใช้ใบงานให้พี่พาน้องไปทำงาน ออกไปค้นหาคำตอบต่างๆ นอกห้องเรียน ที่นอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ยังช่วยสร้างความรักสามัคคีเกิดขึ้นกับลูกๆ ของ “ครูเจี๊ยบ” ทุกคนในโรงเรียนแห่งนี้

 

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

             “ทุกวันนี้จะสอนให้เด็กรักพ่อรักแม่ รักครอบครัว รักเพื่อนพี่น้อง รักชุมชน รู้จักความรับผิดชอบ ดูแลพ่อแม่และครอบครัวตัวเองได้ ไม่เน้นความเก่ง พยายามปลูกฝังให้ลูกศิษย์รักชุมชนของตนเอง เมื่อเขาเรียนจบเขาจะรักบ้านเกิดไม่ทิ้งถิ่นของตนเอง” ครูเจี๊ยบอธิบายถึงจุดมุ่งหมายในการสอนเด็กๆ

​              นางสาวพรรณิภา บำเพ็ญรุ่งโรจน์ ศิษย์เก่าที่เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกลับมาเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหม่องกั๊วะ เล่าถึงโอกาสและแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก“แม่เจี๊ยบ”ว่า โตขึ้นมาก็เห็นว่าแม่อยู่กับเด็กๆ และชาวบ้านทุกคนมาตลอด และกว่าที่จะเรียนจบได้ทั้งแม่และหนูต้องร้องไห้กันหลายครั้งเพราะไม่มีเงิน ถึงแม้จะได้รับทุนการศึกษาแต่ก็ไม่เพียงพอ แม่เจี๊ยบต้องไปยืมเงินเพื่อนมาช่วยส่งให้หนูเรียนจนจบ และในระหว่างเรียนหนังสือ แม่จะคอยบอกเสมอว่าถ้าได้ดีแล้วให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา สำหรับแม่เจี๊ยบแล้วประทับใจทุกเรื่องทั้งเรื่องของความเสียสละ แข็งแกร่ง อดทน และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากกลับมาเป็นครูเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน

           ครูเจี๊ยบ ให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายถึงบทบาทของความเป็นครูผู้ดูแลเด็กเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลว่า “สิ่งสำคัญของอาชีพครูคือต้องมีหัวใจของความเป็นครู ต้องมีความตั้งใจ มีศีลธรรมและคุณธรรมมากกว่าการหารายได้จากเด็ก”

 

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

           สำหรับการพัฒนาศักยภาพของครูในพื้นที่ห่างไกลตามร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครูเจี๊ยบ มองว่า ครูในพื้นที่ห่างไกลมีสื่อการสอนน้อย หนังสือน้อย หาตัวอย่างมาใช้อธิบายให้เด็กยาก จึงต้องขอรับงบประมาณสนับสนุนซื้อสื่อการสอนจากภายนอก ครูต้องคอยค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อให้เด็กได้เข้าใจ เช่น การสอนเรื่องอาชีพ ซึ่งเด็กคุ้นเคยกับการทำไร่ทำสวนของพ่อแม่ ก็พยายามให้เขาเห็นช่องทางใหม่ๆ ให้ลองปลูกผัก เลี้ยงหมู เพื่อให้เด็กทำได้ ซึ่งการทำงานในพื้นที่ห่างไกลมองเห็นความสำเร็จยาก เช่น การสนับสนุนให้ชุมชนมีอาชีพแต่ติดเรื่องการขนส่ง ครูก็ต้องฝึกคนในชุมชนให้เป็นตัวแทนในการขนส่ง ต้องช่วยคิดจนสุดทาง

              นอกจากนี้การฝึกเรื่องการบริหารจัดการนักเรียนและการสอนเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ครูต้องไม่เปิดช่องให้เด็กได้ทำผิด ถ้าเปิดช่องให้เด็กทำผิดได้ นั่นเป็นความผิดของครูที่ดูแลเด็กไม่ดีพอ การฝึกคนครูจะเน้นเรื่องระเบียบวินัยและความซื่อสัตย์ 40% เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นคน จากนั้นจะสอนวิชาการ 30% และการเล่น 30%

 

 

อาลัยแด่ครู“นฤมล แก้วสัมฤทธิ์”

             วันนี้ “ครูนฤมล แก้วสัมฤทธิ์” ได้ลาจากไปด้วยวัย 53 ปี กับระยะเวลายาวนานที่ทำงานให้กับเด็กๆ และชุมชนกลางผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ ซึ่งอุดมการณ์ของความเป็นครูที่ยึดมั่นทุ่มเทไม่เคยจางหายไปจากใจของคนบ้านกรูโบ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ