Lifestyle

14ปีบ้านพิราบขาว“เด็กไทย"ท่ามกลางไฟใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

14ปีบ้านพิราบขาว “เด็ก-เยาวชน”ลูกหลานไทย ในความไม่สงบชายแดนใต้ ยังน่าเป็นห่วงอนาคตเพราะยังมีเด็กเด็กป.2-ป.3 ออกจากร.ร. ติดตามชีวิตพวกเขากับ"คมชัดลึกออนไลน์ "

       *********************************

     “จาก 14 ปีที่ผ่านมา ถึง ณ วันนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโดยเฉพาะต่อสถาบันครอบครัว เด็กและเยาวชน”

      คำบอกเล่าจาก บาเรน-อับราน มอสู รองประธานบ้านพิราบขาวเครือข่ายเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับกลุ่มเด็กเปราะบางและเด็กนอกระบบเพื่อสร้างคุณค่า สอนจิตอาสาและปรับทัศนคติ

         โดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้   เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้พวกเขา ร่วมกับผู้ใหญ่ในพื้นที่  และเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนและดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนกลุ่มภาวะเปราะบาง ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

            อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจและย้ำให้ชัดก่อนว่า ปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจำนวนเด็กนอกระบบเพิ่มมากขึ้น

           เพราะความทับซ้อนเชิงมิติของปัญหาเด็กเปราะบางในพื้นที่แห่งนี้ ประกอบไปด้วยหลากหลายเหตุผลเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เด็กหลุดนอกระบบหนึ่งคนจะพกพาปัญหามากกว่าหนึ่งอย่างไปกับเขาด้วย เช่น ความยากจนหรือความรุนแรงในครอบครัว

            แต่ที่แตกต่างกว่าเด็กเปราะบางในพื้นที่อื่น คือ ระบบการศึกษาสามัญ ด้วยหลักศาสนาที่แตกต่างส่งผลให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก ทั้งจากครอบครัวพวกเขาเองที่เน้นไปที่ระบบการศึกษาตามหลักศาสนาและจากภาครัฐเองที่เหมารวมให้เด็กที่เรียนโรงเรียนศาสนาเท่ากับเด็กนอกระบบ

             เส้นทางที่เด็กกลุ่มดังกล่าวจะเลือกเดินจึงเหลือไม่กี่ทาง บางคนต้องใช้แรงงานแลกเงินเพื่อปากท้องของตัวเองและครอบครัวตั้งแต่ยังเด็ก บ้างต้องละทิ้งบ้านเกิดไปเป็นแรงงานที่อื่นแทน ต้องใช้ชีวิตแบบวัฏจักรดังกล่าวไม่จบไม่สิ้น รุ่นต่อรุ่น จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญที่บ้านพิราบขาวต้องขับเคลื่อน และต้องไปให้ไกลกว่าการเยียวยาคือ การปลูกฝังและเปลี่ยนค่านิยมของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

 

14ปีบ้านพิราบขาว“เด็กไทย"ท่ามกลางไฟใต้ "บาเรน" อับราน  มอสู

            อย่างเช่น ชุมชนบ้านบางมะรวด อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ที่ครั้งหนึ่งเคยเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างรุนแรง แต่หลังจากได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุน โดยเฉพาะองค์ความรู้ต่างๆ จากบ้านพิราบขาว พวกเขาก็สามารถพัฒนาเป็นชุมชนเข้มแข็งจัดการกับปัญหาเด็กและเยาวชนด้วยตนเองได้ในที่สุด ด้วยแนวคิดที่ว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม

        +ต้นสาย ปลายเหตุ

       จากโครงการการศึกษาสภาวการณ์และแนวทางการพัฒนาเด็กนอกระบบจาก 45 หมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางพื้นที่ในสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่บ้านพิราบขาวได้วิจัยร่วมกับสถาบันรามจิตติ และค้นพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมิติความหลากหลายและการทับซ้อนกันของปัญหาสูง ส่งผลให้อำนาจทางการเมือง นโยบายและแนวทางของรัฐบางอย่างได้กลายเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่เข้าไปกดทับชุมชนอย่างไม่ได้ตั้งใจจนเกิดรอยร้าว

         จากความไม่มั่นคงที่ครอบงำหลายพื้นที่ เมื่อปากท้องเป็นเรื่องสำคัญแต่บ้านเกิดพวกเขาไม่สามารถทำมาหากินได้ หลายคนตัดสินใจมุ่งหน้าย้ายถิ่นฐานมองหาพื้นที่ใหม่เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว บางคนจำต้องทิ้งครอบครัวย้ายไปทำงานในต่างประเทศหรือกรุงเทพฯ เพื่อเข้าสู่วงจรชีวิตมนุษย์แรงงานเหมือนคนเมืองทั่วไป

           ตามมาด้วยภาวะที่ครอบครัวส่วนใหญ่ขาดความพร้อมในการดูแลและส่งเสริมเด็กและเยาวชน ผู้ปกครองไม่เห็นถึงความจำเป็นของการศึกษาสามัญ เน้นการหารายได้มากกว่า ส่งผลให้เด็กบางคนต้องหลุดออกจากระบบกลางคัน และบางคนอาจหันไปหาเพื่อนที่ชื่อยาเสพติด โดยเฉพาะกระท่อมและสี่คูณร้อย

             “เด็กนอกระบบสำหรับบ้านพิราบขาวไม่ใช่แค่หลุดออกจากการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มีความเปราะบางทางด้านสังคมรวมอยู่ด้วย เด็กที่ไม่ได้เรียน เด็กที่เรียนปอเนาะ เด็กที่เรียน กศน. หรือเด็กที่ไม่มีความพร้อมและไม่ได้รับโอกาสทางสังคม” อับรานกล่าว

          อับราน  เล่าต่อว่า เด็กแทบทุกช่วงอายุสามารถหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ แต่ที่มากที่สุดคือช่วงประถมศึกษาปี 6 หรืออายุ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างประถมและมัธยมพอดี และหากหลุดแล้วมีโอกาสน้อยมากที่พวกเขาจะได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง

           “ปัญหาของเด็กนอกระบบมีหลากหลายประเด็นและถูกสะสมกดทับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องแยกเป็นประเด็นๆ ไปถึงจะเห็นชัด การที่เด็กหลุดจากการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สงบในพื้นที่ การไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

            อำนาจของสถาบันการเมืองยังส่งผลต่อเนื่องมายังสถาบันครอบครัวและขยับมาอีกขั้นคือศาสนา เกิดความหวาดระแวงทั้งชุมชนพุทธ จีน และมุสลิม ส่งผลให้ปัจจุบันคือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างมองกันด้วยสายตาหวาดระแวงและไม่เป็นมิตร จนต้องสานความสัมพันธ์ร่วมกันใหม่อีกครั้ง” อับรานอธิบาย

             เช่นเดียวกับที่ชุมชนบ้านบางมะรวด อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี หนึ่งในพื้นที่ที่บ้านพิราบขาวเข้ามาทำวิจัยและดูแล

 

14ปีบ้านพิราบขาว“เด็กไทย"ท่ามกลางไฟใต้

"มัง" สาหะซูไลมัน  อันอดับ 

           มัง-สาหะซูไลมัน อันอตับ  ประธานพิราบขาวจูเนียร์และประธานกลุ่มบ้านรักษ์กะลา ชุมชนบ้านบางมะรวด อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังถึงบริบทชุมชนที่นี่ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและทำประมงกันเป็นหลัก ความยากจนสูงส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จน  ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากนอกระบบการศึกษา

           "เด็กบางคนหลุดตั้งแต่ ป. 2-3 ก็มี และเมื่อหลุดออกนอกระบบแล้ว หนทางจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสามัญแทบจะเป็นไปได้น้อยมาก ส่งผลให้พวกเขาจำเป็นต้องประกอบอาชีพแรงงานพื้นฐานทั่วไป วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น" สาหะซูไลมัน ฉายภาพ

          อย่างไรก็ตาม สาหะซูไลมันชี้ว่า บริบทรูปแบบนี้ไม่ได้เป็นเพียงชุมชนบ้านบางมะรวดที่เดียว แต่เป็นทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

              และนั่น... กลายเป็นเป้าหมายและความฝันสูงสุดของบ้านพิราบขาวที่ต้องการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้มีพื้นที่ในสังคมพร้อมกับปลูกฝังให้พวกเขารู้รักบ้านเกิดและประกอบอาชีพในที่แห่งนี้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งได้อีกครั้ง

           + บ้านพิราบขาว: สร้างสันติสุขแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง

          เมื่อมิติของปัญหามีหลากหลายทั้งยังมีความทับซ้อนสูง เครื่องมือแรกที่บ้านพิราบขาวทำเพื่อออกแบบการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากที่สุดคือ การจำแนกแต่ละพื้นที่ออกเป็นสามสี ได้แก่ สีแดงหมายถึงพื้นที่ที่ชุมชนมีความเปราะบางในประเด็นเด็กและเยาวชนสูง สีเหลืองคือพื้นที่ชุมชนพอดูแลเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ และสุดท้ายสีเขียวหมายถึง ชุมชนเข้มแข็ง ภาพรวมมีปัญหาไม่มาก

            แต่หากเด็กหลุดออกจากระบบไปแล้วล่ะ พวกเขาจะทำอย่างไรที่จะดึงให้เด็กกลับมาหาชุมชนอีกครั้ง อับรานตอบว่า การสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน ตั้งแต่เด็ก ครอบครัว และผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อให้พวกเขากลับมาเดินอยู่ในลู่ที่ถูกต้องตามหลักสังคมอีกครั้ง เป็นสิ่งที่ทุกคนในชุมชนต้องร่วมมือกัน

           โดยเฉพาะกับสถาบันครอบครัวของกลุ่มดังกล่าว เพราะถือเป็นกลไกสำคัญที่จะคอยปลูกฝังหลักการทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมในการขัดเกลาให้เด็กปฏิบัติในสิ่งที่ดี การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว หรือการมีกระบวนการชุมชนในการถ่ายทอดทักษะการเลี้ยงดูบุตรจากคนรุ่นก่อน เพื่อเสริมพลังครอบครัวคือ พลังภูมิคุ้มกันสำคัญในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากพฤติกรรมเสี่ยง

           บ้านพิราบขาวจึงเป็นเหมือนคนกลางคอยเชื่อมประสานรอยร้าวในชุมชน แต่หลักสำคัญในการดำเนินการทั้งหมดคือ การพูดคุย ซึ่งอับรานมองว่าเป็นหัวใจของการแก้ไขทุกปัญหา

            “เรานำหลักศาสนามาใช้ กระบวนการเชิงสมานฉันท์ การประชุมเพื่อหาข้อยุติ ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจใหม่เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะการมีเวทีร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จะทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้ถูกกดทับจากผู้ใหญ่จริงๆ เป็นการปรับความเข้าใจกัน” อับราน กล่าว

           พร้อมกันนั้นยังสร้าง กระบวนการสี่เสาหลักในแต่ละชุมชน ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและผู้นำเยาวชน เพื่อเป็นกลไกหลักสำหรับการแก้ไขปัญหาและเข้าไปใกล้ชิดกับสภาพปัญหาและตัวเด็กมากที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็นการเรียนรู้ระหว่างกัน

            โดยสี่เสาของแต่ละชุมชมนั้นจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีบ้านพิราบขาวเป็นตัวกลาง

            อับราน  มองว่า พวกเขาทำหน้าที่เหมือนเป็นกระบอกเสียงในการส่งต่อความคิดหรือเล่าถึงปัญหาให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง สสส. เข้ามามีบทบาทหนุนเสริมการทำงานของบ้านพิราบขาวตั้งแต่แรกเริ่มที่พวกเขาก่อตั้งองค์กร จากองค์ความรู้ไปถึงด้านงบประมาณ

            ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อับรานเสนอว่า ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ความรู้ และแนวทางการปฏิบัติตนตลอดจนความรู้เรื่องการดูแลลูกหลาน เช่น ให้มีการคุตะเบาะห์ (บรรยายหลังละหมาด) หรือเวทีประชาคม ซึ่งเป็นกระบวนการสื่อสารให้ความรู้ชุมชนที่เหมาะสมที่สุด

           “เมื่อผู้ใหญ่ในชุมชนต้องการเขา เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้รับการยอมรับ การพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบในพื้นที่ ไม่ได้ยากถ้าเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา ผู้นำมีพลังมีการทำงานร่วมกัน เปิดโอกาสให้แก่เด็กในหมู่บ้าน เปิดโอกาสให้พื้นที่ในการร่วมกันพัฒนาชุมชน ปักษ์ใต้อาจเกิดสันติสุขอย่างที่เราหวังไว้” อับรานกล่าว

            แต่ที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะทางอาชีพผ่านการถ่ายทอดความรู้ของปราชญ์ชุมชน การส่งเสริมพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน และ กระบวนการส่งเสริมทักษะชีวิตสำหรับเยาวชน ซึ่งทั้งหมดนี้ อับรานย้ำว่า ชุมชนต้องทำด้วยตัวเอง บ้านพิราบขาวมีหน้าที่เพียงเป็นโค้ชคอยแนะนำเท่านั้น

            “บ้านพิราบขาวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการนำเครื่องมือหรือให้ความช่วยเหลือในชุมชน แต่ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นด้วยฝีมือพวกเขาเอง ถ้าต้องการพลังบ้านพิราบขาวยินดีช่วยเหลือเสมอ”

           +บ้านบางมะรวด: จากพื้นที่สีแดง สู่พื้นที่สีเขียว ชุมชนเข้มแข็ง

           ที่ชุมชนบ้านบางมะรวด ผู้นำเยาวชนนำโดยสาหะซูไลมัน อันอตับ ที่พยายามสร้างพื้นที่เชิงกิจกรรมโดยเริ่มจากเปิดบ้านตัวเองเป็นศูนย์หัตถกรรมกะลามะพร้าวที่ชื่อว่า ‘กลุ่มบ้านรักษ์กะลา’ หน้างานเหมือนเป็นสถานที่เพื่อสอนสัมมาอาชีพให้คนในชุมชน แต่เบื้องหลังยังมีแนวคิดที่สำคัญกว่าซ่อนเอาไว้คือ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกจิตอาสา ความรู้สึกรักบ้านเกิดและความภาคภูมิใจในชุมชนไปในตัว

           เขามองว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อป้องกันเด็กจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หากเด็กคนไหนหลุดนอกระบบไปแล้วการทำหัตถกรรมกะลามะพร้าวก็จะเป็นสัมมาอาชีพให้พวกเขาสามารถหาเลี้ยงปากท้องได้ โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่น

 

 

14ปีบ้านพิราบขาว“เด็กไทย"ท่ามกลางไฟใต้

          จาก 15 ปีที่แล้ว ที่บ้านบางมะรวดเคยเป็นพื้นที่สีแดง มีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคง แม้ทุกวันนี้จะไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว แต่อุปสรรคการทำงานของผู้นำเยาวชนในช่วงเริ่มต้นยังคงเป็นสายตาของความหวาดระแวงจากคนในชุมชนที่มองว่าเขาอาจมาปลุกระดม และเพื่อลดความรู้สึกดังกล่าวนั้น สิ่งที่ทำคือ

     “เราต้องไม่ข้ามหัวผู้ใหญ่” สาหะซูไลมัน บอก

        “บางทีเรารวมตัวกลุ่มเด็ก รวมตัวกลุ่มเยาวชน ผู้นำชุมชนคิดว่าเราไปปลุกระดม ซึ่งในทางกลับกันเราก็เชิญเขามาให้เขารับรู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่เราจะขับเคลื่อนไปด้วยกันระหว่างกลุ่มเป้าหมายของเรากับผู้นำหรือคนในชุมชนเอง เพราะเราไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องเป็นเด็กเท่านั้น ต้องเป็นกลุ่มเยาวชน ต้องเป็นเด็กนอกระบบหรือในระบบ จะเป็นใครก็ได้ คนในชุมชนก็ได้” สาหะซูไลมันกล่าว

           ปัจจุบันกลุ่มบ้านรักษ์กะลา   ผลิตออร์เดอร์ป้อนทั้งภาคธุรกิจ เช่น โรงแรม หรือหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด ออร์เดอร์แต่ละครั้งมากถึง 200-300 ชิ้นต่อครั้ง และไม่ได้มีเพียงเด็กและเยาวชนที่เข้ามาแวะเวียนเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนและสี่เสาหลักต่างก็แวะเวียนเข้ามา รวมถึงให้การยอมรับกับกลุ่มดังกล่าว จนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวในที่สุด

           “การพัฒนาชุมชนต้องมีหลายภาคีเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่แกนนำเดียวหรือกลุ่มเป้าหมายแค่อย่างเดียว ต้องไปด้วยกันทั้งชุมชน โดยเฉพาะสี่เสาหลัก ต้องสร้างความรู้และความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็ก ทุกคนต้องพัฒนาไปด้วยกัน ต้องไปในหลายๆ มิติถึงจะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง” สาหะซูไลมัน ให้แง่คิด

-------//--------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ