Lifestyle

"ค่ายรู้รอดปลอดภัย" สร้างทักษะเด็กไทย กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เพิ่มศักยภาพ-ผลักดันทักษะเด็กน้อยกู้ชีพ หวังบรรจุเข้าหลักสูตรการศึกษาเชื่อเด็กสอนง่าย-จำแม่น เปลี่ยนสังคมช่วยคนใกล้ตัว-จิตอาสา

         11 มี.ค.61 - อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สำนักกิจการลูกเสือและกิจการนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ  และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , รพ.รามาธิบดี , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย , สำนักการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กับมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง - มูลนิธิร่วมกตัญญู ร่วมจัดกิจกรรมทบทวนและประเมินผล การเรียนรู้และฝึกทักษะ "ค่ายรู้รอดปลอดภัย" ของโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนารูปแบบสู่ความยั่งยืน โดยมีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 70 คนเข้าร่วมกิจกรรม

         โดย "ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์" นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ต้องการประเมินผลนักเรียนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายรู้รอดปลอดภัยทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาว่าเด็กๆจะสามารถจดจำ หรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่ ซึ่งนักเรียนที่เข้าร่วมอบรมมีทั้งมาจากโรงเรียนคัดเลือกมาและสมัครมาเอง ซึ่งทักษะต่างๆ ที่ได้อบรมมา เช่น ทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี ช่วยอย่างไรเมื่อหมดสติหยุดหายใจ การประเมินความเสี่ยงและอันตราย อุบัติเหตุภายในบ้าน การแจ้งประสานเหตุ อุบัติเหตุทางถนน ภาวะอุดกั้นของทางเดินอาหาร ลมชัก การดามและห้ามเลือด ภัยจากน้ำท่วม เป็นต้น

"ค่ายรู้รอดปลอดภัย" สร้างทักษะเด็กไทย กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน

         "ทักษะการช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน เป็นทักษะที่ต้องมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้ผลการประเมินครั้งนี้แล้ว จะนำไปประกอบเป็นข้อมูลในหนังสือสรุปผลการดำเนินงานจัด 'ค่ายรู้รอดปลอดภัย' เพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบถึงรูปแบบในการฝึกทักษะที่มีความจำเป็นต้องสอน ให้นักเรียนได้รับรู้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กไม่ต้องรอให้โตก่อน ซึ่งกระบวนการอบรมวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ยังเด็กนั้น ทำได้ไม่ยาก และจะทำให้เด็กเหล่านี้มีการจดจำ หากถ้ามีการฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่อง เด็กๆก็จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้กับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างได้" นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ กล่าวย้ำ

           ขณะที่ "คุณหญิงเดือนเพ็ญ พึ่งพระเกียรติ" คณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์ โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีนักเรียนที่ตอบรับเข้าร่วม 70 คน และมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ซึ่งประเทศไทยควรจะสอนทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ต้องรอให้โตก่อนแล้วค่อยสอน การกระจายความรู้ไปสู่เด็กเหมือนกับการเปลี่ยนสังคมสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำวิธีการการฝีกให้ความรู้และทักษะดังกล่าวไปใช้ในวงกว้าง

"ค่ายรู้รอดปลอดภัย" สร้างทักษะเด็กไทย กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน

         ด้าน "นพ.บัณฑิต ศรไพศาล" รอง ผจก.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ทำนายไว้ว่าในปี พ.ศ. 2573 ประชากรโลกจำนวน 23 ล้านคนจะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ  โดย 85 % อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประชากรกลุ่ม วัยแรงงาน สำหรับประเทศไทย มีคนไทยป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ในสัดส่วนที่สูงกว่านานาชาติ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 300,000 กว่ารายในปี ดังนั้น การจัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ของสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯนั้น เป็นการให้ความรู้แก่นักเรียนในระดับต่างๆ ที่สามารถดูแลทั้งตนเองและผู้อื่นได้ รวมทั้งยังมีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นด้วย

        "ที่ผ่านมาทักษะการช่วยเหลือชีวิตของไทยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรในวิชาลูกเสือและเนตรนารี ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน ควรมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งในอนาคตทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจะถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ในวัยเด็กและต่อเนื่องไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหวังว่า การดำเนินการที่ดีนี้ จะส่งผลให้เด็กไทยสามารถเติบโตเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ตลอดจนหากประสบเหตุก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ อันจะเป็นผลช่วยลดอัตราการตายและความพิการของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง" นพ.บัณฑิต ระบุ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ