Lifestyle

วิจัย"ผมบางศีรษะล้าน"คว้ารางวัลระดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รศ.(พิเศษ)พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป" แพทย์ไทย คว้ารางวัลบทความวิจัย "ผมบางศีรษะล้าน"ในเวทีระดับโลก

 

        เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ในการจัดส่งบทความพิเศษ เพื่อการนำเสนองานวิจัย (ประเภทโปสเตอร์) ในหัวข้อวิจัย“Proteomic Analysis in Dermal Papilla from Male Androgenetic Alopecia After Treatment with Low Level Laser Therapy”

          โดย รศ.(พิเศษ)พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และตัวแทนของแพทย์จากประเทศไทย เข้าร่วมส่งผลงานวิจัยในงานISHRS Poster Awards 2017 (International Society of Hair Restoration Surgery(ISHRS) หรือสมาคมศัลยกรรมปลูกผมนานาชาติ ซึ่งเป็นสมาคมด้านการแพทย์ระหว่างประเทศแห่งแรกในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและการศึกษาสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการผ่าตัดฟื้นฟูเส้นผม

          โดยจะมีการจัดงานประชุมทางวิชาการขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการปลูกผมให้เกิดประโยชน์กับคนไข้สูงสุด) ซึ่งในปีนี้แพทย์ไทยสามารถคว้ารางวัลที่1ในประเภทงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบของโปสเตอร์ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในเอเชีย ในการยืนยันประสิทธิภาพของกระบวนการยิงด้วยเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ เพื่อขจัดปัญหาโรคผมร่วงที่เกิดจากพันธุกรรม

          รศ.(พิเศษ) พญ.รัชต์ธร  ปัญจประทีป แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับ"คมชัดลึกออนไลน์"ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาวิธีในการรักษาโรคผมบางศีรษะล้านที่เกิดจากพันธุกรรม(Androgenetic alopecia, AGA)ซึ่งปกติแพทย์จะใช้2วิธีในการรักษา คือ การให้ยากิน หรือยาทา แต่วิธีใหม่ล่าสุดที่ได้นำเข้ามาใช้คือLow Level Laser Therapy(LLLT) หรือการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำในการกระตุ้นให้หนังศีรษะสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีการเริ่มใช้มานานแล้ว แต่ในต่างประเทศเพิ่งจะได้ตีพิมพ์งานวิจัยถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นการสร้างเส้นผมออกมาในปี2017นี้เอง 

         " แต่สำหรับประเทศไทย และแถบเอเชียเองยังไม่มีงานวิจัยออกมา ซึ่งด้วยสีผมของคนเอเชียที่ต่างออกไปจากงานวิจัยตัวดังกล่าว งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้ชายไทยที่เป็นโรคผมบางศีรษะล้าน ที่เกิดจากพันธุกรรมมาเพื่อศึกษาว่าการให้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำนั้นมีผลต่อส่วนใดของผมในระดับโมเลกุล โดยการตัดรากผมไปตรวจก่อนเริ่มการรักษา"รศ.(พิเศษ)พญ.รัชต์ธร ระบุ 

          รศ.(พิเศษ)พญ.รัชต์ธร  แจกแจงขั้นตอนต่อไปว่า หลังจากนั้นก็จะให้คนไข้เริ่มทำการรักษาและตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปตรวจสอบว่ามีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้เลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำในการกระตุ้นให้หนังศีรษะสร้างเส้นผมนั้นให้ผลดีที่24สัปดาห์ โดยความสำเร็จครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการศึกษาในประเทศไทย

          "งานวิจัยชิ้นนี้สามารถยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความเข้มข้นต่ำแล้ว ยังมีงานวิจัยต่อยอดนำเอาเซลล์เส้นผมมาเพาะเลี้ยงต่อ เพื่อศึกษาว่าแสงดังกล่าวมีผลต่อเซลล์ที่เพาะเลี้ยงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการทดลองลึกลงไปถึงระดับโมเลกุลต่อไป" รศ.(พิเศษ) พญ.รัชต์ธร ระบุ

 -------//------

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ