Lifestyle

3 เมกะโปรเจกต์ ตอบโจทย์ประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะวิทยาศาสตร์ มธ. ชู 3 เมกะโปรเจกต์ วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร การจัดการข้อมูล และเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการโอท็อป-เอสเอ็มอี ตอบโจทย์สร้างคนยกระดับประเทศ

       ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จัดงานแถลงข่าว เปิด 3 เมกะโปรเจกต์ปี 2561 วิทย์ มธ. โดยรศ.ดร.สมชาย ชตตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ถือว่าทำงานวิจัยมาจำนวนมาก ซึ่งได้รับความชื่นชมและยอมรับในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียกได้ว่าเรามีการพัฒนาไปอย่างเร็วมาก รวมไปถึงการสร้างผลงานในระดับนานาชาติที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ มธ. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้วางนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น มธ. จึงกลับมาวิเคราะห์ การดำเนินงานที่จะตอบโจทย์ประเทศ ใน 3 เมกะโปรเจกต์ ดังนี้ 1.SCI for AGRICULTURE: วิทยาศาสตร์เพื่อการเกษตร แม้ว่า มธ. จะไม่ได้มีจุดเด่นเรื่องการเกษตร แต่คณะวิทย์ฯ จะยึด คติที่ว่า เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน ดังนั้นเราจึงมาคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะใช้ศักยภาพของบุคลากรที่มีไปส่งเสริมการพัฒนา และในปี 2561 จะเป็นการนำร่องด้วย 2 โครงการหลัก คือ “โครงการกล้วยหอมทองปทุมธานี” การพัฒนา “กล้วยหอมทองจังหวัดปทุมฯ” พืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และ “โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วิถีเกษตรอินทรีย์ 4.0” โมเดลส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและใช้ต้นทุนต่ำลงถึง 2 เท่า

        รศ.ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า 2.SCI for BIG DATA: วิทยาศาสตร์เพื่อการจัดการข้อมูล การพัฒนางานวิจัย เพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแสเมกะเทรนด์เทคโนโลยีของโลกในเรื่อง บิ๊กดาต้า (Big Data) และคลาวด์ (Cloud) และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม เน้นการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้าหรือเซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล เพื่อใช้พัฒนาเป็นประโยชน์ ตลอดจนเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก คือ “เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อความมั่นคง” การจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้า มาวิเคราะห์ และประเมินถึงเหตุการณ์ที่อาจจะ เกิดขึ้นในอนาคต และกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ “ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ” การจัดการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และประมวลผลในด้านต่างๆ เช่น การสำรวจพฤติกรรมการเลือกเสพสื่อของผู้บริโภค การเก็บสถิติการใช้สิทธิประกันสังคมของประชาชน เพื่อสำรวจสิทธิการเข้าถึงการรักษาในแต่ละพื้นที่

         3.SCI for OTOP/SMEs: วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ที่จะประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสากล ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้วิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา สู่บริการให้คำปรึกษา และร่วมพัฒนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ 2 โครงการหลัก ดังนี้ “ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความอร่อย” และ “ศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์โอทอปและเอสเอ็มอี ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โครงการศูนย์บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น และผู้ประกอบการ รายย่อย ในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทันสมัยต่างๆ เพื่อยกระดับและสินค้า

       “เรามุ่งมั่นที่จะผลิตเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองต่อประชาคมระหว่างประเทศและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ เพราะไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาได้หากวิทยาศาสตร์อ่อนแอ วิทยาศาสตร์ต้องแข็งแรงก่อนประเทศจึงจะพัฒนาไปได้ ดังนั้นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประเทศเรา และคนรุ่นใหม่จะต้องคิดนวัตกรรมอะไรก็ได้ขึ้นมาสักอย่างและนำมาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าเราจะไปคิดยึดอาชีพ ที่เราคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุดแล้ว ที่มีรายได้มากที่สุดแล้ว นั้นคิดความคิดของคนรุ่นเก่า ซึ่งมันตกยุคไปแล้ว”คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ