Lifestyle

ป่วยโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มะเร็งกระเพาะอาหาร" ชายเสี่ยงป่วยกว่าหญิง ป่วยโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี  ปวดท้องบ่อย ถ่ายอุจจาระสีดำ พบแพทย์ด่วน

        นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พบได้ไม่บ่อยนักในคนไทย มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งจำนวนมากขึ้นผิดปกติ การละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ปวดท้องบ่อยๆ ป่วยด้วย โรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง มีความเสี่ยง สถิติพบเพศชายป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง  ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรมของครอบครัว พ่อแม่พี่น้องสายตรงป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ เป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังหรือแผลในกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี (Helicobacterpylori) ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ กินอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม ปิ้งย่าง รมควัน ไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้ ภาวะอ้วน   และมีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี

ป่วยโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร!!!

      ระยะเริ่มแรกของโรคจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทราบเมื่อระยะของโรคลุกลามแล้ว อาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่นท้อง ใต้ลิ้นปี่ มีคลื่นไส้ อาเจียนหรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่ง ไหปลาร้าซ้าย อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ดีซ่านตาเหลือง ปวดท้องอาเจียนเนื่องจากก้อนมะเร็งอุดตันที่สำไส้เล็กส่วนต้น หายใจหอบเหนื่อยจากมะเร็งลุกลามไปที่ปอด

      นพ.วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคทำได้ด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตัดชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะไปตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ การเอกซเรย์  กลืนแป้งสารทึบแสง ดูความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ แนวทางการรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค

ป่วยโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร!!!

       การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มต้น แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออก และอาจให้ยาเคมีบำบัดเสริมภายหลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ การรักษาด้วยวิธีนี้มุ่งหวังหายขาด ส่วนการรักษาโรคในระยะที่ลุกลาม จะใช้วิธีให้เคมีบำบัดเป็นหลัก อาจร่วมกับการฉายแสงในบางครั้ง ส่วนการผ่าตัด ในระยะโรคลุกลามจะกระทำเพียงเพื่อแก้ไขป้องกันหรือบรรเทาภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหาร ทางเดินน้ำดี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

      ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากมะเร็งกระเพาะอาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ  5 หมู่ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยและมีวิตามินสูง เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า บรอคโคลี่ ลดและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน อาหารหมักดอง ปิ้งย่างรมควัน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพร่างกายย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง  ผู้มีอาการผิดปกติและมีภาวะความเสี่ยงควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ