Lifestyle

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

   แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”  ฟิล์ม- เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์และหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในนาม“องค์กรนิวกราวด์” ซึ่งพวกเขาต้องการสร้างฐานของประเทศใหม่

 

   เนื่องในวันครูแห่งชาติ 16 มกราคม “คมชัดลึก”ขอนั่งจับเข่าคุยกับแอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา” และหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในนาม“องค์กรนิวกราวด์”  ซึ่งพวกเขาต้องการที่จะสร้างฐานของประเทศใหม่ ฟิล์ม- เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ เกี่ยวกับประเด็นเรื้อรังมาหลายยุคสมัย “ปฏิรูปการศึกษา”!!! ที่น้อยครั้งนักคนรุ่นใหม่จะได้เข้าร่วมวงเสนอแนวทางการปฏิรูป

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

      ฟิล์ม-เปรมปพัทธ อายุ 23 ปี เริ่มต้นว่า เมื่อจะมองการศึกษาไทยต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เชิงงบประมาณและการมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยมีการอุดหนุนทางการศึกษาต่อหัวเด็ก ไม่น้อยเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่ปัญหาคือ เด็กๆไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการใช้งบประมาณนั้นเลย สมมติรัฐอาจจะให้เขา 400 บาทต่อคน หากโรงเรียนมีเด็ก 4,000 คน จะได้งบประมาณเยอะมาก สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลากหลาย แต่อำนาจในการตัดสินใจใช้งบนี้อยู่ที่ผู้บริหาร ครู หรือสมาคมผู้ปกครอง เด็กๆไม่มีสิทธิในการใช้งบนี้ทั้งที่เป็นงบของเขาแท้ๆ ถือเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก

     ในขณะที่ประเทศออสเตรเลีย เยอรมัน แคนาดา ฟินแลนด์ มีการหยั่งเสี่ยงเด็ก อย่างเช่น ในประเทศฟินแลนด์ จะสร้างสนามเด็กเล่นแต่ละครั้งต้องมีการไปประชาพิจารณ์คนในท้องถิ่น ในชุมชนอยากให้ไเด็กเป็นอย่างไร ที่สำคัญ ถามเด็กเองด้วยว่าอยากเล่นอะไร 

     แต่ส่วนตัวตนชอบโมเดลของออสเตรเลีย ซึ่งจะมียูเอ็นยูท (UN Youth)และมีเป้าหมายออสเตรเลีย ซึ่งจะมีคำถามหลักๆ 3 ข้อสำหรับเยาวชน ได้แก่ คุณรู้สึกอย่างไรกับประเทศ คุณรู้สึกที่ผ่านมาควรจะทำอะไรเพื่อคุณได้ดีกว่านี้ และคิดว่าอะไรเป็นปัญหาของคุณ และคำตอบในหลายๆข้อถูกทำให้เป็นนโยบายสู่การปฏิบัติจริงๆของประเทศ

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

    นี่เป็นการสะท้อนถึงกระบวนการรับฟังเสียงเด็กที่ชัดเจนและหลากหลายมาก คือ เขาให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมของเด็กๆมากๆ

      และ2.เชิงหลักการ ซึ่งการศึกษาไทยแง่หนึ่งไม่ได้พูดถึงในเชิงหลักการมากนัก อาจจะพูดถึงเรียนอย่างไรให้มีความสุข เช่น เด็กหลังห้องเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นมาเรียนเป็นวงกลมกันเถอะจะได้เรียนแล้วมีความสุข แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่ามีความสุขกับอะไร มีความสุขกับวิชาที่บังคับให้คุณเป็นคนในแบบที่รัฐต้องการอย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีความสุขในแบบที่คุณสามารถเลือกเองได้ ซึ่งพบว่าเด็กๆอาจจะมีความสุข แต่สุดท้ายมีความสุขกับการท่องจำหรือเปล่า หรือมีความสุขกับการให้ตัวเองเป็นแรงงานในระบบอุตสาหกรรมหรือเปล่า แต่ไม่สามารถเรียกร้องสวัสดิการ หรือสิ่งต่างๆที่เด็กประเทศอื่นมีกันได้เลย

     โดยสรุป อำนาจในการใช้งบประมาณหรือทรัพยากร เด็กๆควรจะมีส่วนร่วมเป็นหลัก และเวลาตั้่งคำถามกับการศึกษาตั้งคำถามในเชิงรูปแบบหรือเปล่าแล้วมีการตั้งคำถามกับเนื้อหาบ้างหรือไม่

       ฟิล์ม บอกอีกว่า ปัญหาหลักๆเวลาพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาและไม่สำเร็จ จริงๆถ้าดูจากตัวชี้วัดหลายอันประเทศไทยแตะถึงมานาน เช่น เรื่องคนจนหมดประเทศ วัดกันที่ค่าแรง 2 ดอลลาร์หรือประมาณ 60 บาทต่อวัน ประเทศไทยก็หมดไปนานแล้ว จริงๆประเทศไทยทำเพื่อตอบตัวชี้วัด จนหลายครั้งยอมจะบิดคุณภาพหรือกระบวนการเพื่อตอบตัวชี้วัดอย่างเดียว ทำให้คุณภาพมันไม่เกิดขึ้นจริง

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

      “ประเด็นหลักๆ คือ เด็กไทยยังไม่รู้สึกว่าตัวเองควรเป็นคนลงมือทำในเรื่องการศึกษาหรือรู้ว่าเป็นผู้ถือหุ้นในระบบการปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานด้านการศึกษาหรือการปฏิรูปการศึกษาต้องกลับมามองตัวเองว่า เวลาเราปฏิรูปการศึกษา เราทำเพื่อเด็ก ของเด็ก แต่โดยผู้ใหญ่หรือเปล่า และถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่มีวันได้การศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย” ฟิล์ม-เปรมปพัทธ สะท้อนมุมมอง

     ฟิล์ม ขยายความว่า ประชาธิปไตยในที่นี้ หมายถึง การมีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่าเด็กๆสามารถระบุ กำหนดปัญหา หรือรู้สึกได้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร และการศึกษาควรตอบโจทย์ให้เขาแก้ปัญหาของตัวเองได้ ก่อนที่จะไปตอบเรื่องปัญหาแรงงาน

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

     จากที่ทำการสำรวจมา เด็กน้อยคนมากจนไม่มีนัยยะสำคัญที่กังวลเรื่องงาน แต่กังวลเรื่องปัญหากับครู ความสัมพันธ์กับเพื่อน สายตาสั้นไม่กล้าบอกพ่อแม่ กังวลกับเรื่องที่ไม่ได้เป็น “ความดีแบบวัตถุวิสัย” หมายความว่า ความดีที่ตีความอื่นไม่ได้ เช่น ออกกำลังกายเท่ากับดี เลิกยาเสพติดเท่ากับดี กินเหล้าเท่ากับแช่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้น องค์กรด้านเด็กและเยาวชนเวลามอบหมายให้เด็กและเยาวชนจะมอบหมายแต่สิ่งที่เรียกว่าความดีแบบวัตถุวิสัยนี้

      แต่สำหรับเยาวชนสิ่งที่เขาสนใจคือการรื้อสร้างมายาคติ คือการตั้งคำถาม เช่น จริงๆแล้วระบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ดีจริงหรือไม่ เงินอุดหนุนของเราเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นสื่อหรือการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่เป็นการตั้งคำถาม จึงเป็นสิ่งที่นิยมมากในหมู่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้

     การปฏิรูปการศึกษา จึงควรปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่แค่รับฟังเสียงเด็กและเยาวชนอย่างเดียว ควรให้อำนาจกับเด็กในทางงบประมาณ การตัดสินใจ การรวบรวมข้อเสนอ การกำหนดปัญหาของเขาเองด้วย

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

     ฟิล์ม-เปรมปพัทธ บอกด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษา องค์กรนิวกราวด์จัดทำข้อเสนอไว้ 2 ข้อ คือ 1.ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาหรือระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เช่น สวัสดิการสาธารณสุขเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่น เรื่องกฎหมาย กระบวนการยุติธรม เงินอุดหนุน อันดับแรกเลยต้องมีงานวิจัยที่แสดงถึงคุณค่าของเสียงพวกเขา งานวิจัยลักษณะนี้หลายองค์กรพยายามทำ แต่เป็นการทำแบบตามธรรมเนียมเดิม เช่น เอาไมค์ไปจ่อเด็ก คุณรู้สึกอย่างไร

      แบบนี้ไม่มีทางได้คำตอบจากเด็กจริงๆ เพราะในโพลล์ที่นิวกราวด์สำรวจมาพบว่า เด็กเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เมื่อคุยกับเพื่อน แต่เมื่อคุยกับผู้ใหญ่จะเป็นตัวเองน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นต้องมีการทำวิจัยแบบอื่น เช่น กระบวนการหาเบื้องลึก เอาจจะเรียกว่า การวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กว่าเขาคุยอะไรกัน ต้องมีกระบวนการวิจัยที่ให้คุณค่ากับเด็กและพยายามเข้าใจ วัฒนธรรมของเขา

      และ2.ควรมีกองทุน หรือทรัพยกร หรืองบประมาณที่อุดหนุนเด็กโดยตรง ส่วนใหญ่งบประมาณที่พัฒนการศึกษาจะอุดหนุนไปที่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัวหรือโรงเรียน แต่น้อยข้อเสนอในทางงบประมาณมากที่อุดหนุนไปที่เด็กโดยตรงให้เขามีอำนาจในการใช้จ่ายเอง

คุยกับ แอดมินเพจ “เกรียนการศึกษา”

    นี่เป็น 2 ข้อเสนอที่จะทำให้เด็กไทยรู้สึก ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของเขา เพื่อเขาเอง และโดยเขา

     ทั้งหมดทั้งมวล คือ ต้องมีกระบวนการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญมากๆ จริงๆกระบวนการมีส่วนร่วมรัฐไทยก็มีเรื่องตัวแทนเยาวชน แต่ไม่ค่อยมีบทบาทเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อให้ตอบตัวชี้วัดเท่านั้น

     อย่างไรก็ตาม ฟิล์ม ย้ำว่า ไม่ได้หมายความจะให้ผู้ใหญ่ลาออก แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ ควรทำกับแวดวงเยาวชนคือควรเป็น “สะพาน”ที่เชื่อมเสียงเด็ก ความต้องการของเด็ก เข้าสู่กระบวนการในเชิงนโยบาย

        0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ