Lifestyle

นศ.กศน.เรียนรู้วิธีเก็บข้าวไร่ สู่การทำข้าวเม่า(ชมคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กศน.ตรังนำนักศึกษา กศน.เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เก็บเกี่ยวข้าวไร่ เพื่อมาทำข้าวเม่า ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานต่อเยาวชนคนรุ่นหลัง

 

           วันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต.โพรงจระเข้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ม.7 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กศน.ตรัง พร้อมด้วย นางฉัตราภรณ์ เอ่งฉ้วน ผอ.กศน.อำเภอย่านตาขาว นำนักศึกษา กศน.จำนวน 10 คน ลงพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวไร่ ที่สวนของนางอาทิน จิตรบุตร เจ้าของสวนยางพารา ที่ปลูกข้าวไร่แซมในพื้นที่สวนยาง พร้อมกับพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆในเนื้อที่ประมาณ 1.5 ไร่ เพื่อให้นักศึกษา กศน.ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน วิธีการเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้แกละ (อุปกรณ์การเก็บเกี่ยวข้าวในท้องถิ่น) วิธีการคัดเลือกรวงข้าว และนำรวงข้าวไร่มาทำเป็นข้าวเม่า

 

นศ.กศน.เรียนรู้วิธีเก็บข้าวไร่ สู่การทำข้าวเม่า(ชมคลิป)

          พร้อมกับขั้นตอนสุดท้ายที่ได้ข้าวเม่า นำมาผสมกับมะพร้าวและน้ำตาลแดง หลังเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาปลูกข้าวกันมากขึ้น ทั้งการทำนา และโดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่ เพื่อไว้รับประทานในครัวเรือน แทนการซื้อข้าวสารมารับประทาน ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

          ทั้งนี้ หลังข้าวไร่ออกรวงไม่สุกมากนัก สามารถเก็บมาทำเป็นข้าวเม่า ซึ่งนิยมรับประทานกันเป็นอย่างมาก และจำหน่ายในราคาที่สูง กิโลกรัมละ 200 บาท แต่ส่วนใหญ่จะทำกินกันเองในครัวเรือน หรือกับเพื่อนบ้าน

 

นศ.กศน.เรียนรู้วิธีเก็บข้าวไร่ สู่การทำข้าวเม่า(ชมคลิป)

         ด้านนางฉัตราภรณ์ เอ่งฉ้วน ผอ.กศน.อำเภอย่านตาขาว กล่าวว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษามัธยม ม.ปลายของกศน.ตำบลโพรงจระเข้ เป็นการเรียนรู้เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการทำข้าวเม่าซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ซึ่งทำจากเมล็ดข้าวที่เริ่มแข็งตัวก่อนจะสุก นำมาผ่านกระบวนการขั้นตอนด้วยภูมิปัญหาพื้นบ้าน

         ทั้งนี้ จะต้องคัดรวงข้าวที่ได้ขนาด เมล็ดเริ่มแข็งตัวและเป็นรวงที่ไม่สมบูรณ์มากสร้างมูลค่าเพิ่ม หากสุกเกินไปจะทำไม่ได้ ซึ่งนอกจากไว้รับประทานในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถขายได้ในราคาที่สูงประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัม เป็นที่นิยมรับประทาน จึงสามารถสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนได้อย่างดี

 

 

นศ.กศน.เรียนรู้วิธีเก็บข้าวไร่ สู่การทำข้าวเม่า(ชมคลิป)

         โดยนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่ การใช้พื้นที่ว่างในสวนยางเพื่อปลูกข้าวและพืชแซมชนิดอื่น แทนการปลูกพืชเชิงเดียว การเก็บเกี่ยวโดยใช้แกละ ซึ่งภาคอื่นจะใช้เคียวเกี่ยวรวงข้าว หรือใช้รถตัดข้าว และคัดเลือกรวงข้าวที่สามารถนำมาทำข้าวเม่าได้ และขั้นตอนการทำข้าวเม่า สาธิตการนวดข้าว เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวง

          หลังจากนั้นใช้กระด้งนำมาร่อน เพื่อคัดแยกเมล็ดลีบที่ไม่สามารถใช้ได้ทิ้ง คงเหลือเมล็ดข้าวสมบูรณ์ จากนั้นนำไปแช่น้ำ ไว้ประมาณ 1-2 คืน (ดูตามลักษณะของรวงข้าวที่เกี่ยวมา หากเนื้อเมล็ดยังอ่อนก็แช่เพียง 1 คืน แต่หากเมล็ดข้าวเริ่มแข็ง จนเกือบสุกก็แช่เป็น 2 คืน ) เพื่อให้รวงข้าวอ่อนตัว

 

นศ.กศน.เรียนรู้วิธีเก็บข้าวไร่ สู่การทำข้าวเม่า(ชมคลิป)

         จากนั้นนำไปคั่วในกระทะร้อนพอประมาณ พอเมล็ดเริ่มแตกเป็นข้าวตอกเพียงเล็กน้อย ก็ต้องรีบนำไปใส่ในครกตำข้าวตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งตำด้วยมือในลักษณะการซ้อมมือ (หากตำข้าวร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในครกเดียวกัน เมื่อตำเสร็จแล้วก็นำใส่กระด้ง เพื่อร่อนเอากากทิ้ง คงเหลือแต่ข้าวเม่าที่ต้องการ ก็นำไปคลุกเคล้ากับเนื้อมะพร้าวที่ไม่แก่มาก ผสมน้ำตาลแดง นำมาคลุกเคล้ารวมกัน ก็จะทานเป็นอาหารว่างพร้อมรสชาติที่อร่อยอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถนำไปถ่ายทอดต่อเยาวชนรุ่นหลังสืบต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ