Lifestyle

เปิดวาร์ป "ครูแบบที่ใช่" ในใจเด็ก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ครูดี ครูเด่น" ครูแบบไหน? ที่ตอบโจทย์ เด็กยุค4.0

          เข้าสู่เดือนมกราคม ทุกปีจะมีวันสำคัญๆ ในแวดวงการศึกษา  “วันครู16 มกราคม”  อีกหนึ่งวันที่มีกิจกรรมสำหรับศิษย์มากมาย เพื่อให้ลูกศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนสั่งอบรมวิชาให้เรา เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน “ครู” ก็ยังเป็นคนสำคัญ คนที่ใกล้ชิดต่อเด็กไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่

         ว่าแต่..ขณะนี้ “ครู” ในใจเด็ก ครูแบบไหนที่เด็กอยากเรียนด้วย วันนี้ “คมชัดลึก” จึงได้ไปเสียงเล็กๆของบรรดาเหล่าลูกศิษย์รุ่นใหม่ๆถึงครูที่พวกเขาต้องการ

เปิดวาร์ป "ครูแบบที่ใช่" ในใจเด็ก

น้องเหมย น.ส.กนกพร เลิศลักษณ์วิบูลย์      

        น้องเหมย น.ส.กนกพร เลิศลักษณ์วิบูลย์ นักเรียนชั้นม.6  โรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม จ.เชียงใหม่  เล่าว่าครูยังเป็นบุคคลที่สำคัญของเด็ก เพราะหากไม่มีครูคอยให้คำแนะนำสั่งสอน การเรียนรู้ต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น ต่อให้นักเรียนสามารถค้นคว้า อ่านตำราได้จากโลกออนไลน์ แต่ประสบการณ์ ทักษะ การใช้ชีวิต ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ครูย่อมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ชีวิตให้แก่เด็กได้เป็นอย่างดี     

           ครูที่เด็กๆ ต้องการจึงไม่ใช่ครูที่จะมายืนสอนหน้าชั้นเรียน ยืนพูด 2-3 ชั่วโมง แล้วให้เด็กจดตาม แต่เป็นครูที่คิดกิจกรรม จัดการเรียนการสอนนอกกรอบ และไม่ตีกรอบเด็ก รับฟังความคิดเห็นของเด็กแต่ละคนอย่างเข้าใจ และให้โอกาส ส่งเสริมในเรื่องที่เด็กขาดทักษะ ที่สำคัญครูต้องพยายามถ่ายทอดความรู้แก่เด็กอย่างเต็มที่ ไม่กั๊กความรู้ อย่าง  ครูพรพิมล บุญโคตร ถือเป็นแม่คนที่สองที่ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือนักเรียนในทุกเรื่อง เสียสละเวลาในการอบรมสั่งสอนนักเรียนทั้งด้านวิชาการ และทักษะชีวิต

เปิดวาร์ป "ครูแบบที่ใช่" ในใจเด็ก

         “ครู ต้องเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองให้แก่เด็ก ทุ่มเท ส่งเสริมเด็ก ควรมีการสอนแบบใหม่ ไม่ใช่สอนในตำราเพียงอย่างเดียว ต้องใช้สื่อ เทคโนโลยีในการสอนต้องให้นักเรียนได้คิด ได้ลงมือทำด้วยตนเอง เพราะเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเอง ต้องการ สนุก และลงมือทำ จะทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ควรเป็นครูที่เข้าใจนักเรียน ไม่มีการแบ่งเกรดนักเรียนว่านักเรียนเก่งและนักเรียนไม่เก่ง  ให้ความยุติธรรม เอาใจใส่นักเรียน สอนนักเรียนแบบไม่กั๊กความรู้ และทุ่มเทให้นักเรียนอย่างเต็มที่ ครูเป็นเสมือนแม่ที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง” น้องเหมย กล่าว

เปิดวาร์ป "ครูแบบที่ใช่" ในใจเด็ก

   น้องท๊อป นายสมเกียรติ ทรัพย์มูล    

           เช่นเดียวกัน น้องท๊อป นายสมเกียรติ ทรัพย์มูล นักเรียนชั้นม. 6 นักดนตรีไทยของโรงเรียนจระเข้หินสังฆกิจวิทยา จังหวัดนครราชสีมา บอกเล่าถึงครูในดวงใจ “ครูสอนดนตรีไทย” ว่า จากการได้เข้าชมรมดนตรีไทยมาตั้งแต่สมัยม.1 โดยความไม่ตั้งใจ แต่เมื่อมาได้เรียน ได้ลองเล่นดนตรีไทย หลายชนิดก็รู้สึกชอบ โดยเฉพาะระนาดและได้เป็นนักดนตรีไทยของโรงเรียน มีโอกาสไปประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ ซึ่งตลอดมาก็จะมีครูคอยให้การดูแล โดยเฉพาะ ครูแนน หรือ นายณัฐภัทร กลิ่นจะโป๊ะ ครูสอนดนตรีคอยดูแลมาตลอด 6 ปี จึงทำให้มีความคุ้นเคย สนิทสนมกันอย่างมาก ซึ่งครูแนนไม่เพียงแค่ให้ความรู้ แต่ยังสอนการใช้ชีวิต เป็นที่ปรึกษาได้ในทุกๆเรื่อง และยังเป็นครูที่รับฟังเด็กทุกคนด้วยๆ

       “ครูในความรู้สึกของผม อยากให้เป็นคนที่รักและเข้าใจเด็ก เปิดใจที่จะรับฟังเสียงของเด็กในทุกๆ เรื่อง ขณะเดียวกัน อยากให้ครูรู้พัฒนาการของเด็กแต่ละคนในชั้นเรียน เพราะเด็กแต่ละคนก็มีพัฒนาการไม่เท่ากัน ถ้าครูรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ขาดตรงไหนจะได้เติมเต็มได้ตรงจุด รวมถึงยอากขอให้มีการพัฒนาตนเองตลอดเวลา หาเทคนิคใหม่ๆ มาสอนในชั้นเรียน เน้นการหาความรู้ การลงมือปฏิบัติ ไม่เน้นการสอนเนื้อหาที่อยู่ในตำรา ซึ่งทุกวันนี้ครูหลายคนก็มีการปรับตัวไปความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่ก็ยังมีบางคนที่ยึดแต่ตำราเท่านั้น” น้องท๊อป กล่าว

        น้องท๊อป บอกด้วยว่า สำหรับครูรุ่นเก่าที่อาจจะไม่ค่อยถนัดกับเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ อยากให้เปิดใจ และเรียนรู้ ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าเราทุกคนต้องเรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา

เปิดวาร์ป "ครูแบบที่ใช่" ในใจเด็ก

        ขณะที่ 3 สาว ด.ญ.วรารัศมิ์ สุทธิศักดิ์-ด.ญ.ธารทิพย์ นาคทัต-ด.ญ.อริสรา น้อยอุบล ชั้นม.1 โรงเรียนศุภกรณ์วิทยา กรุงเทพฯ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ครูในดวงใจของพวกตน อยากให้เป็นครูที่มีความเข้าใจเด็ก เปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็น ไม่เคร่งครัด กดดันจนเกินไป บางเรื่องอาจจะยืดหยุ่นให้บ้าง ซึ่งทุกวันนี้ก็ครูที่ใส่ใจ และรับฟังเด็กแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย

        นอกจากนี้ เรื่องการเรียนการสอน ต้องไม่เน้นแต่ในหนังสือมากเกิน ควรมีกิจกรรมอื่นๆควบคู่ มีเทคนิคการสอนใหม่ โดยเฉพาะที่อยากให้ปรับคือการออกข้อสอบ ที่ควรเป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่สอน เพราะบางทีสอนในเนื้อหาอย่างหนึ่ง แต่เวลาออกข้อสอบกลับเป็นเนื้อหาอื่นมากกว่าเนื้อหาที่เรียนมา ออกสอบ ทำให้เวลาเราสอบสิ่งที่เราเตรียมตัวสอบมากับที่ไปเจอในข้อสอบคนละแบบ

        หลายคนอาจมองว่า "ครู" เป็นอาชีพเรือจ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงๆ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงส่งเด็กถึงฝั่งเท่านั้น แต่ครูที่เด็กๆ อยากได้ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ ประคับประคองชีวิตเด็ก แถมต้องมีเทคนิคการสอนใหม่ๆ ใช้สื่อเทคโนโลยี ไม่กั๊กความรู้ เป็นโค้ชกับเด็ก "วันครู" ปีนี้ อย่าลืมไหว้ครู หรือหากใครไม่ได้อยู่ใกล้คุณครู ก็อย่าลืมแวะเวียน กลับไปกราบคุณครูกัน

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ