ไลฟ์สไตล์

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

10 ม.ค. 2561

“Someday you will joint us”เป็นข้อความที่ดี้-นิติพง์ ห่อนาค สมาชิกวงเฉลียงและนักแต่งเพลงชื่อดัง อยากใช้เป็นข้อความรณรงค์ปลดโซ่ตรวนและลดตีตราผู้ป่วยทางใจ

     “Someday you will joint us”แปลความได้ว่า“สักวันหนึ่งคุณอาจร่วมกันกับเรา”เป็นข้อความที่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค สมาชิกวงเฉลียงและนักแต่งเพลงชื่อดัง อยากใช้เป็นข้อความรณรงค์แต่ใช้คำว่า “I AM FROM ศรีธัญญา”แทน วัตถุประสงค์ต้องการให้คนในสังคมเข้าใจผู้ป่วยทางจิตมากขึ้น นำสู่การ “ปลดโซ่ตรวน”และไม่อายที่จะเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยทางใจในรพ.จิตเวชทุกแห่ง เพียงแต่หยิบยกชื่อ “ศรีธัญญา”มาใช้เพราะเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ รวมถึง “ลดตีตรา” เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นกลับสู่สังคมได้อย่างมีความหมาย

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

        “การที่คุณดี้ นิติพงษ์ ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาของมูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิตต้องขอขอบคุณและถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง นับเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการช่วยรณรงค์สร้างกระแส  ให้ความรู้ ความเข้าใจและลดตราบาปต่อผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชื่นชม

      เดิมที่สังคมไทยอาจคุ้นภาพกับการใช้โซ่กับผู้ป่วยไว้ภายในบ้าน เพราะไม่ต้องการให้ออกไปไหน หรือสร้างความหวาดกลัวให้คนในสังคม หรือสร้างความอายให้กับญาติพี่น้อง สาเหตุที่ยังมีการล่ามขังผู้ป่วยจิตเวชอยู่ มี 4 องค์ประกอบ คือ 1. ผู้ป่วยมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของตนเอง และผู้อื่น 2. การดูแลรักษาที่ผ่านมา ไม่สามารถลดอาการของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถสร้างความมั่นใจแก่ญาติ และชุมชนได้ 3. ญาติ และชุมชนเป็นกังวล หวาดกลัว และอาจมีเจตคติทางลบต่อผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วย และ 4. ญาติและชุมชนไม่สามารถใช้ทางเลือกอื่นหรือไม่ทราบทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการล่ามขังเพื่อควบคุมผู้ป่วย

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

       ทั้งนี้ การปล่อยให้ผู้ป่วยที่ถูกล่ามขัง ไม่ให้ได้รับการรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฝึกทักษะต่าง ๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมของบุคลิก   ภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมถดถอย จนกระทั่งอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนี้จะยิ่งทำให้สภาพจิตที่ย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างภาระ ทั้งต่อครอบครัว และชุมชนมากขึ้นไปอีก

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

        และเมื่อไม่นานมานี้ นักแสดงหญิง “ทราย เจริญปุระ” ถูกเกรียนหรือนักเลงคีย์บอร์ดกระหน่ำต่อว่าด้วยข้อความรุนแรง หลังโพสต์ภาพพาคุณแม่ไปเข้ารับการรักษาที่รพ.ศรีธัญญา  โดยเฉพาะการกล่าวหาว่า “อกตัญญู” สิ่งนี้ดูจะเป็นการสะท้อนภาพได้ส่วนหนึ่งว่าคนไทยจำนวนมากยังมีความคิดเชิงลบต่อการเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิต

            “โรคจิตเวชไม่ใช่โรคที่น่าเกลียด น่ากลัว หรือน่าละอายแต่อย่างใด ขอเพียงเข้าให้ถึงบริการรักษา ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากโรงพยาบาล อาการย่อมจะดีขึ้น” น.ต.นพ.บุญเรือง อธิบาย

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

           กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามอย่างมากที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ญาตินำพาผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตโดยเฉพาะโรคจิตเภท หรือที่คนเรียกว่า “บ้า” เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องในสถานพยาบาล โดยชูข้อความ “ปลดโซ่ตรวน”มาตั้งแต่ปี 2543-2544 และขับเคลื่อนอีกครั้งในปี 2555 ภายใต้โครงการ “ปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามขัง: สู่ชีวิตใหม่โดยชุมชน”

       ดำเนินการโดยให้เจ้าหน้าที่และอสม.ค้นหาผู้ป่วยถูกล่ามขังในทุกหมู่บ้าน เมื่อพบเจ้าหน้าที่จะดำเนินการประเมินสภาพร่างกาย จิตใจผู้ป่วย   และให้การรักษาฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ถูกล่ามขัง รวมทั้งให้ความรู้ญาติพี่น้อง ชุมชน สังคม เพื่อช่วยกันดูแล   หลังจากนั้นจะติดตามดูแลเรื่องของการให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่กลับไปถูกล่ามขังอีก 

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

        ตามพรบ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 หมวด 3 การบําบัดรักษาทางสุขภาพจิต ระบุว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นนบุคคลที่ต้อง ได้รับการบําบัดรักษา คือ มีภาวะอันตราย หรือ มีความจําเป็นต้องได้รับการบําบัดรักษา และ ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ที่น่าจะมีลักษณะเช่นนี้ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รพ. พนักงานฝ่ายปกครอง ตํารวจ หรือเจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินโทร 1669 เพื่อนำไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบําบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น โดยจะมีผู้รับดูแลบุคคลดังกล่าวไปด้วยหรือไม่ก็ได้

      ทั้งนี้ หากประสงค์ให้ผู้อาจจะมีอาการป่วยทางจิตเข้ารับการตรวจรักษา สามารถรับบริการเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(รพ.สต.) โรงพยาบาลประจำอำเภอในพื้นที่ หากจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในหน่วยบริการเฉพาะ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วย

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

       ล่าสุด น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า รอบ 10 เดือนของปีงบประมาณ 2560 มีผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการจำนวนกว่า 570,000 กว่าคน 

       การพยายามให้ผู้ป่วยทางจิตได้เข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลว่ายากแล้ว แต่การให้ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นกลับเข้าสู่สังคมกลับยากยิ่งกว่า มิใช่เพราะผู้ป่วย แต่เพราะคนในสังคมเปิดโอกาสให้พวกเขาไม่มากนัก ยังคงมีการ “ตีตรา”ต่อผู้ป่วย

     “ที่ผ่านมา ประชาชนยังไม่เข้าใจ คำว่า สุขภาพจิต โรคทางจิต หรือ โรคจิตเวช มากนัก ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกับการเจ็บป่วยทางกาย ที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่ตราบาป หรือเป็นเรื่องที่น่าละอายแต่อย่างใด” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

         น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า หากคนรอบข้างมีความเข้าใจ พาผู้ป่วยมารับบริการรักษา กินยาอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจน ให้กำลังใจ ผู้ป่วยหลายคนจะมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข บางโรคอาจจะหายได้เลย เช่น โรคซึมเศร้า แต่สำหรับบางคนถ้าญาติหรือคนรอบข้าง และสังคมไม่เข้าใจ ย่อมทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยขาดยา ขาดการรักษา ประกอบกับคนในสังคมยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยอมให้ผู้ป่วยกินยา หรือมีการพูดจาเชิงลบทำให้เกิดตราบาป ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี อาการของโรคอาจแย่ลงได้

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

     “อยากขอให้ทุกคนในสังคมมองปัญหาสุขภาพจิตว่าเป็นการเจ็บป่วย ไม่สบาย และมีความสำคัญ ไม่ควรต่อว่าหรือดูถูกผู้ป่วย ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ สนับสนุน และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกลับมามีที่ยืนในสังคมได้อีกครั้ง” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

เคยรักษา “รพ.จิตเวช”ไม่เห็นต้องอาย

ภาพจากเฟซบุ๊ก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

      น.ต.นพ.บุญเรือง บอกด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์กรมสุขภาพจิต 5 ปี ได้ให้ความสำคัญและกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ว่าด้วยการสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิตไว้ด้วย กลยุทธ์หนึ่ง คือ การสนับสนุนให้ครอบครัว ชุมชนยอมรับและให้โอกาสกับผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต โดยมีแนวทาง อาทิ  การบูรณาการการทํางานร่วมกับองค์กรอื่น การผลักดันให้สังคมยอมรับให้โอกาสผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต การรณรงค์สร้างกระแส ให้ความรู้ ความเข้าใจและลดตราบาปต่อผู้ที่อยู่กับปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น

     ในหน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต หลายแห่งมีการฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ป่วย เพื่อให้สามารถยืนอยู่ในสังคม อย่างเช่น ที่รพ.ศรีธัญญา มีร้านเพื่อน ที่มีทั้งบริการคาร์แคร ซักอบรีด ร้านกาแฟ เบเกอรี่ และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆออกว่างจำหน่าย ดำเนินการโดยผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วทั้งสิ้น หรือที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มีร้านกาแฟหลังคาแดง ฝึกการเป็นบาริสต้า หรือทำงานในร้านกาแฟ เป็นต้น

 

     การจะทำให้งานสุขภาพจิตชุมชนสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี หัวใจสำคัญอยู่ที่ประชาชน ที่ต้องร่วมกันวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพจิต นำมาสู่การแก้ไขและใช้มาตรการด้านสุขภาพจิตในการป้องกันและรักษา ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขภาพจิต รู้ว่าเมื่อไรเรียกว่าสุขภาพจิตไม่ดี แล้วควรทำอย่างไร รักษาได้หรือไม่และที่ไหน เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองและคนรอบข้างได้” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวปิดท้าย

       การเข้ารับการตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษา ที่รพ.จิตเวช ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องอาย หรือ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องมองในเชิงลบ เพราะไม่มีใครรู้ สักวันหนึ่งคุณอาจจะป่วยและจำเป็นต้องเข้ารับบริการ ไม่ต่างจากการเจ็บป่วยทางกาย ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้น

0 พวงชมพู ประเสริฐ  รายงาน 0