Lifestyle

รมว.สธ.ตอบ 3 คำถาม"ระบบสาธารณสุข"จะไปทางไหน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลพวงหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งจากการออกวิ่งของ"พี่ตูน"ในปลายปี 2560 ทำให้คนไทยรับรู้ถึงปัญหารงสถานะการเงินของรพ.รัฐ

      แน่นอน บุคคลที่คนไทยจำนวนมากต้องการที่จะรับทราบแนวทางการปรับปรุงระบบสาธารณสุขมากที่สุดคงหนีไม่พ้น แม่ทัพใหญ่ “คมชัดลึก”จึงขอนัดสัมภาษณ์พิเศษ "ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)" ซึ่งเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช นับเป็นรมว.สธ.ท่านที่2 ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเน้นใน 3 คำถามหลักที่เปรียบประหนึ่งหลุมดำระบบบริการสาธารณสุขของไทยและเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลชุดนี้ราวๆ1ปี

      สธ.มีแนวทางในการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาคนไข้แออัดในรพ.อย่างไร เป็นคำถามแรกที่“คมชัดลึก”สอบถามรมว.สธ

      ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความแออัดของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)หรือรพ.ประจำจังหวัด การแก้ปัญหามี 4 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.การผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในรพ. (One Day Surgery: ODS) แนะนำแนวทางเพื่อให้ผู้ป่วยเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดมาจากบ้าน เมื่อวันนัดก็มาผ่าที่รพ.เสร็จแล้วกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ ปัจจุบันมีรพ.หลายแห่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว  กรมการแพทย์มีการกำหนดให้มี 12 โรคที่สามารถผ่าตัดเช่นนี้ได้ ทว่า มิใช่ทุกรพ.จะทำได้ กรมการแพทย์มีทีมลงไปประเมินความพร้อมของรพ.แต่ละแห่งว่าสามารถดำเนินการ เพราะความปลอดภัยของคนไข้สำคัญที่สุด ซึ่งแนวทางนี้จะเกิดความสะดวกกับผู้ป่วยและญาติไม่ต้องมานอนพักรักษาตัวในรพ.โดยไม่จำเป็น ขณะที่รพ.ก็จะมีเตียงไว้รองรับสำหรับคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในรพ.จริงๆ เช่น ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ เดิมคนไข้ต้องนอนรพ.1-2 วัน แต่สามารถผ่าตัดวันเดียวเสร็จกลับบ้านได้ เป็นต้น

       “ที่ผ่านมารพ.หลายแห่งดำเนินการผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านได้อยู่แล้ว แต่ติดขัดเรื่องการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสิทธิต่างๆ เนื่องจากเมื่อผ่าตัดแต่ไม่ต้องนอนรพ.ก็จะเบิกค่ารักษาตามอัตราผู้ป่วยในไม่ได้ แต่ขณะนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ได้มีมติให้รพ.สามารถเบิกได้แล้ว รวมทั้งสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

รมว.สธ.ตอบ 3 คำถาม"ระบบสาธารณสุข"จะไปทางไหน?

       2.ระบบไร้รอยต่อ ในกรณีที่รพศ./รพท.รับผู้ป่วยหนักจากโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)หรือรพ.ประจำอำเภอมาดูแลจนผู้ป่วยผ่านพ้นระยะวิกฤติ อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูสภาพร่างกาย จะมีระบบส่งกลับ คือ ส่งผู้ป่วยไปฟื้นฟูที่รพช.ที่ส่งตัวมา ซึ่งเดิมจะมีแต่ส่งตัวขาขึ้นมารพศ./รพท.ไม่มีส่งตัวขากลับไปรพช. ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องนอนรพ.ใหญ่ๆ1-2เดือน ทั้งที่ศักยภาพรพช.ที่เตียงไม่แน่นสามารถดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ได้แล้ว จะดำเนินการในรพ.สังกัดสธ.ทั่วประเทศ อาทิ รพช.ส่งตัวผู้ป่วยมาผ่าตัดใหญ่ที่รพศ./รพท. ใช้เวลา14 วันกว่าจะหายเป็นปกติ แต่เมื่อผ่าน 7 วัน อาการผู้ป่วยดีขึ้นเหลือเพียงการฟื้นฟูร่างกาย แพทย์ก็จะพิจารณาส่งกลับไปรพช.ซึ่งจะมีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยต่อ เพราะที่ผ่านมาอัตราการครองเตียงของรพช.จะน้อยกว่ารพศ./รพท. ที่เห็นชัดคือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(สโตรก) เมื่อทำการผ่าตัดและอาการพ้นวิกฤติ มีเพียงการฟื้นฟูร่างกายที่อาจต้องใช้เวลาร่วมเดือน ก็จะให้กลับไปฟื้นฟูที่รพช. เตียงที่รพศ./รพท.ก็จะลดความแออัดลงเพื่อเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยวิกฤติหรือโรคที่มีความซับซ้อนต้องนอนรักษาตัวในรพศ./รพท.

       “ทั้ง2แนวทางสร้างความสะดวกให้ผู้ป่วยและญาติ ไม่ต้องมานอนรพ.โดยไม่จำเป็น หรือไม่ต้องเดินทางไกลมาเฝ้าผู้ป่วย เพราะรักษาฟื้นฟูร่างกายในรพช.ซึ่งอยู่ในอำเภอใกล้บ้านผู้ป่วย ส่วนรพ.ขนาดใหญ่มีเตียงว่างไว้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนของโรค แน่นอนทั้งหมดจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ แต่เชื่อว่าเมื่อเห็นผลชัดเจนว่าการฟื้นฟูร่างกายไม่จำเป็นต้องอยู่รพ.ใหญ่ แต่รพ.ใกล้บ้านสามารถดูแลได้ ผู้ป่วยและญาติจะค่อยๆเข้าใจมากขึ้น”ศ.คลินิก เกียรติ นพ.ปิยะสกลกล่าว

       3.มีคลินิกหมอครอบครัว โดยเฉพาะรพ.ในจังหวัดใหญ่ๆที่มีความแออัดของผู้ป่วยมาก จะมีการส่งทีมหมอครอบครัวหรือแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพไปเปิดคลินิกรอบๆเมือง เพื่อตรวจโรคเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย เหมือนเป็นการนำคลินิกผู้ป่วยนอกออกไปให้บริการนอกรพ. เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเสียเวลารอคิวนานที่รพ. โดยจะมีทีมหมอครอบครัวจากรพศ./รพท.ให้การตรวจวินิจฉัยรักษาเบื้องต้น หากเห็นว่าจำเป็นต้องส่งตัวตรวจกับแพทย์เฉพาะทางในรพศ./รพท.ก็สามารถส่งตรงไปตรวจกับแพทย์สาขาเฉพาะทางนั้นๆได้ทันที ทำให้ช่วยลดการใช้บริการที่รพ.ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 60 มีเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปรับบริการ ทำให้แพทย์สามารถเน้นการดูแลเฉพาะทางและโรคซับซ้อน รวมถึง ลดเวลาที่ผู้ป่วยต้องรอคอยตรวจจาก 172 นาที เหลือเพียง 44 นาที เช่นที่ รพ.ขอนแก่น รพ.พระพุทธชินราช รพ.ชลบุรี เป็นต้น ที่สำคัญ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรพ.ของผู้ป่วยได้ราว 1,655 บาทต่อคน ในส่วนของระดับอำเภอก็จะมีทีมหมอครอบครัวไปดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชนถึงบ้าน โดยทีมหมอครอบครัว 3 ทีมดูแลประชากร 3 หมื่นคน ขณะนี้มีทีมหมอครอบครัว 596 ทีม ในปี 2561 เพิ่มอีก 574 ทีม และภายในปี 2569 จะมีครบ 6,500 ทีมเพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศ

       4.คลินิกพิเศษแพทย์เฉพาะทางนอกเวลาราชการ สำหรับบางรพ.ที่มีผู้ป่วยมาตรวจมากในเวลากลางวันจนมีความแออัดมาก ในเวลานอกราชการก็พิจารณานำแพทย์เฉพาะทางมาเปิดคลินิกพิเศษ แต่ผู้ที่มารับบริการตรวจในคลินิกนี้ต้องเข้าใจว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง แต่จะทำให้ได้รับการตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเร็วขึ้น ไม่ต้องรอนาน เมื่อผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาตรวจคลินิกนี้ ก็จะลดแออัดในคลินิกผู้ป่วยนอกในเวลากลางวัน ขณะเดียวกันแพทย์เฉพาะทางไม่ต้องไปเปิดคลินิกส่วนตัว สามารถตรวจที่รพ.ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่ไม่ใช่รพ.สังกัดสธ.ทุกแห่งจะเปิดได้ ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น และเหมาะสมจริงๆ เช่น รพ.ราชวิถี หรือรพศ.อื่นๆที่แออัดมากๆ เป็นต้น

      “แนวทางทั้งหมดนี้เชื่อว่าน่าจะสามารถลดความแออัดในรพ.ได้ ประชาชนไม่ต้องรอคิวนาน ไม่เพิ่มภาระงานให้กับผู้ให้บริการ เกิดผลดีทั้งต่อผู้รับและผู้ให้บริการ” รมว.สธ.เชื่อมั่น

    คำถามต่อมาน่าจะเป็นสิ่งที่ข้องใจคนไทยมากที่สุดในเวลานี้ ขณะนี้สถานการณ์การเงินของรพ.สธ.เป็นอย่างไร สธ.มีแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกรณีรพ.มีเงินไม่เพียงพออย่างไร

      ศ.คลินิก เกียรติคุณนพ.ปิยะสกล บอกว่า สิ้นปีงบประมาณ 2560 มีรพ.ที่สภาพคล่องทางการเงินวิกฤติระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด 87 แห่ง นับว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2559 ที่มีระดับ 7 จำนวน 119 แห่ง

        รมว.สธ. อธิบายต่อว่า เป็นผลจากการบริหารจัดการดีขึ้น โดยผอ.รพ.ทุกแห่งมีการพัฒนาระบบบริหารภายในของตนเองทั้งเพิ่มรายรับ และลดรายจ่าย บวกกับปีที่ผ่านมารัฐบาลให้งบฯกลางมา 5,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้มีเงินเข้าระบบมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเงินในระบบสาธารณสุขยากที่จะเพียงพอ อย่างประเทศญี่ปุ่นให้งบประมาณด้านสาธารณสุขมากกว่าไทย 20-30 เท่าก็ยังไม่พอ ประเทศอังกฤษใช้งบฯด้านสุขภาพมากกว่างบประมาณแผ่นดินของไทยก็ไม่พอเช่นกัน ซึ่งการได้รับงบประมาณเข้าระบบสาธารณสุขของไทยมีความจำกัด แต่เราสามารถบริหารเพื่อดูแลประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง ช่วยลดภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย

       ผอ.มีแนวทางเพิ่มรายรับของรพ.อย่างไร เป็นคำถามต่อเนื่อง ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เก็บทุกบาทที่รพ.ควรจะได้ เช่นที่ผ่านมารพ.เป็นเจ้าหนี้ของสิทธิรักษาพยาบาลหลักทั้ง 3 สิทธิ คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง แต่ไม่ได้ตามเก็บ ขณะที่ในส่วนที่เป็นรายจ่ายของรพ.เมื่อมีการทวงรพ.ก็จ่ายให้หมด จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์จัดเก็บรายได้”ขึ้นในรพ. เพื่อทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ที่รพ.ควรจะได้ให้ได้จริงๆ

       รวมถึง มีการหารายได้เพิ่มในรูปแบบต่างๆตามความเหมาะสมของรพ.แต่ละแห่ง บางแห่งมีการออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำหน่าย บางแห่งเปิดคลินิกนอกเวลา หรือมีการนำนโยบายประชารัฐ คือดึงทุกภาคส่วนในท้องถิ่นมาช่วยพัฒนารพ. ซึ่งรพ.หลายแห่งแม้จะได้รับงบประมาณจากบัตรทองน้อย แต่สามารถอยู่ได้ เพราะประชาชนและผอ.มาช่วยกันวางแนวทาง ไม่ใช่แบมือของบฯรัฐอย่างเดียว จะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาระบบ

     อย่างไรก็ตาม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ยอมรับว่า ยังต้องมีการปรับปรุงแนวทางการกระจายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในสิทธิบัตรทอง เนื่องจากที่ผ่านมาการกระจายโดยยึดแนวทางจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบของรพ.คูณด้วยอัตรางบฯเหมาจ่ายรายหัวในแต่ละปี ทำให้รพ.บางแห่งที่มีประชากรน้อยได้รับงบฯส่วนนี้น้อย เรียกว่าได้รับเงินไม่เพียงพอตั้งแต่เริ่มต้น

     ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยตัวเลขว่ารพ.สธ.มีเงินติดลบเป็นตัวแดงรวมแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เป็นการแสดงข้อมูลที่พิจารณาจากเพียงตัวเลขเงินสดของรพ.เท่านั้น ไม่ได้มีการนำสินทรัพย์ หรือรายการอื่นๆที่รพ.มีสถานะเป็นเจ้าหนี้มาใช้ในการหักลบหรือคิดคำนวณ ซึ่งหากพิจารณาทางบัญชีที่ถูกต้อง ตัวเลขไม่ได้สูงมากขนาดที่มีการเปิดเผยโดยบางองค์กร

     แนวทางการเติมเงินเข้าระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจะเป็นอย่างไร ยังเป็นคำถามต่อเนื่องในประเด็นเงินรพ.ไม่เพียงพอ

      ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จะต้องมีการปฏิรูประบบสาธารณสุข ปรับให้ดีขึ้น มิเช่นนั้น คงไม่มั่นคงและอาจไม่ยั่งยืน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขที่มีนพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารมว.สธ.เป็นประธาน อยู่ในกระบวนการหารูปแบบและแนวทาง ซึ่งจะให้เห็นแนวทางเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการทำคือการวางรากฐานพื้นฐานให้มั่นคง เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาเดินต่อไปได้

รมว.สธ.ตอบ 3 คำถาม"ระบบสาธารณสุข"จะไปทางไหน?

      คำถามสุดท้าย การปรับปรุงบัตรทองจะมีแนวทางอย่างไร                   ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.หรือบอร์ดบัตรทอง กล่าวว่า จะมีการแก้ไขปรับปรุงพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งมีการบังคับใช้มา 15 ปีแล้ว ยกร่างพรบ.ฉบับใหม่และได้ทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว ซึ่งมีความคิดเห็นที่เหมือนและต่างกันอีกเพียงไม่กี่ข้อ ทุกกลุ่มที่เห็นต่างน่าจะคุย หารือกันและตกลงร่วมกันได้ เพราะที่ผ่านมาเห็นสัญญาณของความร่วมมือและขัดแย้งน้อยลงระหว่างหน่วยงาน พรบ.ฉบับใหม่ที่รอเข้าสู่การพิจารณาของครม.จะช่วยให้ประสิทธิภาพระบบยั่งยืนได้ในระยะเวลาหนึ่ง เพราะจะบอกว่ายั่งยืนตลอดไปไม่ได้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งสิ่งแวดล้อม บริบทเปลี่ยนก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ ซึ่งประเด็นการปรับพรบ.ที่ยังเห็นต่าง เช่น เรื่องแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบฯเหมาจ่ายรายหัว ก็เชื่อว่าสามารถคุยกันได้ ไม่ใช่หลักขัดแย้ง จนต้องล้มการแก้ไขปรับปรุงพรบ.ใหม่ หรือ ประเด็นการร่วมจ่าย ในพรบ.เดิมมีกำหนดไว้อยู่แล้ว

     จะมีการร่วมจ่ายในสิทธิบัตรทองหรือไม่???  ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ตอบว่า จะมีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่ทุกคนทุกสิทธิ์จะได้เช่นเดียวกัน และเป็นสิทธิที่จะไม่ลดน้อยกว่าสิทธิในปัจจุบันที่ประชาชนได้รับอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปฯด้านสาธารณาสุขจะเป็นผู้วางรูปแบบแนวทางของสิทธิประโยชน์พื้นฐาน จากนั้นหากแต่ละสิทธิรักษาพยาบาลทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทอง พิจารณาว่าจะเพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรให้กับคนในสิทธิของตนเอง ก็เป็นเรื่องที่แต่ละสิทธิจะพิจารณาเพิ่มเติมเอง แต่ทั้งหมดจะเริ่มเมื่อพรบ.บัตรทองฉบับใหม่ผ่าน

       “คมชัดลึก”ถามต่อว่ามีข้อเสนอของแพทยสภาให้รพ.เขียนในระบบบัญชีระบุให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เป็นลูกหนี้ของรพ.ในกรณีที่สปสช.ยังไม่จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้รพ. เนื่องจากบางส่วนมองว่าที่ผ่านมารพ.บางแห่งไม่สามารถเบิกเงินจากสปสช.ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ควรได้ ทำให้มีเงินค้างท่อไม่ถึงรพ.

      ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขึ้นกับการพิจารณาของรพ.แต่ละแห่ง ต้องดูตามระบบบัญชี ไม่ใช่ว่าทุกรพ.ต้องทำแบบนั้น ให้แต่ละแห่งพิจารณาว่าเดิมมีค่ารักษาอะไรที่จัดเก็บได้ไม่ครบ ก็ให้หาแนวทางจัดเก็บให้ได้ให้ครบ ไม่ใช่พอจัดเก็บไม่ได้ก็แทงเป็นหนี้สูญ หากไม่ควรระบุเป็นหนี้สูญ ก็ให้ลงบัญชีเป็นภาวะหนี้ไว้และให้พยายามจัดเก็บให้ได้จริงตามที่รพ.ควรได้ เป็นการสร้างความจริงให้เกิดขึ้นว่า จุดไหนส่วนไหนที่รพ.ควรได้รับเงินแต่ไม่ได้ อย่างเช่น ที่ผ่านมา รพ.รักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัดไส้ติ่ง แต่รพ.กลับเบิกค่ารักษาระบุเป็นผ่าตัดไส้ติ่ง รพ.ก็จะได้รับเงินเฉพาะค่าผ่าตัดไส้ติ่ง แต่ค่ารักษาอื่นๆระหว่างเส้นทางการตรวจก่อนผ่าตัดไส้ติ่ง กลับไม่มีการส่งเบิก เป็นต้น

    ทั้งหมดนี้ เพื่อเป้าหมาย ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0 [email protected] 0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ