Lifestyle

3 ม.ค.นี้ ชี้ชัดร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยันร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ตอบโจทย์แก้ปัญหาประเทศ คาด 3ม.ค.นี้เข้าสู่การพิจารณาคกก.อิสระฯ เชื่อ ก.การอุดมศึกษาสำเร็จก่อนเลือกตั้งพ.ย.61

        ความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เปิดเผยว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการปฏิรูปการอุดมศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปการอุดมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะกรรมการอิสระฯ ซึ่งทุกฝ่ายได้คำตอบที่ตรงกันว่า การจะปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งการดำเนินงาน การสนับสนุน และการดูแล จำเป็นต้องมีกระทรวงการอุดมศึกษาขึ้นดูแล เพื่อให้การปฏิรูปอุดมศึกษาประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะต้องแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา  การผลิตบุคลากรที่เกินจำนวนความต้องการของตลาดแรงงานทำให้บัณฑิตตกงาน ซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดชอบ การแก้ปัญหาธรรมาภิบาล การสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางวิชาการกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย 
    “ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ที่ได้แก้ไขปรับปรุง จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาเท่านั้น  แต่จะต้องแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องที่อุดมศึกษาที่สร้างปัญหาของประเทศ เช่น การผลิตบัณฑิตแต่บัณฑิตว่างงาน นำไปสู่ปัญหาของประเทศ โดยปัญหาดังกล่าวเกี่ยวโยงทั้งเรื่องการอุดหนุนงบประมาณการศึกษา ซึ่งไม่เพียงพอ บางมหาวิทยาลัยได้งบประมาณเพียงพอแค่เงินเดือนของบุคลากร จึงจำเป็นต้องรับนักศึกษาให้มากเพียงพอที่จะได้เงินมาบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ดังนั้นจะโทษมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียวก็ไม่ถูก เนื่องจากสถานการณ์บังคับ รวมถึงค่านิยมของสังคมและการกำหนดราคาปริญญาให้ได้เงินเดือน 15,000 บาท เป็นส่วนทำให้คนมุ่งหวังเรียนให้ได้ปริญญาตรี เพราะได้รับสัญญาว่า จบปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 15,000 บาท ทั้งที่คนทำงานระดับอาชีวศึกษามีความจำเป็นกับประเทศเช่นกัน แต่อาชีวศึกษาไม่ได้รับการประกันหรือการันตีเงินเดือนเหมือนปริญญาตรี" ศ.นพ.จรัส กล่าว

         ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีคนว่างงาน 3 แสนคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นบัณฑิต ส่วนเกษตรกรหรือคนทำงานในพื้นที่ต่างๆ กลับมีงานทำ เรื่องนี้ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะมีส่วนแก้ไขคือ การกำหนดให้มหาวิทยาลัยส่งข้อมูลผู้เรียน หรือ ข้อมูลบัตรประชาชน เลข 13 หลัก เพื่อจะได้ทราบว่าใครเรียนอยู่ที่ใด สาขาอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อให้ฝ่ายกำหนดนโยบายได้ใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผน และเป็นข้อมูลสาธารณะ ให้นักเรียน ผู้ปกครองทราบว่า แต่ละสาขามีผู้เรียนเท่าไร อีกทั้งภาครัฐ ต้องมีหน่วยงานที่ให้ข้อมูลกับสาธารณะว่า สภาพการจ้างงานในอนาคตเป็นเช่นไร อาทิ ปัจจุบันตลาดแรงงานต้องการงานประเภทใด และในอนาคต อาชีพใดเป็นที่ต้องการ หรือ อาชีพใดจะหายไป ซึ่งต่างประเทศจะประกาศสภาพการจ้างงานให้สาธารณขนทราบและว่า ทั้งนี้ คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการอิสระฯ ในวันที่ 3 ม.ค.นี้  
    ด้าน ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ  ซึ่งมีคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งฯ เข้าร่วมเป็นกรรมการ เห็นตรงกันเกี่ยวกับการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา โดยนำร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ของคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งฯ เป็นฐานในการปรับปรุง เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อสรุปร่วมกัน ก็จะถือว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ของคณะกรรมการอิสระ ฯ โดยมีการปรับปรุงบางอย่าง อาทิ จำนวนของคณะกรรมการการอุดมศึกษา  เป็น 18 คน และเพิ่มอำนาจของกกอ. โดยเดิมดูแลเฉพาะด้านวิชาการและมาตรฐานหลักสูตร แต่ล่่าสุดได้ข้อสรุปคือ ให้ กกอ.มีอำนาจการพิจารณามากขึ้น ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้นงานบุคากร ที่ให้ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ดูแล

      ทั้งนี้  เพราะต้องการให้ กกอ.เป็นตัวกลั่นกรองที่สำคัญ เนื่องจากเราไม่ต้องการให้รัฐมนตรีเข้ามากำกับดูแลทั้งหมด จึงยกระดับอำนาจของ กกอ.ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับอำนาจของรัฐมนตรี ไม่เช่นนั้น อำนาจก็จะอยู่ที่รัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้คณะทำงานเตรียมการจัดตั้งฯ เห็นด้วย 
    “คาดว่าร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในต้นเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าใช้เวลา 4 เดือน จากนั้นเป็นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ อีกประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งคาดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นไปตามโร้ดแมปและนโยบายของนายกฯ ที่ต้องการผลักดันเรื่องกระทรวงการอุดมศึกษาให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ย.2561” ศ.นพ.อุดม กล่าว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ