Lifestyle

ฟิตร่างกายเดินทางหลังฉลองปีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการง่วง อย่าฝืนขับ ป้องกันอุบัติเหตุจากการหลับใน

        ในวันที่ 2 มกราคม 2561 ประชาชนจะเริ่มเดินทางกลับเข้าทำงานหลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าข้อมูลในปีที่ผ่านมา พบผู้บาดเจ็บจากการจราจรจากการหลับใน เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอน หรือมีอาการเมาค้างจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ติดต่อกันหลายวัน ซึ่งจะมีผลต่อการขับขี่พาหนะ ทำให้ประสาทสัมผัสช้าลง สมองตื้อ การตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย สมองสั่งการกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

      “จึงขอย้ำเตือนผู้ขับขี่ให้เตรียมร่างกายให้พร้อมเดินทาง โดยพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมได้ เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยากันชัก เป็นต้น เพราะการดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะมีผลให้การตัดสินใจช้ากว่าปกติถึง 2 เท่าตัว และหากระยะทางไกลควรมีผู้ผลัดเปลี่ยนขับรถได้จะเป็นการดี”

          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า วิธีการแก้อาการง่วงนอนขณะขับรถมีหลายวิธี เช่น รับประทานของขบเคี้ยวที่มีรสเปรี้ยวหรือดื่มเครื่องดื่มแช่เย็น จะช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า หรือเปิดหน้าต่างรถให้อากาศถ่ายเท และให้ลมปะทะหน้า เปิดเพลงฟังดังๆ จังหวะเร็ว หรือร้องตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้ขับขี่หรือผู้ร่วมเดินทาง ช่วยกันสังเกตสัญญาณของอาการง่วง หลับในของผู้ขับ ซึ่งมี 8 ประการ ได้แก่ 1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย 4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2 - 3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 5.รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ มองเห็นภาพไม่ชัด 6.รู้สึกมึนหนักศีรษะ 7.ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง และ8.มองข้ามสัญญาณไฟ และป้ายจราจร หากมีอาการดังกล่าวเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้จอดรถในที่ปลอดภัยเพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อหรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน   อย่าฝืนขับเด็ดขาด และเมื่อขับรถทางไกล 4 ชั่วโมงต้องหยุดพัก   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ