Lifestyle

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชุมชนท้องถิ่นจะยั่งยืนได้ต้องเกิดจากการพัฒนาร่วมมือของคนในชุมชนเป็นสำคัญ หากเจ้าบ้านเจ้าถิ่นไม่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองก็คงไม่มีใครช่วยได้

         วิทยาลัยชุมชน (วชช.) ตราด 1 ใน 20 ของสถาบันวิทยาลัยชุมชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มศักยภาพ ความรู้ความสามารถให้แก่คนในชุมชน โดยชุมชนต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้เลือกว่าต้องการให้ทางวชช.เข้าไปช่วยเหลือ พัฒนาในเรื่องใด

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

         ดร.กรรณิกา สุภาภา ผู้อำนวยการวชช.ตราด เล่าว่ากว่า 5 ปีที่ผ่านมา วชช.ตราด เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ ซึ่งหัวใจหลักของการลงพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ลงไปถึง แต่ต้องเข้าถึงหัวใจของคนในพื้นที่นั้นๆ ด้วยชุมชนบ้านแหลมมะขาม เป็นชุมชนต้นแบบที่เกิดจากความร่วมมือ ช่วยเหลือจากวิทยาลัยชุมชนตราดในการพัฒนาคน อาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตได้ประสบความสำเร็จ

          “จุดเริ่มต้นระหว่างวิทยาลัยชุมชนและชุมชนแต่ละแห่งต้องเกิดจากความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เราเดินไปบอกว่าจะทำนั้นทำนี้ ดังนั้นความร่วมมือในการยกระดับชุมชนบ้านแหลมมะขาม จึงเป็นการเริ่มจากศูนย์ คือต่างฝ่ายต่างไม่ได้รู้จักกัน เพราะต่อให้อาจารย์ บุคลากรของวชช.เป็นชาวจังหวัดตราด แต่เมื่ออยู่คนละอำเภอ คนละท้องถิ่นย่อมไม่เข้าใจวัฒนธรรมชุมชนอื่นๆ เมื่อทางชาวบ้าน ผู้นำชุมชนบ้านแหลมมะขาม เดินเข้ามายังวชช.เพื่อให้ช่วยเหลือ พัฒนาตามศักยภาพ ความต้องการของชุมชน การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย วชช.ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ขณะที่ชาวบ้านได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ศักยภาพต่างๆ” ดร.กรรณิกา กล่าว

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

ดร.กรรณิกา สุภาภา

           “ชุมชนบ้านแหลมมะขาม อ.แหลมงอบ จ.ตราด" มีจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมและต้องการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดร.กรรณิกา กล่าวต่อไปว่า ชุมชนจะพัฒนาได้ต้องรู้ว่าบ้านเกิดของตนมีดีอะไร ยิ่งถ้าคิดจะขายท่องเที่ยวต้องมีของดี และชุมชนต้องมีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ผู้นำชุมชนต้องมีวิสัยทัศน์ซึ่งชุมชนบ้านแหลมมะขามมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดชุมชนคุณภาพทั้งหมด เป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ มี 2 ประวัติศาสตร์ 2 ศาสนา 3 วัฒนธรรม

           ชาวบ้านมีความรู้พื้นฐาน หรือ Tacit Knowledge ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ได้ เนื่องจากเขาเห็นทุกวันจนไม่รู้สึกตื่นเต้น ไม่คิดว่าใครจะสนใจ เมื่อทางวชช.ตราด ไปในพื้นที่ โดย มีผอ.วชช. และอาจารย์อมร ไชยแสน โครงการจัดการความรู้เพื่อการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน วชช.ตราด รวมถึงนักวิชาการท่านอื่นๆ เข้าไปช่วยบริหารจัดการการเรียนรู้แก่ชาวบ้าน

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

         ให้องค์ความรู้ที่เขามีอยู่เป็นรูปธรรม สามารถถ่ายทอดแก่สาธารณะ ดึงความรู้ ศักยภาพของชาวบ้านออกมา ผ่านการอบรม เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องต่างๆ จนทำให้เกิดโปรแกรมการท่องเที่ยว อบรมนักสื่อความหมายท้องถิ่นและเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาในพื้นที่จริงๆ ทั้งหมดเป็นกระบวนการวิจัย การทดลองเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

         “วชช.ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งจะสร้างได้ ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงเติมเต็มเท่านั้น แต่ต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ตัวตนของชุมชนที่แตกต่างและมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันให้คงอยู่ต่อไป ดังนั้นการพัฒนาชุมชน การถอดบทเรียนเรื่องราวต่างๆ ต้องเป็นการปลูกฝังชุมชนให้รัก รู้จักถ่ายทอดเรื่องราวชุมชนของตนเอง ศักยภาพของชาวบ้าน และไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ของชุมชน ชุมชนบ้านแหลมมะขามจึงเป็นโมเดลของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ความสำเร็จของวชช.ได้ร่วมจัดการความรู้ การเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบไปสู่ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่ ที่เกาะกูด” ดร.กรรณิกา กล่าว

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

นายสุเทพ บุญเพียร ผู้ใหญ่บ้านแหลมมะขาม

         ด้าน นายสุเทพ บุญเพียร ผู้ใหญ่บ้านแหลมมะขาม ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม กล่าวว่า ชาวบ้านรู้จักพื้นที่ของตนเองแต่ไม่รู้ว่าจะพัฒนาชุมชนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งคนในพื้นที่และอนุรักษ์วัฒนธรรม ท้องถิ่นให้คงอยู่ วชช.ตราด เป็นเสมือนธนาคารความรู้ของชุมชน ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มหลักการ วิชาการในส่วนที่ชาวบ้านไม่รู้ ไม่เข้าใจ ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ได้แลกเปลี่ยนทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ อาจารย์จากวชช.ตราด ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะชีวิตสร้างงาน สร้างรายได้ และที่สำคัญมีความรัก เห็นคุณค่าสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของชุมชนตนเอง

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

       “กลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม จัดโปรแกรมท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน ตามที่วชช.ตราดเข้ามาให้ความรู้ โดยมีศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง บ้านหุ่นไม้กระดาน ภาพจิตกรรมฝาผนังอุโบสถวัดแหลมมะขาม และโต๊ะวาลี รวมถึงมีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวได้ครั้งละ 30 คน ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่น กินอาหารพื้นบ้าน และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมายให้เลือกสรรแล้วยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สร้างงาน สร้างรายได้ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยาง เมื่อว่างจากกรีดยางก็จะไม่มีอย่างอื่นทำ อีกทั้งในหมู่บ้านมีผู้สูงอายุจำนวนมาก บางคนเป็นโรคซึมเศร้า อยู่บ้านเฉยๆ เมื่อวชช.ตราด ได้เข้ามาจัดกระบวนการทำงาน เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทำให้ทุกคนมีความสุข มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีขึ้น ดังนั้นอยากให้ทุกชุมชนร่วมกับวิทยาลัยชุมชนในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อร่วมกันดูแล รักและหวงแหนท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป” นายสุเทพ กล่าว

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

         เช่นเดียวกับ ป้าวาสนา สิงหพันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านอ่าวใหญ่ เกาะกูด กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน มีวิถีชีวิตชาวประมง ว่างจากหาปลาก็มาทำกุ้งแห้ง ปลาเค็ม และเมื่อก่อนก็มีซ่อง มียาเสพติด แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านอยากทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น และอยากเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยว เพราะชุมชนมีเรื่องราว มีวิถีชีวิตดั้งเดิม เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะบอกกล่าว สื่อสารให้ผู้อื่นได้รู้ เมื่อเกิดการร่วมกลุ่มชาวบ้านและทาง วชช.ตราดเข้ามาโดยพยายามปรับให้สอดคล้องกับชุมชนบ้านอ่าวใหญ่ ดังนั้น วชช.ตราด เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

วาสนา สิงหพันธ์

        “ชุมชนมีของดีมากมาย แต่เราไม่รู้ว่าจะจัดการเรื่องเหล่านี้ให้มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเมื่อเข้ามาช่วยเสริม จัดการความรู้ของชุมชนให้เป็นกระบวนการ โปรแกรมการท่องเที่ยว อบรมการเป็นนักสื่อสารที่ดี ทำให้รู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และร่วมอนุรักษ์พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่ไว้ เพราะหากไม่มีสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วย ด้วยความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ที่เข้ามาในชุมชนอาจทำให้ชาวบ้านเกิดความหลงใหล และหลงลืมวัฒนธรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้การดำเนินการพัฒนาชุมชนจะเกิดขึ้นจริงได้ต้องเริ่มจากคนในชุมชนอยากทำ อยากร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน และเห็นคุณค่าบ้านเกิดของตนเองก็จะสามารถช่วยสร้างชุมชน สังคมเข้มแข็งขึ้นมาได้”

@วชช.ตราด สร้างชุมชนเข้มแข็ง ไม่ละทิ้งตัวตน

        “เข้าใจ เข้าถึง และรวมพลังของคนในชุมชน” เป็นหลักในการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพ โดยชุมชนต้องเหลียวมองของดีของชุมชน มีความศรัทธา และมุ่งมั่นที่จะร่วมกันพัฒนาคนท้องถิ่น

oชุลีพร อร่ามเนตรo

[email protected]

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ