Lifestyle

ขจัดปัญหากัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มจธ. ร่วมกับ กทม. วางแผนป้องกัน และชะลอปัญหาการกัดเซาะ กักเก็บตะกอนเพื่อเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน

      พื้นที่เขตบางขุนเทียน เป็นพื้นที่ติดอ่าวไทยตอนบน ซึ่งประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จากการสำรวจเบื้องต้นพบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนไม่ต่ำกว่า 10 เมตรต่อปี สอดคล้องกับในช่วงเวลานี้นโยบายการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองไร้สาย เพื่อการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ทำให้มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้า และถูกนำมาใช้กับโครงการป้องกันและชะลอปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ดังกล่าว 

ขจัดปัญหากัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

       กรุงเทพมหานคร ประสานให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดี มจธ. บางขุนเทียน  ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำ มจธ. และคณะทำงาน เข้าร่วมศึกษาการแก้ปัญหาในครั้งนี้ โดยในระยะแรก เสาไฟฟ้าที่นำมาใช้ในโครงการนี้ มีขนาด 25x25 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร จำนวน 800 ต้น

ขจัดปัญหากัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

           ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี  ผอ.ศูนย์วิจัยวิศวกรรมและการจัดการน้ำ (วารี) มจธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านชลศาสตร์ ได้กล่าวถึงคำแนะนำเชิงเทคนิคว่า ลมเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดคลื่น และมีการเปลี่ยนทิศตามฤดูกาล ซึ่งคลื่นที่เข้ามากระทบชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนได้รับอิทธิพลจากปากอ่าวไทย ส่งผลให้คลื่นที่เข้ามา ทำมุมเฉียงกับชายฝั่ง

        จึงได้ออกแบบการปักเสาไฟฟ้าให้มีลักษณะเฉียง เพื่อรองรับคลื่นที่เข้าปะทะ กับชายฝั่ง  ผังการปักเสาไฟฟ้ามีลักษณะเป็นกลุ่ม ซึ่งมีรูปแบบเป็นสามเหลี่ยมขนาด 1.5 เมตร x  1.5 เมตร ตอกตลอดระยะทาง 4,700 เมตร เท่ากับขอบเขตชายฝั่งของกรุงเทพมหานคร  และจากการที่จำนวนเสาไฟฟ้าที่มีขนาดเหมาะสมและไม่เล็กเกินไปที่กรุงเทพมหานครได้รับมานั้นมีอยู่อย่างจำกัด จึงคัดเลือกเสาไฟฟ้าขนาด 25x25 เซนติเมตร ยาว 12 เมตร จำนวน10 ต้นต่อหนึ่งชุด มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสา 50 เซนติเมตร

ขจัดปัญหากัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

เสาไฟฟ้ารับคลื่นจากนอกชายฝั่ง 

       ตำแหน่งที่กำหนดแนวตอกเสาไฟฟ้านั้น จะอยู่ด้านนอกของชายฝั่ง ห่างจากแนวเสาไม้ไผ่ ที่ตอกไว้อยู่ก่อนแล้ว และจากการที่น้ำทะเลนั้นมีขึ้นมีลง ระดับน้ำทะเลปานกลางมีความสูงจากพื้นดินโคลนประมาณ 2 เมตร  ซึ่งหากน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ระดับน้ำทะเลจะสูงเหนือพื้นดินประมาณ 3.5 เมตร  ดังนั้นในการสร้างแนวป้องกัน ปลายยอดเสาไฟจะต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 4.5 เมตร เพื่อให้เรือเล็กที่สัญจรทางน้ำมองเห็นยอดเสาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด  

       โครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนด้วยการปักเสาไฟฟ้านี้จะทำให้คลื่นที่มีความยาวน้อยกว่า 3 เมตร ที่เข้าปะทะกับเสาไฟฟ้ามีความสูงคลื่นเล็กลง เนื่องจากคลื่น ที่มีความยาวน้อยถึงปานกลางนี้ เมื่อเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในกลุ่มเสาไฟฟ้าที่ตอกเป็นผังรูปสามเหลี่ยม จะมีการสลายพลังงานคลื่นภายในกลุ่มเสาไฟฟ้าได้บางส่วนก่อนที่คลื่นจะเคลื่อนที่ไปยังแนวเสาไม้ไผ่ ที่อยู่ด้านในใกล้ฝั่งต่อไป  จึงส่งผลต่อพลังงานของคลื่นที่เข้ามาปะทะกับพื้นที่ชายฝั่งลดลง ช่วยชะลอปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล  

ขจัดปัญหากัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน

เขื่อนไม้ไผ่อยู่ด้านหลังเสาไฟฟ้า

      ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า มีโครงการที่ทำการศึกษาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกัน คือ การสร้างธรณีกั้นตะกอนกลับ โดยเมื่อกระแสน้ำชายฝั่งพัดตะกอนเข้ามา หากทำธรณียกระดับให้มีความสูงจากพื้นดินโคลนประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเก็บตะกอนไว้ไม่ให้กระแสน้ำพัดตะกอนออกจากชายฝั่ง เป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อช่วยชะลอปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มฝั่งทะเล เมื่อตะกอนเริ่มกลับเข้ามาสู่ชายฝั่งจึงขยายพื้นที่การติดตั้งธรณีเป็นระยะ เพื่อคืนสมดุลให้กับธรรมชาติ เมื่อมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น ต้นไม้จะมีพื้นที่ในการขยายพันธุ์และช่วยรักษาหน้าดินด้วย 

      ประโยชน์ที่ได้จากโครงการข้างต้นนี้  คือการนำเสาไฟฟ้าที่เลิกใช้แล้วนำมาประยุกต์กับการป้องกัน และบรรเทาปัญหาที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาต้องมีการวางแผนระยะยาว ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา การนำเทคนิคทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มาช่วยชะลอปัญหา จึงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ