Lifestyle

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เมื่อไทยติดท็อปเท็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุดในโลก...

        โดยในปี 2559 คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356 คน เฉลี่ย 62 คนต่อวัน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 คนต่อแสนประชากร โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือในจำนวนนี้ต้องกลายเป็นคนพิการ 5,000 คน จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกพื้นที่ต้องช่วยกันเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตของผู้ขับขี่ยานพาหนะ หนึ่งในจังหวัดที่มีการจัดการความปลอดภัยทางถนนได้ในระดับดี คือ “ภูเก็ต” จนเป็นต้นแบบให้ 11 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก หรือฮู-ซี (WHO South-East Asia) เดินทางมาศึกษาดูงาน  

         ย้อนไปเมื่อราว 5 ปีก่อน จ.ภูเก็ต มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 227 ราย หรือ 62.38 คนต่อแสนประชากร เหลือเพียง 130 คน หรือ 34.76 คนต่อแสนประชากรในปี 2559 ลดลงได้เกือบครึ่ง การบาดเจ็บที่ศีรษะลดลงจาก 37.1% ในปี 2554 เหลือ 20.6% ในปี 2558 และผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับลดลง 8.8% จากปี 2558 ถึง 2559 ด้วยปัจจัยความสำเร็จใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการอย่างเข้มแข็ง 2.แก้ไขจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และ 3.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

         มิติของการบังคับใช้กฎหมาย พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต(ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.ภูเก็ต มีการบังคับใช้กฎหมายทั้งการสวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ตรวจจับความเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมการทำงาน เช่น เครื่องยิงตรวจวัดความเร็ว (Speed Gun) กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera) ซึ่งสามารถตรวจจับผู้กระทำผิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 5 จุด เน้นพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่างๆ และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 5 จุด ส่งผลให้ในปี 2560 สามารถตรวจพบผู้ฝ่าฝืนเรื่องความเร็วถึง 2,149 ราย  อีกทั้ง เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ส่งผลให้จำนวนการเรียกตรวจและดำเนินคดีดื่มแล้วขับเพิ่มจากเดิมกว่า 10 เท่า  โดยภูเก็ตมีอัตราการตรวจแอลกอฮอล์สูงสุดในภาคใต้ รวมถึง ปรับปรุงป้ายเตือนกล้องตรวจจับให้ชัดเจน เห็นได้ง่ายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

        อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถตรวจพบผู้กระทำความผิดได้มากขึ้นและออกใบสั่งส่งไปที่บ้านเพื่อให้เจ้าของรถมาเสียค่าปรับราว 1 หมื่นใบต่อเดือน แต่พบว่ามีผู้มาชำระค่าปรับเฉลี่ยเพียง 24.4% เท่านั้น ยังเป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขต่อไป 

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

         ส่วนของท้องถิ่น นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า เทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยนายกเทศมนตรีให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว มีนโยบายสำคัญๆ คือ 1.แก้ไขจุดเสี่ยง โดยปรับสภาพถนนให้ปลอดภัย ติดไฟส่องสว่าง ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 จ.ภูเก็ต แก้ไขจุดเสี่ยงโดยอาศัยข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมได้กว่า 200 จุด  อาทิ การสร้างวงเวียนสุรินทร์-นริศรทำให้การบาดเจ็บบริเวณทางแยก ลดจาก 17-36 รายระหว่างปี 2556-2559 เหลือ 0 ในปี 2560 และการแก้ไขจุดเสี่ยง 16 จุด ทำให้ยอดการบาดเจ็บที่จุดแก้ไขลดลง 57 ราย เสียชีวิตลดลง 8 ราย ระหว่างปี 2558-2559 2.จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ปลดป้ายโฆษณาที่กีดขวางทัศนวิสัยในการมองเห็น 3.มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ จับ-ปรับ กรณีที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถบรรทุกทำเศษหินดินตกหล่นบนถนน และ 4.สร้างความตระหนัก ด้านความปลอดภัย รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งผลให้ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards ด้านความปลอดภัยทางถนนและได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีเมื่อปี 2558

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

         ยามเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น จ.ภูเก็ต มีการจัดระบบหน่วยแพทย์ฉุกเฉินร่วมกันทั้งหน่วยพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินที่ รพ.วชิระภูเก็ต  นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต บอกว่า  ศูนย์รับแจ้งเหตุนี้จะรับเรื่องเหตุฉุกเฉินทั้งอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุที่โทร.1669 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ในการสอบถามเหตุการณ์ ตำแหน่งที่เกิดและประเมินความรุนแรง และพิจารณาว่าจะให้รถพยาบาลจากจุดไหนที่เตรียมพร้อมอยู่ทั่วพื้นที่ จ.ภูเก็ต เข้าไปรับผู้ป่วย ซึ่งในรถพยาบาลทุกคันจะมีการติดตั้งระบบจีพีเอสติดตามรถทุกคันเพื่อให้รู้ตำแหน่งรถ รู้ว่าอีกกี่นาทีจะถึงสถานพยาบาล 

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

         นอกจากนี้ ภายในรถมีการติดตั้งระบบเทเลเมดิซีน(Telemedicine) ที่จะสามารถถ่ายทอดภาพผู้ป่วย เสียงจากภายในรถพยาบาล รวมถึงส่งสัญญาณชีพ และข้อมูลอื่นๆที่จำเป็นมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการผู้ป่วยได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล สามารถเตรียมพร้อมในให้การรักษาผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อรถพยาบาลเดินทางถึงโรงพยาบาล อย่างเช่น หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดก็จะสามารถทราบได้ว่าต้องใช้แพทย์เฉพาะทางสาขาไหน จะได้มีการเตรียมห้องผ่าตัดและทีมแพทย์ไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องมาเตรียมการหลังคนป่วยมาถึงห้องฉุกเฉิน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น 

         นี่คือต้นแบบที่ทุกภาคส่วนพยายามร่วมกันดำเนินการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนน แต่เหนืออื่นใด คนไทยเองจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ด้วยการมีสติขณะใช้ถนน ไม่ประมาท ทำตามกฎหมาย สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อจะขับขี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือยามขับรถ ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเองทั้งสิ้น 

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบฮู-ซี ความปลอดภัยทางถนน

          “ในประเทศไทยอุบัติเหตุทางถนน 80% เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งหากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ทำตามกฎหมายด้วยการสวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ จะลดการบาดเจ็บรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 1 ใน 3 ตอนนี้ไทยมีกฎหมายสวมหมวกนิรภัย แต่บังคับใช้ได้สูงสุดใน จ.ภูเก็ต ที่ 60% อยากให้คนไทยให้ความสำคัญเรื่องนี้ ต้องถามว่าค่าหมวกนิรภัยกับค่าหัวของตัวเองอะไรแพงกว่า และขอให้นึกไว้เสมอว่าวินาทีเดียวเท่านั้นเกิดความสูญเสียได้และเปลี่ยนทั้งชีวิตแบบไม่หวนกลับคืน ในการขับขี่รถ ต้องมีสติ รอบคอบ ไม่ประมาท ต้องสวมหมวก คาดเข็มขัดนิรภัย ให้ความรู้บุตรหลานการขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ และใส่ใจทำตามกฎหมายต่างๆ ที่สร้างความปลอดภัยให้ตนเอง” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ฝากให้ตระหนัก 

0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

[email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ