Lifestyle

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เนื่องในวโรกาสวันคล้ายพระราชสมภพในหลวง ร.9 มศว จัดงาน“ 5 ธันวาคม ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน” แสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

          งาน “ 5 ธันวาคม ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน” จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงไม่ว่าจะเป็น แสงเทียน ยามเย็น ชะตาชีวิต พระราชาในนิทาน ยิ้มสู้ บรรเลงโดยวง SWU BAND รวมทั้งการแสดงรำไทย การแปลอักษรคำว่า “๙ น้อมรำลึก มศว ของผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร”

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
          สมาชิก SWU BAND มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ส่วนใหญ่เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีดุริยางคศาสตร์สากล มีตั้งแต่ชั้นปี 1 ไปจนถึงชั้นปี 4 เป็นการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของเยาวชนที่รักในสายดนตรี

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
"แนส -ชวาล บุญเอียด"          

          ในฐานะที่เป็นคนตีความหมายของบทเพลง โดยให้เห็นภาพรวมทั้งหมดของวงดนตรี หรือที่เรียกว่า “วาทยกร” เขาทำอย่างสุดความสามารถเพื่อพ่อหลวงอย่าง "แนส -ชวาล บุญเอียด" อายุ 22 ปี นศ.ปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีดุริยางคศาสตร์สากล ผู้อำนวยเพลงวง SWU BAND ที่มีทั้งลีล่า ท่าทาง โดยใช้ภาษามือในการสื่อสารกับคนภายในวงได้อย่างแม่นยำเพื่อให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
          แนส เล่าว่า เขาภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำหรับเขาเพลงพระราชนิพนธ์มีเสน่ห์ทุกเพลงและที่สำคัญมีความหมายอย่างลึกซึ้งกินใจ ที่เขารักในเสียงดนตรีก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ดั่งพระราชดำรัสที่ว่า
          “ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า…ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป…” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนสหรัฐเมริกาในปี 2503 พระองค์ได้พระราชทานให้สัมภาษณ์แก่วิทยุกระจายเสียงอเมริกา)

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
          แนส รักในดนตรีตั้งแต่ ป.5 เมื่อก่อนเป็นนักดนตรีของโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ มีผลงานมากมายทั้งทำวงดนตรีโปงลาง วงคอมโบ และเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา โดยเข้าวง SWU BAND ตอน ปี.1 ช่วงแรกเขาทำหน้าที่เป่าแซกโซโฟน และเรียบเรียงเสียงประสาน ปัจจุบันเขาเรียนอยู่ ปี 4 ทำหน้าที่เป็น “วาทยกร” หรือผู้อำนวยเพลง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญสุดของวง
          “สำหรับผมดนตรีและเพลงมีเสน่ห์ในตัวมันเองทั้งคอร์ด เมโลดี้ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดยนักดนตรี มันจึงเป็นความอิ่มเอิบ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราต้องการฟังอย่างไม่รู้จบ และแต่ละบทเพลงมีความแตกต่างกันโดยอารมณ์ไม่ว่าจะเศร้า สนุก ชิวๆ เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิตที่ให้ความรู้สึกเรื่อยๆ แต่ในทำนองและเนื้อร้องช่างมีความหมายลึกซึ้ง อันนี้คงเป็นเหตุผลหนึ่งก็ว่าได้ที่ทำให้ผมหลงรักดนตรี” แนส เล่า

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
“ช็อป-ณัฐชนน ตรัสสุภาพ”         

          ขณะที่ “ช็อป-ณัฐชนน ตรัสสุภาพ”  ผู้ที่ใช้แรงลมเป่ายูโฟเนียมของวง SWU BAND ได้อย่างไพเราะ ช็อปเรียนคณะเดียวกับแนส สาขาดุริยางคศาสตร์สากล ปี 3 เล่าว่า เขาไม่ได้รักการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากที่บ้านอยากให้เขาเรียนดนตรี หลังจากที่เขาตัดสินใจเรียนดนตรี เขากลับรู้สึกชอบและมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้หยิบเครื่องดนตรีมาเล่นโดยเฉพาะเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง ร.9 ที่มีทั้งความไพเราะและให้ความรู้สึกถึงอารมณ์ของเพลงได้เป็นอย่างดี

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
          ช็อป เรียนจบสายวิทย์ คณิต จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทางด้านดนตรี และได้อ่านเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความสามารถทางดนตรีทุกประเภท ทำให้มีแรงบันดาลใจมากขึ้น

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
          "ผมบอกได้เลยว่าเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโน้ตที่ยากมากต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ในวันนี้ผมสามารถเป่ายูโฟเนียมเพลงพระราชนิพนธ์ของท่านได้ทุกเพลง ทุกโน้ต มันคือความภาคภูมิใจอันสูงสุดของผม” ช็อป เล่า

สุดความสามารถเพื่อพ่อหลวง “SWU BAND” มศว
“ อ.โป้ง สิชณม์เศก ย่านเดิม”         

           ความภาคภูมิใจครั้งนี้ คงไม่มีใครเกินผู้ควบคุมวงอย่าง “ อ.โป้ง สิชณม์เศก ย่านเดิม” หัวหน้าสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล เล่าว่า วงดนตรี SWU BAND ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปี แต่ดูแลวงดนตรีมา 6 ปี สำหรับงาน “ 5 ธันวาคม ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจแห่งแผ่นดิน” ใช้เวลาฝึกซ้อมนักศึกษาประมาณหนึ่งเดือนก่อนวันจริง รู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูกศิษย์มากที่มีความตั้งใจและมุมานะในการฝึกซ้อมบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเป็น เพลงแสงเทียน ขับร้องโดย อลิตา แบล็ทเลอร์ เพลงยามเย็น ขับร้องโดย ชานนท์ บุตรพุ่ม เป็นต้น
          “สำหรับงานนี้ ผมใช้เวลาฝึกซ้อมลูกศิษย์มากพอสมควรเพื่อให้ออกมาดีที่สุด เนื่องจากทำเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และดีใจที่นำพาลูกศิษย์มาบันทึกเรื่องดีๆ ให้เขาได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์ท่าน เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและไม่ทิ้งอาชีพสายดนตรี ” อ.โป้ง กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ