Lifestyle

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โปรแกรมออนไลน์ Volunteer Matching สร้างจิตอาสาช่วยอ่านหนังสือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้แก่เด็กผู้พิการทางสายตา เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

          อาสาสมัครทีเอ็มบีจากสำนักงานใหญ่  ได้พัฒนาโปรแกรมออนไลน์ ที่จะช่วยบริหารจัดการหรือจับคู่ความถนัดของอาสาสมัครและความต้องการของเยาวชนผู้พิการทางสายตาให้แมตช์กันได้ที่ Volunteer Matching รวมทั้งจัดทำคลิปวีดีโอแนะแนวการเป็นอาสาสมัคร เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตาได้อย่างยั่งยืน

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา

          ภายใต้โครงการ “จิตอาสาเพื่อน้องผู้พิการทางสายตา” โดยร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งเป็น 1 ใน 37 กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืนทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด TMB Make THE Difference   

          บุญทักษ์  หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี  เปิดเผยว่า “โครงการจิตอาสาเพื่อน้องผู้พิการทางสายตา เป็นกิจกรรมของไฟ-ฟ้า โดยมูลนิธิทีเอ็มบี ที่จัดทำขึ้น  37 โครงการทั่วประเทศ เพื่อจุดประกายให้คนในชุมชนออกมาร่วมกัน “เปลี่ยน”

           ซึ่งเกิดจากแนวคิด Make THE Difference โดยเริ่มจากศึกษาปัญหา ช่วยกันคิด วิเคราะห์ ลงมือทำ โดยส่งเสริมอาสาสมัครทีเอ็มบีในการทำงานเพื่อสังคมร่วมกับชุมชน ในขณะที่สังคมมีการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แบงก์นำดิจิทัลส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา

          "ครั้งนี้เรานำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ระบบออนไลน์ที่จะช่วยจับคู่ความต้องการของเยาวชนผู้พิการทางสายตา และความถนัดของอาสาสมัคร รวมทั้งเวลาที่จะมาเจอกันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาการเรียนแก่เยาวชนผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน" "บุญทักษ์" กล่าว

           มนตรี ถิรศักดิ์ธนา  อาสาสมัครทีเอ็มบี  หัวหน้าทีมคิดค้นโปรแกรมออนไลน์ Volunteer Matching เปิดเผยว่า "เด็ก"  ที่พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้ได้เหมือนคนทั่วไป แต่ด้วยข้อจำกัดของจำนวนครูที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้เสียโอกาส จึงได้คิดโปรแกรม Volunteer Matching ใช้งานง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกแห่ง เป็นกลไกในการสื่อสารและจับคู่ ความต้องการทั้งผู้ให้และผู้รับ คือเด็กพิการทางสายตา สามารถลงข้อมูลต้องการอาสาสมัครวิชาไหน วัน/เวลาที่สะดวก เช่นเดียวกับอาสาสมัครที่ลงข้อมูลความถนัด เวลาสะดวก ซึ่งถ้าข้อมูลแมตช์กันได้  ก็สามารถกดยืนยันได้ทันที นอกจากนี้ยังได้จัดทำคลิปวีดีโอแนะแนวการเป็นอาสาสมัคร

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา

            ดร.มัลลิกา บุณยคุปต์ จิตอาสาที่ช่วยผลักดันน้องปวินท์ ผู้พิการไทยคนแรกที่สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโปรแกรม Volunteer Matching ว่า โปรแกรมนี้จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด โดยอาสาสมัครที่ดีจะต้องรู้จักการแบ่งเวลา เตรียมเวลา ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ

     เพราะเชื่อว่า การให้โอกาสทางการศึกษาจะช่วยให้บุคคลนั้นมีการพัฒนาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นค่ะ ด้วยความที่เราเห็นถึงความตั้งใจ ความทุ่มเทของน้อง เราก็หาช่องทางทุกอย่าง ที่จะช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ก่อนที่น้องปวินท์ จะเข้าจุฬาฯ ก็ไปรับมาอ่านหนังสือของวิศวะ เตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเรียน

          ปวินท์ เปี่ยมไทย นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปี 2  กล่าวว่าเขาผ่านถึงจุดนี้ได้ เพราะพี่ๆ อาสาสมัครที่ช่วยเหลือกันมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องช่วยอ่านหนังสือซึ่งสำคัญมาก พอมีพี่ๆ อาสาสมัครช่วยอ่านให้ก็ได้ทบทวนและเรียนทันเพื่อนๆ    

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา  

          "ผมเชื่อว่าการศึกษาด้านนี้ จะมีผลดีต่อสังคมมนุษยชาติเรา อยากจะสร้างเทคโนโลยีหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น  สิ่งที่เราคาดหวังคือ การให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อคนพิการทางสายตา จะได้มีอาชีพที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่คนขายสลากกินแบ่งอย่างที่เห็นกัน"  ปวินท์ กล่าว 

          น้องเต๋า-ศิวนาถ มณีแดง นักเรียนผู้พิการทางสายตาชั้นม.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล  บอกว่าเขาอยากจะเป็นทูต ตอนนี้เรียนภาษาจีนอยู่ การพูด  การฟัง ไม่เกินความสามารถของเรา ตั้งเป้าว่าต้องได้เกรด 4  ถ้าไม่ได้ก็ต้องใกล้เคียง แค่มองไม่เห็นตัวหนังสือ แต่ถ้ามีคนอ่านให้ก่อน ก็เรียนได้ทันเพื่อนๆ ในคลาส

          ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้พิการไทยคนแรกที่เข้ารับราชการ  กล่าวเสริมว่า ตอนที่เป็นนักเรียน ช่วงปิดเทอม ไม่เคยได้หยุดเหมือนคนอื่น  ต้องไปแปะประกาศหาอาสาสมัครตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หาพี่ๆ ช่วยอ่านหนังสือ หรือบอกหนังสือให้จด ต้องทำหนังสืออักษรเบรลล์เอง  เตรียมหนังสือเสียงสำหรับใช้ในเทอมต่อไป

    ซึ่งต้องใช้เวลามาก คิดว่าโปรแกรมออนไลน์จะช่วยเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเข้าถึงนักเรียนผู้พิการทางสายตา หรือนักเรียนผู้พิการทางสายตาเข้าถึงอาสาสมัครได้ทั่วถึง และสะดวกสบายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการศึกษาให้ผู้พิการทางสายตา 

โปรแกรมออนไลน์เสริมการศึกษาผู้พิการสายตา

           ขณะที่ ขรรค์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์   กล่าวว่า อาสาสมัครเป็นส่วนสำคัญของเด็กผู้พิการทางสายตา เพราะเด็กที่นี่ พอถึงชั้นมัธยม จะไปเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เช่นที่โรงเรียนเซนต์ฟรัง  โรงเรียนสันติราษฎร์  โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ฯลฯ เมื่อต้องไปเรียนกับคนสายตาดี ที่มีการแข่งขันสูง  คนที่จะพาผู้พิการทางสายตาไปสู่ดวงดาวได้ ก็คือพี่ๆอาสาสมัครนั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ