Lifestyle

วิธีดูแลแผลเบาหวานลดแทรกซ้อน"แผลติดเชื้อ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์แนะวิธีดูแลรักษาแผล ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดอาการแทรกซ้อน "แผลติดเชื้อ"

      นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และรักษาให้หายขาดได้ยาก และยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมามากมาย  ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นจะต้องดูแลรักษาตนเองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการระวังไม่ให้เกิดบาดแผล ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อเป็นแผลแล้วจะรักษาให้หายได้ช้ากว่าปกติ และอาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน แผลติดเชื้อได้ จนอาจลุกลามไปถึงขั้นการตัดส่วนเนื้ออวัยวะที่ตายทิ้ง สำหรับในผู้ป่วยบางรายที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด เนื่องจากเกิดภาวะเส้นเลือดตีบแข็งจนบางครั้งก็อุดตัน ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดฝอย ทำให้เกิดแผลขึ้นได้เอง เนื่องจากเนื้อเยื่อขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งจะพบมากที่ปลายนิ้วเท้าทั้งห้าหรือส้นเท้า จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หมั่นดูแลรักษาสุขภาพจะต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดให้พอดี และควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

วิธีดูแลแผลเบาหวานลดแทรกซ้อน"แผลติดเชื้อ"
        นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลรักษาแผล ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญคือ ความสะอาด เนื่องจากโรคเบาหวานนั้นทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายลดต่ำลง ทำให้แผลหายได้ช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าปกติ ดังนั้น การทำความสะอาดแผล จึงมีความสำคัญมาก

        ขั้นตอนแรกควรล้างด้วยสบู่ โดยใช้น้ำอุ่นหรือน้ำเกลือ ไม่ควรล้างด้วยแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื้อ ควรล้างให้เบาที่สุดเฉพาะรอบบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเท่านั้น จากนั้นเช็ดให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีนอย่างเจือจาง ปิดแผลด้วยผ้าปิดที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง และควรทำแผล 2-4 ครั้งต่อวันถ้าหากแผลบวมแดงขึ้นมีน้ำเหลืองออกมา แม้ว่าจะไม่มีความเจ็บปวดก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ