Lifestyle

ขยับอีกหนึ่ง...“ก้าว” รพ.รัฐ(ทุกระดับ)ยังรอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่รพ.ขนาดเล็ก อยู่ห่างไกลเท่านั้นที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือจากคนไทย แต่รพ.ีัฐทุกระดับทุกแห่งก็มีความขาดแคลนเช่นเดียวกัน!!!

       ส่วนหนึ่งในการแถลงจัดคอนเสิร์ต “ศรัทธาเพื่อชีวิต” มีการระบุถึงการขาดแคลนของโรงพยาบาลรัฐ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็กห่างไกลเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงโรงพยาบาลทุกระดับ ทุกแห่งก็ล้วนแต่รอความช่วยเหลือสนับสนุนจากคนไทยทั้งสิ้น ถ่ายทอดผ่าน 3 ผู้แทนจากโรงพยาบาลรัฐทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/ โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) หรือโรงพย่บาลประจำจังหวัด และโรงเรียนแพทย์

          พญ.สมพิศ จำปาเงิน ผู้อำนวยการรพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี บอกว่า รพช.อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศมีประมาณ 793 แห่ง มีตั้งแต่ขนาด 10-200 เตียง เป็นด่านแรกในการให้การช่วยเหลือรักษาประชาชนที่มีความเจ็บป่วยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.)

ขยับอีกหนึ่ง...“ก้าว” รพ.รัฐ(ทุกระดับ)ยังรอ

       “ปัญหาที่รพช.ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ งบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้การจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ไม่เพียงพอด้วย ซึ่งคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อีกทั้ง จำนวนผู้สูงอายุมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น มีความเจ็บป่วยตามวัยมากขึ้น และปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ ส่งผลให้จำเป็นต้องส่งภาระการดูแลผู้ป่วยไปรพศ./รพท.”พญ.สมพิศกล่าว

     อย่างเช่นที่ รพ.อู่ทอง เป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง มีคนไข้ราว 1 พันคนต่อวัน มีแพทย์ 15 คน ซึ่งหkกรพช.มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรเพียงพอก็จะช่วยลดภาระของรพศ./รพท. เพราะเมื่อโรงพยาบาลหนึ่งขาดแคลนก็จะส่งผลต่อถึงกันเป็นลูกโซ่

     ขณะที่ในส่วนของรพศ./รพท. นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านปฐมภูมิ รพ.น่าน เล่าว่า โรงพยาบาลน่านเป็นโรงพยาบาลในระดับที่สูงขึ้น จะให้บริการรักษาพยาบาลโรคที่มีความซับซ้อน โดยแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์และทรัพยากรทางการแพทย์ก็ต้องใช้มากขึ้น แต่ละปีดูแลคนไข้ประมาณ 5.5 แสนราย เฉพาะผู้ป่วยในราว 1 แสนรายต่อปี หรือ 300 รายต่อวัน

      นพ.พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า งบประมาณภาครัฐที่โรงพยาบาลได้รับในส่วนของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จะจัดสรรให้เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว คือให้ตามจำนวนประชากรที่โรงพยามบาลรับผิดชอบ ต่างจากสวัสดิการข้าราชการที่จะให้โรงพยาบาลเบิกได้ตามค่าใช้จ่ายในการรักษาจริง

ขยับอีกหนึ่ง...“ก้าว” รพ.รัฐ(ทุกระดับ)ยังรอ

      แต่เมื่อเทคโนโลยีในการให้การรักษาสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ไม่เพียงพอ ในขณะที่แพทย์รักษาด้วยการยึดหลักคุณภาพผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รักษามาตรฐานเทียบเคียงสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปและมิเพียงคนไทย แต่โรงพยาบาลน่านยังให้การรักษาคนลาวอีกราว 1 แสนรายต่อปี เพราะแพทย์ถูกสอนให้การรักษาคนไข้เต็มที่ที่สุด โดยไม่ถามว่าคนไข้เป็นใคร ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้ไปคุยกับฝ่ายการเงิน

       “บางครั้งการผ่าตัดให้คนต่างชาติมีค่าใช้จ่ายถึง 2 แสนบาท แต่คนไข้มีจ่ายเพียง 1 หมื่นบาท โรงพยาบาลก็ต้องรับไว้เท่านั้น ส่วนที่ขาดหายไปก็ใช้วิธีการหมุนเงินจากส่วนอื่นๆ มาเฉลี่ยๆ เช่น จากสวัสดิการราชการมาจ่ายส่วนต่าง ลักษณะเข้ากระเป๋าซ้ายออกกระเป๋าขวา สถานะการเงิน รพ.น่าน ติดลบประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี เมื่อหมุนไปเรื่อยๆ เหมือนกับว่าจะอยู่รอด แต่หมุนไปหมุนมาก็ไม่ไหว เพราะมาตรฐานการให้การรักษาสูงขึ้นตลอดเวลา บางครั้งการรักษาก็ไปไม่ถึงคุณภาพที่โรงพยาบาลต้องการเนื่องจากสถานะทางการเงินที่ไม่เพียงพอ” นพ.พงศ์เทพกล่าว 

ขยับอีกหนึ่ง...“ก้าว” รพ.รัฐ(ทุกระดับ)ยังรอ

       สำหรับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดอย่างโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ นพ.กวิรัช ตันติวงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในอดีตเมื่อเจ็บป่วยคนไข้จะวิ่งเข้าหาโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ แต่เมื่อโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แพทย์ ทำให้รพศ.เข้มแข็งสามารถดูแลคนไข้ได้มาตรฐานสากล

      สิ่งที่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ขาด คือ ความศรัทธาและความเชื่อมั่นว่าระบบการแพทย์ไทยจะอยู่ได้หรือไม่ มิใช่เงินอย่างเดียวที่ขาด เพราะโรงพยาบาลรัฐทุกระดับทุกแห่งขาดแคลนทั้งสิ้น เนื่องจากเมื่อคนไข้มารับการรักษา ต้องให้การดูแลมาตรฐานดีที่สุด ไม่เคยถามเรื่องเงินว่ามีเท่าไหร่ เมื่อรักษาดีขึ้นแล้วค่อยว่ากัน การรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจึงต่างจากธุรกิจอื่นๆ เพราะการแพทย์คือการบริบาลคนไข้ ไม่ใช่การบริการ

ขยับอีกหนึ่ง...“ก้าว” รพ.รัฐ(ทุกระดับ)ยังรอ

       “เงินที่โรงพยาบาลขาดยังพอหาได้ แต่ศรัทธาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่จะช่วยเหลือคนได้ แต่เมื่อทุกคนทำงานได้ในสาขางานที่ตนเองถนัดแล้ว จะแบ่งเงินรายได้บางส่วนมาฝ่ายสาธารณสุขก็เป็นการช่วยคนได้ ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันโรงพยาบาลได้รับศรัทธาจากประชาชนแล้วในการที่จะช่วยเหลือร่วมกันบริจาค” นพ.กวิรัชกล่าว

          โรงพยาบาลรัฐในทุกระดับล้วนมีงบประมาณจากภาครัฐไม่เพียงพอ และไม่มีวันที่จะเพียงพอ ตราบที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังมีการพัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาวิธีในการรักษาชีวิตผู้ป่วยให้อยู่รอด จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยต้องช่วยเหลือสนับสนุน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังความสามารถ เพราะแม้แต่โรงพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้วมากมาย ก็ยังต้องเปิดรับบริจาคเงินจากประชาชน

       สำหรับรพ.ที่เข้าร่วมโครงการคอนเสิร์ตศรัทธาเพื่อชีวิตมี 42 แห่ง จะได้รับเงินสนับสนุนแห่งละ 1 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีรพ.ที่มีศักยภาพในการขายบัตรคอนเสิร์ตได้เอง 16 แห่ง มีภาคเอกชนสนับสนุนเงินช่วยเหลือแล้ว 10 แห่ง อีก 16 แห่งที่รอเงินสนับสนุนจากการขาบบัตรคอนเสิร์ต 

 0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

"คาราบาว"จัดคอนเสิร์ตไม่คิดค่าตัวช่วยรพ.รัฐ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ