Lifestyle

สเต็ปเท้าก้าววิ่ง "ตูน บอดี้สแลม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จังหวะก้าววิ่งแต่ละวันของ"พี่ตูน"เป็นแบบไหน จะวิ่งตามอย่างไรให้ปลอดภัย "คมชัดลึก"มีคำตอบ

     สาระสำคัญหนึ่งของโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาล” ไม่เพียงแต่ต้องการให้คนไทยร่วมกันสนับสนุนบริจาคเงินตามกำลังเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่ง แต่สิ่งหนึ่งที่นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “พี่ตูน บอดี้สแลม”สื่อสารถึงประชาชนตลอดเส้นทางวิ่งที่ผ่านมา คือ “ขอให้ทุกคนออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี” ซึ่งหัวใจหลักสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือระบบสาธารณสุขของประเทศ 

     รูปแบบการออกกำลังกายที่ส่วนตัว “พี่ตูน”เลือกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการกระตุ้นคนไทย ได้แก่ “การวิ่ง” แล้วการวิ่งแบบ “พี่ตูน”เป็นการวิ่งแบบไหน แล้วการวิ่งมีกี่ประเภท และจะก้าววิ่งอย่างไรให้ปลอดภัย        

      กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายประเภทการวิ่งไว้ดังนี้ 1.ฟันรัน(Fun Run) หรือการเดิน-วิ่งเพื่อการกุศล เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นวิ่งออกกำลังกายมีทั้งแบบ 3.5 กิโลเมตรและ 5 กิโลเมตรแล้วแต่ผู้จัดและสถานที่จะอำนวย 2.มินิมาราธอน(Mini Marathon) ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร เป็นการวิ่งที่ได้รับความนิยมวิ่งเพื่อสุขภาพ เพราะถือเป็นระยะทางที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป 

        3.ฮาล์ฟ มาราธอน (Half Marathon)ระยะทาง 21 กิโลเมตร ผู้ที่จะวิ่งประเภทนี้ควรผ่านการฝึกซ้อม เตรียมร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น  4.มาราธอน(Marathon) ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ก่อนคิดวิ่งต้องเตรียมพร้อมร่างกาย และมีการตรวจสุขภาพ จะมีทั้งนักวิ่งอาชีพและมือสมัครเล่น 5.อัลตร้า มาราธอน(Ultra Marathon)  ระยะทางมากกว่า 42.195 กิโลเมตร นักวิ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แข็งแกร่ง ผ่านสนามวิ่งมาอย่างโชกโชน ถือเป็นการทดสอลสมรรถภาพที่ดี และ6.วิ่งเทรล (Trail Running) ระยะทางแล้วแต่กำหนด คือ การวิ่งแบบผจญภัย บนพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่า ภูเขา ทุ่งหญ้าตามภูมิประเทศของสถานที่จัดงานที่แตกต่างกันออกไปตามสถานที่ต่างๆ 

      ตามที่มีการเผยแพร่ไว้ในเพจ “ก้าว” ในแต่ละวัน“พี่ตูน”จะมีการแบ่งระยะทางการวิ่งเป็นเซ็ท(Set) เซ็ทละ 10 กว่าโลเมตรบ้าง เซ็ทละกว่า 20 กิโลเมตรบ้าง วันละ 3-4  เซ็ท ซึ่งการวิ่งในระยะทางแต่่ละเซ็ทนั้น จัดเป็นการวิ่งแบบ “มินิมาราธอน” และ การวิ่งแบบ “ฮาล์ฟ มาราธอน”  โดยแบบแรกเป็นการวิ่งที่นิยมวิ่งเพื่อสุขภาพและแบบหลังผู้วิ่งต้องผ่านการฝึกซ้อมาก่อน แต่ด้วย “พี่ตูน”วิ่งเป็นเวลาหลายวัน ก่อนการวิ่งจึงต้องประเมินสุขภาพและระหว่างการวิ่งก็ต้องมีการตรวจประเมินเป็นระยะเช่นกัน

         นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า ประชาชนที่อยากออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ควรมีการเตรียมพร้อม โดยประเมินร่างกายของตนและให้วิ่งเท่าที่ร่างกายไหว เริ่มจากน้อย ๆ ไปหามาก เริ่มจากช้าๆ ไปหาเร็ว เริ่มจากเบาๆ ไปหาหนัก ก่อนเริ่มวิ่งต้องอบอุ่นร่างกาย ยืดเหยียดขา แกว่งมือ แกว่งแขน เพื่อให้เลือดสูบฉีด ไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่าเริ่มวิ่งหรือออกกำลังกายทันทีโดยไม่อบอุ่นร่างกาย และเมื่อเริ่มออกตัววิ่ง ควรออกตัวอย่างช้าๆ เบาๆ ในช่วง 15 - 20 นาทีแรก ถ้าเหนื่อยให้ผ่อนความเร็วและความหนักลง เมื่ออาการเหนื่อยลดลงจึงค่อยเพิ่มความเร็วใหม่ สำหรับผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อาจจะวิ่งช้าสลับกับเร็วบ้าง หรือทำช้าๆ โดยไม่หยุดพัก 5 นาที แล้วค่อยเพิ่มเป็น 10 นาที

     ก่อนหยุดวิ่งให้ชะลอความเร็ว ความหนักลงทีละน้อย เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลงทีละน้อย อย่าหยุดกะทันหันเนื่องจากหัวใจจะปรับตัวไม่ทัน อาจเป็นอันตรายได้ จากนั้นจึงคลายอุ่นหรือคูลดาวน์ (Cool down) เพื่อปรับสภาพการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ แต่หากมีอาการรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ การหายใจขัดหรือหายใจไม่ทั่ว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หน้ามืด ให้หยุดการวิ่งหรือออกกำลังกายทันที และหากไม่สบาย มีอาการไข้ หรือท้องเสีย มีอาการบาดเจ็บ ให้หยุดพักให้อาการทุเลาลงก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่ ส่วนชุดเครื่องแต่งกายควรเบา สวมใส่สบาย ระบายความร้อนได้ดี สวมรองเท้าที่เหมาะกับการออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

     “การออกกำลังกายทุกแบบหรือแม้แต่การขยับ เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน การขึ้นลงบันได การปั่นจักรยานไปทำงาน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมอง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น การเจ็บป่วยน้อยลง ต้นทุนในการรักษาพยาบาลก็จะลดลง ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน จะต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ5วัน วันละ30นาทีควรหลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ไม่หักโหมมากจนเกินไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม”นพ.วชิระกล่าว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ