Lifestyle

10คำร้ายๆต้นเหตุรุนแรงในครอบครัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เผยสถิติสำรวจความชุกความรุนแรงในผู้หญิง/ครอบครัว พบ 34.6% มีความรุนแรง โดย 32.3% ด้านจิตใจ 9.9% ด้านร่างกาย พม.เผย 10 คำที่อยากฟังและ 10 คำไม่อยากได้ยิน

       องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ขณะที่ประเทศไทยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"  เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 60 - ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว  "รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2560 " ภายใต้แนวคิด "สร้างครอบครัวไร้ความรุนแรง ด้วยสื่อที่สร้างสรรค์"  และคำขวัญ "หยุด!คำร้ายทำลายครอบครัว" โดยมี พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วยศ.คลินิก นพ.พรชัย มูลพฤกษ์ รองคณบดี และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

10คำร้ายๆต้นเหตุรุนแรงในครอบครัว

        พล.อ.อดุลย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว และต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคล ในครอบครัว จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นรอบครัวด้วยการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา จะช่วยลดการเกิด  ความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะการสื่อสารระหว่างกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัว มีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น

10คำร้ายๆต้นเหตุรุนแรงในครอบครัว

        ทั้งนี้ พม.โดย คร.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ตามลำดับ ได้แก่ 1. เหนื่อยไหม 2.รักนะ3.มีอะไรให้ช่วยไหม4.คำชมเชย(เก่ง/ดี/เยี่ยม/)5.ไม่เป็นไรนะ 6.สู้ๆนะ 7.ทำได้อยู่แล้ว 8.คิดถึงนะ 9.ขอบคุณนะ และ10.ขอโทษนะ โดยพบว่าอันดับ 1 คือเหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 รองลงมา รักนะ ร้อยละ 16.1 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2

       พล.อ.อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วน 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ตามลำดับ ได้แก่ 1.ไปตายซะ 2.คำด่า (เลว/ชั่ว) 3. แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4.ตัวปัญหา 5.ดูลูกคนอื่นบ้างสิ 6.น่ารำคาญ 7.ตัวซวย 8.น่าเบื่อ 9.ไม่ต้องมายุ่ง และ10.เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง ตามลำดับ โดยพบว่าอันดับ 1 คือ ไปตายซะ ร้อยละ 20.4 รองลงมา คำด่า(เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และแกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉัน

10คำร้ายๆต้นเหตุรุนแรงในครอบครัว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

        ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ และผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ศูนย์ฯ ร่วมกับ สสส.ทำการสำรวจ"ความชุก ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวในระดับประเทศ" โดยสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,280 ครัวเรือนจาก 5 ภาค ระหว่างเดือนตุลาคม 2559-มกราคม 2560 พบว่า ร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว อันดับ 1 หรือ ร้อยละ 32.3 ความรุนแรงทางด้านจิตใจ ร้อยละ 9.9 ความรุนแรงทางด้านร่างกาย  และร้อยละ 4.5 ความรุนแรงทางเพศ

        ส่วนภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุดพบว่า ภาคใต้ ร้อยละ 48.1 ส่วนที่พบความรุนแรงน้อยที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 26 อย่างไรก็ตามสาเหตุความรุนแรง มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ลักษณะครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันมาก สาเหตุหนึ่งภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความไม่สงบทางการเมือง ทำให้มีความไม่แน่นอนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และเมื่อพิจารณาแต่ละปัจจัยก็พบว่า ครอบครัวที่อยู่ในชุมชนเมืองมีความรุนแรงมากกว่าในเขตชนบทถึง 2 เท่า และภาวะทางเศรษฐกิจรายได้ไม่เพียงพอ เกิดภาวะเครียดก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้สารเสพติด บุหรี่ สุรา ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และความคิด ที่อาจนำไปสู่เกิดความรุนแรงได้

10คำร้ายๆต้นเหตุรุนแรงในครอบครัว

        "สาเหตุความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากการทำร้ายจิตใจด้วยวาจา จึงต้องรณรงค์สื่อสารเชิงบวกให้ครอบครัวไทย สังคมไทยช่วยกันใช้คำพูดสร้างสรรค์ลดความรุนแรงในครอบครัว"ศ.นพ.รณชัย กล่าว

        ทั้งนี้ ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีกิจกรรมรณรงค์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมรณรงค์ในส่วนกลาง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร กทม. เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำ “ริบบิ้นสีขาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงออกถึงการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” มาใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ