Lifestyle

หนุนเอกชนร่วมจัดการศึกษานำร่อง 77 โรงเรียนนิติบุคคล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศธ. เดินเครื่องโรงเรียนนิติบุคคล หรือ พลับบลิคสคูลนำร่อง 77 ร.ร.ด้อยโอกาส จับมือเอกชนพัฒนาผลสัมฤทธิ์ เริ่มทันทีปีการศึกษา 61 นี้

      นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า  ตามที่สำนักงานคณะกรรรมพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณารูปแบบโรงเรียนของรัฐในอนาคต ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล หรือ พลับบิคสคูล Public School

       อย่างไรก็ตาม การให้อิสระโรงเรียนบริหารจัดการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบนิติบุคคลจะได้ผลต่อเมื่อเราบริหารบุคคลได้จริง ๆ ให้ครูเก่ง ๆ มีโอกาสเข้ามาสอน มีระบบค่าตอบแทนที่ดี มีระบบการบริหารงานที่ดี ซึ่งต้องปลดล็อคในหลายจุด เช่น ระบบการบริหารงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องปรับแก้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ระบบ ระเบียบการบริหารงาน ก็ต้องปรับแก้ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาดขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  โดยจะเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2561 นำร่องจังหวัดละ 1 โรงเรียน  

     ทั้งนี้สำหรับโรงเรียนที่จะนำร่องใช้รูปแบบการบริหารจัดการในรูปแบบนิติบุคคล เบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีปัญหาในการจัดการศึกษาหรือโรงเรียนด้อยโอกาสก่อน โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าไปสนับสนุน ก่อนเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมีนายการุณ  สกุลประดิษฐ์  ปลัดศธ. เป็นประธาน นายชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นเลขานุการ ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

        นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า โรงเรียนนิติบุคคล เป็นไปตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการจัดการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ อล์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับและส่งเสริมสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานการศึกษาสากล  

    “สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อน อนาคต โรงเรียนจะแบ่งเป็น โรงเรียนที่รัฐมีบทบาท 100%  จำนวน 30,717 แห่ง โรงเรียนที่เอกชนมีบทบาท 100% โรงเรียนสามัญ จำนวน 3,845 แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา 457 แห่ง โรงเรียนที่เอกชนเป็นหุ้นส่วนสนับสนุน โดยนำโมเดลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ หรือโรงเรียนประชารัฐ  3,351 แห่ง โรงเรียนเอกชนการกุศล และรูปแบบที่จะเกิดขึ้นใหม่คือ โรงเรียนนิติบุคคลหรือPublic School เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาบริหารโดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของ และมีการประเมินเป็นระยะ ปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวกับงบประมาณ การบริหารงานบุคคลให้มีความคล่องตัว แต่โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสัมทธิ์ทางการเรียนของเด็ก เริ่มนำร่อง 77 แห่งทั่วประเทศ ”นายชัยพฤกษ์ กล่าว

     อย่างไรก็ตาม วนายกฯ มีนโยบายให้เริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2561 ดังนั้นจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศธ. จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินการ รวมทั้งออกแบบระบบรองรับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรงบประมาณ หลักสูตร การประเมินผลสัมทธิ์ การประกันคุณภาพ และการบริหารทรัพย์สิน สำหรับภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโรงเรียนนิติบุคคล มีแนวทางจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีตาก 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ10 ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ให้มีระยะเวลาเพิ่มขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ