Lifestyle

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รพ.สธ.ที่อยู่ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สระบุรี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ขอนแก่น  รพ.เจ้าพระยายมราช  และรพ.นครพิงค์ สถานะทางการเงินติดลบเมื่อปี2559   

 

    เม็ดเงินจากศรัทธาของคนไทยและจากเม็ดเหงื่อในการออกวิ่งของ “ตูน บอดี้สแลม” หรือนายอาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องชื่อดัง จากใต้สุด อ.เบตง จ.ยะลา ถึงเหนือสุดอ.แม่สาย จ.เชียงราย ตามโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาล” ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร เป้า 700 ล้านบาท จะนำบริจาคให้รพ. 11 แห่ง โดย 10 แห่งเป็นรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และ 1 แห่งสังกัดกระทรวงกลาโหม คือ รพ.พระมงกุฎเกล้า

       รพ.สังกัดสธ. 10 แห่งดังกล่าว จัดเป็นโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)หมายถึงรพ.ประจำจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง 9 แห่ง ได้แก่ รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย รพ.สระบุรี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ยะลา รพ.ขอนแก่น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี รพ.ราชบุรี และรพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี และโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) หมายถึง รพ.ประจำจังหวัดที่มีขนาดเล็กกว่ารพศ. จำนวน 1 แห่ง คือ รพ.น่าน จากรพศ./รพท.ทั้งหมดราว 100 แห่ง 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

     ทั้งนี้ งบประมาณโดยหลักๆที่รพ.โดยเฉพาะในส่วนที่สังกัดสธ.จะได้รับแยกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.เงินจากสธ. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินลงทุน เพื่อใช้ในการสร้างอาคารหรือจัดซื้อครภัณฑ์ และ2.เงินค่าใช้จ่ายในการให้บริการประชาชน จะแยกเป็นงบฯจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองส่วนนี้จะรวมเงินเดือนบุคลากรของรพ.ด้วย สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม 

    ทว่า รพ.สธ.จะได้รับจากบัตรทองเป็นสัดส่วนมากที่สุด เนื่องจากประชากรที่อยู่ในสิทธิรักษาพยาบาลบัตรทองมีจำนวนมาก และเดิมมีการจัดสรรเป็นงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวตามจำนวนประชากร กล่าวคือ รพ.แต่ละแห่งมีประชากรในพื้นที่เท่าไหร่ก็นำงบฯเหมาจ่ายรายหัวคูณ กลายเป็นเงินที่รพ.จะได้รับ

      แต่ในปีงบประมาณ 2560 มีการเปลี่ยนเกณฑ์การจัดสรรใหม่จากจำนวนประชากรเป็นแบบขั้นบันได หลักสำคัญ คือ ดูจากต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงของรพ. เนื่องจากการจัดสรรแบบเดิมนั้น ทำให้รพ.บางแห่งที่มีประชากรในพื้นที่น้อย ได้รับการจัดสรรน้อย เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกแล้ว เหลือเม็ดเงินจริงไม่มาก  กลายเป็นคำพูดที่ว่า “รพ.ขาดทุนตั้งแต่เริ่ม” และสั่งสมเป็นปัญหามานานหลายปี 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

     สถานะทางการเงินของรพ.สธ.ทั้ง 10 แห่งเป็นเช่นไร? สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) เคยเปิดเผยสถานะทางการเงินของรพศ. 18 แห่ง ที่ติดลบเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2559 โดยเป็นรพ.ที่อยู่ในโครงการ “ก้าวคนละก้าว” 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สระบุรี รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.ขอนแก่น  รพ.เจ้าพระยายมราช  และรพ.นครพิงค์  นี่อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทั้ง 5 แห่งติดโผของพี่ตูน 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.สุราษฎร์ธานี

     สำหรับรพ.สุราษฎร์ธานี นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการ  กล่าวว่า รพ.มีการวางแผนจะนำเงินที่ได้รับการบริจาคจากโครงการนี้มาใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ชั้นสูงที่จะสามารถทำให้ประชาชนสบายและได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ได้แก่ 1.อุปกรณ์ในการผ่าข้อเข่าและกระดูกสันหลังผ่านกล้อง  ช่วยคนไข้นอนรักษาในรพ.5-7 วัน จากเดิม 2-3 สัปดาห์ ราคาประมาณ 6-7 ล้านบาท

        และ2.เครื่องอัลตราซาวด์ส่องผ่านทางเดินอาหารเพื่อรักษาและผ่าตัดชิ้นเนื้อหรือชี้เป้าเนื้องอกแทนที่จะต้องผ่าเปิดช่องท้องหรือทรวงอก แต่จะใช้เพียงเข็มเข้าไปตัดหรือดูดออกมาตรวจ หรือในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย จะใช้ในการฉีดยาให้ชาไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดในช่องท้อง เป็นต้น 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

     นพ.สุพจน์ บอกด้วยว่า รพ.สุราษฎร์ฯรับผิดชอบในการให้บริการการแพทย์ชั้นสูงประชาชนภาคใต้ตอนบนราว 4.5 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2560 รพ.มีรายรับจากงบประมาณภาครัฐทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 1,600 ล้านบาท รวมแล้วรพ.มีเงินติดลบสะสมราว 300 ล้านบาท

       ขณะที่เมื่อปีงบฯ 2560รพ.จัดทอดผ้าป่าได้เงิน 200 ล้านบาท จะนำมาใช้ในการพัฒนาอาคารผู้ป่วยในที่กำลังก่อสร้างจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2561 มีเตียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 500 เตียง ห้องพิเศษเพิ่ม 160  ห้อง ห้องไอซียู 40 ห้อง และห้องผ่าตัด 80 ห้อง โดยใช้ตกแต่งส่วนห้องพักผู้ป่วย 100 ล้านบาทและจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ 100 ล้านบาท 

      “ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนารพ.เพื่อให้บริการแก่ประชาชน ลดความแออัดของรพ. และสามารถรับบริการการแพทย์ชั้นสูงได้ในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไปรพ.ในกรุงเทพฯหรือรพ.สงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าเดินทางหรือค่ากินอยู่ระหว่างการพักรักษาจำนวนมาก  การรักษาชั้นสูง ที่ผ่านมารพ.ทำบอลลูนหัวใจให้ผู้ป่วย 300 รายต่อปี  หรือใส่สายสวนไปรักษาเส้นเลือดหัวใจตีบให้กับคนไข้ หรือรักษาเส้นเลือดโป่งในช่องท้องด้วยการใส่สายขดลวดค้ำยัน ซึ่งแพทย์และบุคลากรของรพ.มีความพร้อมมาก เพียงแต่บางครั้งยังขาดเครื่องมือ”นพ.สุพจน์กล่าว 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

นพ. ไชยเวช ชนไพศาล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์

      ขณะที่ นพ. ไชยเวช ชนไพศาล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ บอกว่า  จากการที่รพ.ได้หารือเบื้องต้นกับคุณตูน เงินที่จะได้รับบริจาคจะนำมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข คือ ศูนย์อุบัติเหตุและผู้ป่วยหนักที่ได้รับงบประมาณจากรัฐจำนวน 400 ล้านบาทในการก่อสร้าง

       ได้แก่ จัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับห้องฉุกเฉินที่มีความทันสมัย ระบบรถรับส่งผู้ป่วย เครื่องติดตามสัญญาณชีพ ห้องผ่าตัดฉุกเฉิน และห้องไอซียู เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยในจ.เชียงราย ประมาณ 1.2 ล้านคนและจ.พะเยา 4.8 แสนคน เนื่องจากกว่าจะส่งต่อผู้ป่วยไปจ.เชียงใหม่ได้ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงและเป็นพื้นที่ภูเขา นอกจากนี้ ยังให้บริการ ผู้ป่วยตามแนวชายแดนพม่า ลาว ชาวไทยภูเขาและคนไร้สัญชาติด้วย 

   “แม้รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์จะไม่มีสถานะทางการเงินติดลบ แต่อยากบอกว่างบประมาณในการดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เพราะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือชีวิตคน จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ไชยเวชกล่าว 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่น  

       ส่วนรพ.ขอนแก่น  นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการ กล่าวว่า รพ.ขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะได้รับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

       แต่เนื่องจากปริมาณของผู้ป่วยที่มาจากหลายจังหวัดทางภาคอีสานทำให้ไม่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง หากได้รับเงินบริจาคจะนำมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องขยายหลอดเลือด ตู้อบทารก และเครื่องมือผ่าตัด ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็น และไม่เพียงผู้ป่วยในจ.ขอนแก่นที่จะได้รับประโยชน์ แต่จะเป็นผู้ป่วยในอีสานตอนบนด้วย 

เปิดสถานะการเงิน5รพ.สธ.โครงการ"ก้าวคนละก้าว"

       นอกจากนี้ รพ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ดูแลผู้ป่วยหลักใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  จำเป็นต้องมีอปุกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน นัยว่ายังมีความต้องกางเครื่องทีซีแสกน เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กและผู้ใหญ่  เครื่องมือผ่าตัด  และเครื่องมือภายในห้องฉุกเฉิน

       รพ.น่าน เตรียมนำเงินมาใช้ในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจในเด็กเล็ก  พัฒนาศูนย์หัวใจ  และพัฒนาห้องผ่าตัด รองรับผู้เจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ

    และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร แม้สถานะทางการเงินจะไม่ติดลบ และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีชื่อเสียงออกวางจำหน่ายมากมาย แต่เมื่อจ.ปราจีนบุรีได้รับการชี้เป้าให้ต้นแบบเมืองสมุนไพร รพ.ที่อยู่ในพื้นที่ ก็อาจจะยังมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาอีกมากเพื่อรองรับ 

     เชื่อว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากการร่วมมือร่วมใจร่วมทรัพย์ของคุณตูนและคนไทย จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะนี่คือ “การช่วยเหลือชีวิตคน”

        0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ