Lifestyle

ไม่อนุมัติตำแหน่ง-บัญชีเกิน2ปีเหตุครูอุ้มผางสอนฟรี5เดือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บุญรักษ์" ตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง หลังครูสาว 2 รายสอนมา 5 เดือนชวดบรรจุ มุ่งดูกระบวนการนำข้อมูลให้ก.ค.ศ.ประกอบพิจารณา ประสานร.ร.ใกล้เคียงหาที่สอนชั่วคราว

          ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากรณี น.ส.วนาลี ทุนมาก (ครูแอน) และน.ส.นิราวัลย์ เชื้อบุญมี  (ครูวัลย์) ไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งครูผู้ช่วยหลังจากไปสอนได้ 5 เดือน ที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม อ.อุ้มผาง จ.ตาก เนื่องจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก (กศจ.) มีมติไม่อนุมัติการขอปรับเปลี่ยนวิชาเอกและขอเพิ่มตำแหน่งว่างโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมและไม่อนุมัติการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้สาขาวิชาเอกสังคมศึกษาจากบัญชี  สพม.เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) โดยอ้างเกิน 2 ปี

     เมื่อวันที่ 6 พศจิกายน 60 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)  กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว จากนี้คณะกรรมการสืบฯจะลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล รายละเอียด ซึ่งเป้าหมายในครั้งนี้ไม่ใช่การมาหาว่าใครถูกใครผิด แต่ไปดูว่ากระบวนการดำเนินที่ผ่านมา เกิดปัญหาจุดใด เพื่อประโยชน์ของครูทั้ง 2 ราย ของราชการเป็นสำคัญ

        โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปประกอบกับการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเบื้องต้นได้หารือร่วมกับนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.แล้วระบุว่าจะกำหนดวันประชุมโดยเร็ว

       “ผมได้ลงพื้นที่ไปพบครูด้วยตัวเองจากที่ปรากฏในสื่อทราบว่ามีครูเดือดร้อนคนเดียว แต่เมื่อไปถึงจริงปราฎว่ามีถึง 2 คน ซึ่งครูทั้ง 2 คนเข้าใจว่ากระบวนต่างๆ เป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ผลจะออกแบบใดนั้น เราไม่ได้ให้ความหวังว่าจะเป็นไปตามที่ครูต้องการ แต่ทำให้เห็นความตั้งใจที่จะดูแลครูของเรา ให้ครูได้รับความเป็นธรรมและสิทธิในหน้าที่ และการสืบข้อเท็จจริง ไม่ได้มุ่งว่าใครถูกหรือผิด เเต่มุ่งเพื่อช่วยเหลือครูทั้ง 2 คนซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ อีกทั้งการสอบผ่านเป็นครูผู้ช่วยของ สพฐ.ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายผ่านเพียง 10-20% เท่านั้นก็จะไปตรวจสอบว่ากระบวนการที่ผ่านมาติดขัดอะไร”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

        เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้ และกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อยแต่เป็นบทเรียนสำคัญของการทำงานบูรณาการทั้งเขตพื้นที่ฯ และศึกษาธิการจังหวัด แต่ทั้ง 2 หน่วยงานต่างพยายามทำเต็มที่ ยึดกฎระเบียบ ความต้องการของโรงเรียน และประโยชน์ราชการเป็นสำคัญ

     ดังนั้น ในครั้งนี้ติดขัดอะไรก็ต้องไปแก้ไข แต่อนาคตก็ต้องวางแนวทางร่วมกันเพื่อการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐกิจ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ตนและนายการุณ ตั้งแต่วันรับตำแหน่ง

        ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การดูแลเยียวยาครูทั้ง 2 รายนั้น เบื้องต้นมอบเงินช่วยเหลือซึ่งเป็นเงินจากกองทุนสวัสดิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนหนึ่ง และเงินสมทบจากเพื่อนครู จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 รวมประมาณ 50,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  

      และ สพม.38ได้สอบถามสถานศึกษาใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิลำเนาเดิมของครูทั้งสองคนว่ามีโรงเรียนใดขาดครู และต้องการครูอัตราจ้างหรือไม่ ได้รับรายงานว่าในส่วนของ น.ส.วนาลี มีโรงเรียนเมืองเชลียง อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งเจ้าตัวเคยเป็นศิษย์เก่า โดยโรงเรียนจะใช้เงินของสมาคมศิษย์เก่า ในการจ้างเป็นครูอัตราจ้างชั่วคราว ส่วน น.ส.นิราวัลย์ มีโรงเรียนเลยพิทยาคม ติดต่อเข้ามา ซึ่งหากครู 2 คนพร้อมก็สามารถไปติดต่อโรงเรียนและเริ่มงานในช่วงสัปดาห์หน้าได้ 

       นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รายละเอียดของเรื่องนี้ ตนไม่ทราบ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ต้องไปถามเลขาธิการ กพฐ. แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ เรื่องของตำแหน่ง ที่เกี่ยวกับคน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องอะไรในอดีตตามกฎหมายต้องไปอยู่ที่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาฯ ซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่แทน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของบ้านเรา แทนที่ตำแหน่งเหล่านี้จะมาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายใหญ่ หากจะแก้ก็เป็นเรื่องใหญ่

   

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ