Lifestyle

แนะเตรียมความพร้อม Helper ผู้ให้การช่วยเหลือประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมสุขภาพจิต แนะ 7 เช็คลิสต์ เตรียมความพร้อม Helper ผู้ให้การช่วยเหลือประชาชน ย้ำ อย่าลืม ดูแลจิตใจตัวเอง

        นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานให้การช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ในริ้วขบวน (Helper) เป็นกลุ่มพลังสำคัญยิ่ง ที่จำเป็นต้องดูแลสภาพจิตใจของตนเองให้ดีเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ด้วยต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกเศร้า หรือเป็นผู้โศกเศร้าเองด้วย ตลอดจน ต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล หดหู่ ท้อแท้ เหนื่อยล้าจากการปฏิบัติงาน ที่ต่างก็มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่จนไม่มีเวลาดูแลจิตใจ หรือให้กําลังใจกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ    

          แนะนำให้ เตรียมความพร้อม 7 ข้อ ดังนี้ 1.กายใจพร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีสติ จิตใจเข้มแข็ง 2.สิ่งของจําเป็นพร้อม เช่น ยาดม ยาอม ยาหม่อง พัดลมพกพา ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนูสําหรับชุบน้ำเช็ดหน้าและตามตัว 3.อาหารและน้ำดื่มพร้อม รับประทานอาหารสุกใหม่ตามเวลา ไม่บูดเสียง่าย และพกขวดน้ำดื่มติดตัวมาด้วย 4.ยาพร้อม สำหรับผู้มีโรคประจําตัว รับประทานยาให้เรียบร้อย พกยาที่มีซองยาและระบุชื่อยาประจําตัวติดมาด้วย 5.เวลาพร้อม มาถึงจุดปฏิบัติงานก่อนถึงเวลาเริ่มปฏิบัติงาน 6.อุปกรณ์การปฏิบัติงานและวิทยุสื่อสารพร้อม และ 7.หมายเลขติดต่อหน่วยงาน/แหล่งให้ความช่วยเหลือพร้อม หากเกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืดจะเป็นลม ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง หายใจเร็ว อาเจียน เป็นตะคริว ตัวร้อน กระหายน้ำมาก ใจสั่น มือสั่น สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์พยาบาลเคลื่อนที่ หรือกรณีเหตุฉุกเฉิน ติดต่อสายด่วน 1669 เป็นต้น 

        อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะแนวทางการดูแลจิตใจสำหรับ Helper ดังนี้ 1. ปลอดภัยไว้ก่อน หาที่ตั้งทํางานที่สะดวกและปลอดภัยต่อการทำงาน ทำงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ 2.ทบทวนการปฏิบัติงาน ประสบการณ์และการเรียนรู้หลังเสร็จสิ้นการทํางาน เพื่อให้รู้สึกมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น 3.แบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นของตนเองและผู้อื่น อย่าเก็บไว้คนเดียว 4.พักยก ใช้เวลาสงบหรือทํากิจกรรมอื่นๆ เพื่อผ่อนคลาย เช่น หลับตาแล้วหายใจเข้าออกช้าๆ ออกกําลังกายเบาๆ หรือทํากิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ 5.สร้างบรรยากาศการทํางานที่ดูแลและเข้าใจกันและกัน ผู้ให้การช่วยเหลืออาจหงุดหงิดง่ายขึ้นและอาจมีเรื่องกระทบกันเอง การเข้าใจ ระบายความในใจ และใช้คําพูด ขอบคุณ หรือขอโทษบ้าง จะช่วยให้ดีขึ้น   6. มีความหวังที่เหมาะสม อย่างน้อยก็มีคุณค่าที่ได้ทํางานช่วยเหลือคนอื่น ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ก็ตาม แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเสมอ 7. พูดคุยขอความช่วยเหลือ ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้า การไปนั่งพักหรือพูดคุยกับทีมหรือผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความช่วยเหลือ จะช่วยทําให้พลังการทํางานดีขึ้

        อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดจะค่อยๆ หายไปเองใน 2-4 สัปดาห์  เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าอาการเหล่านี้ รบกวนการทํางานหรือสร้างความเครียดให้เกิดขึ้น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ที่หน่วยเคลื่อนที่ สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือสายด่วนสุขภาพจิต  1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง 

       “ขอให้พึงระลึกเสมอว่า การปฏิบัติงานอันใหญ่หลวงในครั้งนี้ เป็นการรวมพลังเพื่อสืบสานพระราชปณิธานอย่างสุดกำลังความสามารถ ขอจงภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทํางานถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยความรักและเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมพลัง กันทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล ประคับประคองจิตใจพี่น้องชาวไทยให้ก้าวผ่านห้วงเวลาแห่งความทุกข์โศกนี้ไปด้วยกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ