Lifestyle

จักษุแพทย์ไขข้อข้องใจ "เด็กตาเข"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จักษุุแพทย์ เผยสาเหตุทำเด็กตาเข ระบุเด็กเล็กใช้สมาร์ทโฟน แสงสีฟ้าอาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าอายุอันควร

     นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความทางโซเชียลมีเดียโดยระบุว่า “ฝากเป็นอุทธาหรณ์สำหรับแม่ที่มีลูกเล็กๆ ว่า เด็กกล้ามเนื้อตายังไม่แข็งแรงไม่ควรให้ดูสมาร์ทโฟนนานๆ เพราะจะทำลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ตาเข และเสียการมองเห็น 3 มิติไป และอาจจะตาบอดได้” ว่า เด็กตาเขมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. กล้ามเนื้อในการกลอกลูกตาไม่สมดุล และ2. มีค่าสายตาผิดปกติ สั้น หรือยาวเกินไป ซึ่งเด็กที่สายตายาวมักสัมพันธ์กับตาเขเข้าใน ส่วนเด็กสายตาสั้นอาจจะสัมพันธ์กับตาเขออกนอก

       ทั้งนี้ โดยพื้นฐานเวลาคนมองใกล้ๆ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างในลูกตาคือ 1.เกิดการเพ่งสายตา อาจจะทำให้เพ่งค้างได้ 2.รูม่านตาหดเล็กลง 3.เวลามองใกล้ตาสองข้างจะเข้ามาชิดกันเพราะฉะนั้นจริงๆ การที่เด็กใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานานก็จะเกิดภาวะที่ตาเข้ามาใกล้กันมาก และเกิดการเพ่งค้างได้ แต่โดยทั่วไปจะเป็นชั่วคราว และกลับมาเป็นปกติเมื่อหยุดใช้ หรือไปพบจักษุแพทย์หยอดยาลดการเพ่งแล้วตรวจก็จะพบว่าไม่ได้เป็นสายตาสั้นจริงๆ ดังนั้นไม่อยากให้แตกตื่นว่าการเล่นมือถือจะทำทำลายกล้ามเนื้อตา หรือเกิดความผิดปกติแบบถาวรขึ้น ที่ผ่านมามีเด็กผ่าตัดตาเขปีละประมาณ 1 คน เพราะมีปัญหามาจากค่าสายตาเป็นหลัก แต่ก็มีประวัติเล่นโทรศัพท์มือ แต่ไม่เกี่ยวกัน

     ถ้าเด็กอายุน้อยมากใช้โทรศัพท์มือถือมีผลกับการมองเห็นหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า แสงในโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นที่สูงกว่าแสงแดดทั่วไป การที่เด็กเล่นโทรศัพท์มือถือ ได้รับแสงดังกล่าวก็จะมีผลในระยาว โดยอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าอายุอันควร จากเดิมที่โรคจอประสาทตาเสื่อมจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้เวลาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องปรับแสงหน้าจอไม่ให้สว่างเกินไป อยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ เพราะถ้าอยู่ในห้องมืดจะทำให้รูม่านตาขยาย รับแสงเข้าไปมากกว่าอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ นอกจากนี้ ทุกๆ การใช้สมาร์โฟน หรือทำอะไรก็ตามที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ ทุกๆ 45-50 นาที ต้องมีการหยุดพักอย่างน้อย 10 นาที มองออกไปไกลๆ เพื่อลดการเพ่งค้าง ไม่ปวดหัว และไม่เกิดภาวะสายตาสั้นเทียม ตาเขชั่วคราว.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ