Lifestyle

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ทุนการศึกษาพระราชทาน” หรือทุนจากในหลวง ที่เป็นทุนให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือการศึกษาในทุกระดับการศึกษา ทั้งนักเรียนที่ด้อยโอกาส มีฐานะยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความขยันหมั่นเพียร รวมถึงนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม เป็นคนดี มีความขยัน อดทน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยพระราชทานเป็นทุนประเดิม และต่อมาผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งตั้งเป็นมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้เฉพาะดอกผลเป็นทุนการศึกษาต่อไปในภายภาคหน้า

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

         1.ทุนมูลนิธิ“ภูมิพล”  ปี 2495 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 100,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ตั้งเป็นทุน “ภูมิพล” เพื่อเก็บดอกผลพระราชทานเป็นทุนแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผู้เรียนดีแต่ขัดสนทุนทรัพย์ ให้แก่นักศึกษาคนละ 200 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี 

      นอกจากนี้ ได้พระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรางวัลแก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นประจำทุกปี 

      เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท ตั้งเป็นทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” และได้ตราระเบียบลงวันที่ 8 มกราคม ปี. 2511 แบ่งเป็นทุน 2 ประเภท ได้แก่ 

        (1) ทุนประเภทช่วยเหลือการศึกษา 

       (2) ทุนประเภทช่วยเหลือการทำปริญญานิพนธ์หรือการวิจัย 

         นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” แก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

         2.ทุนมูลนิธิ“อานันทมหิดล”   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จดทะเบียนตราสารทุนอานันทมหิดล เป็น “มูลนิธิอานันทมหิดล” เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2502 โดยพระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวน 20,000 บาท มีผู้ได้รับพระราชทานทุนสาขาแพทยศาสตร์ในขณะนั้น 3 ราย

       ปัจจุบันทุนมูลนิธิ“อานันทมหิดล”ได้ขยายขอบเขตการพระราชทานทุนแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ คือ สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วารสารศาสตร์ และ อักษรศาสตร์

        ยังมีทุนพระราชทาน เรียกว่า “ทุนส่งเสริมบัณฑิต” แพทย์ผู้ใดเป็นแพทย์ผู้สละเวลาและอุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมโดยมิได้คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตน ก็จะขอพระราชทานเงินทุนส่งเสริมบัณฑิตให้เดือนละ 6,000 บาท เพื่อช่วยเป็นค่าใช้จ่ายของแพทย์ผู้นั้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2523 จนถึงปัจจุบัน

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

        3. ทุนเล่าเรียนหลวง   มีพระราชปรารภฟื้นฟูการให้“ทุนเล่าเรียนหลวง”ขึ้นใหม่ใช้ “ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนเล่าเรียนหลวง 2508” ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยมปีละ 9 ทุน คือ แผนกศิลปะ 3 ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และแผนกทั่วไป 3 ทุน ให้ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ และไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมารับราชการ 

       ส่วนทุนเล่าเรียนหลวงในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีนั้น ได้จัดให้มีขึ้นในปี 2518 เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกเฉลิมฉลองครบ 25 พรรษาแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยจัดตั้งทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก แก่นักศึกษาที่เป็นคนไทย และชาวต่างประเทศที่มีผลการเรียนดีเด่นเป็นพิเศษของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในปัจจุบันพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียปีละ 16 ทุน ทุนละ 220,000 บาทต่อปี

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

       4. ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พระองค์ท่านได้ทรงโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” โดยมีพระราชดำริให้ตั้งทุนเพื่อหาดอกผลสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูรวมทั้งช่วยเหลือราษฎร ผู้ซึ่งประสบสาธารณภัยทั่วประเทศด้วย สร้างอาคารเรียน หรือสร้าง“โรงเรียนราชประชานุเคราะห์”ปัจจุบันมีอยู่ 30 โรง

      5. ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มูลนิธิราชประชาสมาสัย จัดสร้างโรงเรียนประจำบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนบุตรผู้ป่วยที่ยังไม่รับเชื้อโรคเรื้อนรับเด็กเหล่านั้นมาเลี้ยงดูอบรม 

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

      6. ทุนนวฤกษ์    ช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ฝึกหัดครู และอุดมศึกษา พระราชทานความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรในครอบครัวที่เดือดร้อนมากหรือขาดผู้อุปการะ เช่น กำพร้าบิดามารดา โดยทรงรับเด็กเหล่านั้นไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์  

      7. ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี  

       7.1 ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา   เป็นทุนที่ทางกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานจัดให้แก่นักเรียนชาวเขาได้ศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เมื่อปี 2514 ส่งเสริมให้ชาวเขาส่งบุตรหลานมาศึกษาในโรงเรียนมากขึ้น ทำให้มีโอกาสใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น และกลับไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตน ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น ทุนละ 1,000 บาทต่อปี นักศึกษาทุนพระราชทานระดับวิทยาลัยครูและวิทยาลัยเกษตรกรรมทุนละ 1,200 บาท และ 4,500 บาท นักศึกษาแพทย์ทุนพระราชทานทุนละ 8,000 บาทต่อปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนชาวเขาหรือทำงานเกี่ยวกับชาวเขา

      7.2 ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา เป็นทุนการศึกษาที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งจัดตั้งเป็นทุน และให้มีการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นรายโรงเรียนไป เพื่อให้มีดอกผลเพิ่มขึ้น สามารถจัดสรรเป็นทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนดีเยี่ยม นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนในพระองค์ และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนราชประชาสมาสัย

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

         7.3 รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น  โดยพระองค์ท่านทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล) เมื่อคราวเสด็จฯ ทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ความว่า

        “…มีนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับพระราชทานรางวัล”

       กระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้ โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดทำรางวัลพระราชทานให้แก่นักเรียนที่สอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) ได้คะแนนสูงสุดทั้ง 3 แผนก และโรงเรียนที่นักเรียนสอบประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายได้คะแนนมากที่สุด 9 โรงเรียนแรกได้พระราชทานโล่ชมเชยเป็นรางวัล

         ขณะเดียวกัน พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มหลักเกณฑ์รางวัลพระราชทานสำหรับระดับประถมศึกษา เพิ่มรางวัลชมเชยเป็น 12 รางวัล พระราชทานแก่นักเรียนในภาคศึกษาทั้ง 12 ภาค ภาคละ 1 คน รางวัลสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา เพิ่มโล่รางวัลสำหรับพระราชทานแก่โรงเรียนที่ได้รับพระราชทานติดต่อกันถึง 3 ปี การพระราชทานรางวัลนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีรางวัลพระราชทานให้เป็นไปตามประกาศและการประเมินของกระทรวงศึกษาธิการที่พิจารณาตัดสินให้รับพระราชทานรางวัลด้วย

9ทุนการศึกษาพระราชทาน

        8. ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย    พระองค์ท่านยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย แบ่งเป็น 10 ประเภท อาทิ ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม 6, 7, 8 และ 9 กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง ทุนหน่วยปฏิบัติการพระธรรมทูตดีเด่น กำกับดูแลโดยกองงานพระธรรมทูต ทุนสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษาดีเด่น ส่งเสริมสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษาในแต่ละเขตปกครองคณะสงฆ์ที่มีผลงานดีเด่น กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง 

         9. ทุนเศรษฐกิจพอเพียง    เป็นพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “พัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดี และคนเก่ง สู่เส้นทางความสำเร็จ ตามแนวทาง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียน โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยผู้ที่ได้รับทุนนอกจากจะได้ศึกษาวิชาการในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้รับโอกาสในการร่วมกิจกรรม การศึกษาถึงคุณค่าของโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ รวมทั้งหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

3 หัวใจ..“การศึกษา” ในหลวง ร.9 ทรงฝากไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ