Lifestyle

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ห้องเรียน ป.ไก่” โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) สพป.ตาก เขต 2 ถูกคิดขึ้นมาป้องกันและแก้ไขปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของผู้เรียนในชั้นประถม

        โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนทั้งสิ้น 924 คน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเปิงเคลิ่ง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ห่างจากตัวจังหวัดตาก 302 กิโลเมตร ติดชายแดนไทย – พม่า ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่มีฐานะยากจน ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสาร

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

       ด้วยเหตุนี้โรงเรียนผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) ได้จัดทำโครงการ “ห้องเรียน ป.ไก่” ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษา โดยคัดกรองผู้เรียนในระดับชั้น ป.3- ป.6 ที่มีปัญหาด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย  โดยใช้ตำราของ Read Right for Child (RRC) แนวคิดของนายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สพป.ตาก เขต 2 ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยเฉพาะเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ให้สูงและดียิ่งขึ้นโดยนำร่องจากห้องเรียนสาขาอำเภอท่าสองยางที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2

        สิปปนนท์ มั่งอะนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) อธิบายว่า“ห้องเรียน ป.ไก่” เป็นโครงการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาในการเรียนรู้ด้านภาษาไทย นักเรียนชาวเขา ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ไม่ใช่แค่วิชาภาษาไทย แต่จะพ่วงไปกับทุกๆ วิชา เนื่องจากเด็กเหล่านี้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ไม่เข้าใจความหมายของคำในภาษาไทยมากพอ ซึ่งจะส่งผลถึงการเรียนรู้ต่างๆ ที่คุณครูสอนไปนั้นเด็กไม่เข้าใจ เรียนไม่รู้เรื่อง จนบ้างคนอายต้องไปนั่งอยู่หลังห้องหรือไม่อยากเข้าเรียน ห้องเรียน ป.ไก่ จึงถูกสร้างมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ 

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

สิปปนนท์ มั่งอะนะ

       โดย ป. นี้หมายถึงการป้องกัน ซึ่งดำเนินการปรับกระบวนการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยใหม่สำหรับระดับชั้น ป.1 และ ป.2 ซึ่งเป็นชั้นเรียนแรกและชั้นเรียนสำคัญในการสอนให้นักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยได้ และ ไก่ นั้นหมายถึงการแก้ไข ซึ่งได้คัดกรองเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.3 – ป.6 มาประเมินความสามารถในการอ่านเขียนภาษาไทย

       "เหตุที่เริ่มจากชั้น ป.3 เพราะ การเรียนสะกดคำนั้น ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในชั้น ป.1 และ ป.2 นั้นหมายความว่า หากเด็กนักเรียนคนไหนอยู่ ป.3 แล้วยังสะกดคำไม่ได้ ก็จะมีโอกาสที่จะอ่านหนังสือไม่ออกไปตลอดนั้นเอง จึงเริ่มคัดเด็กตั้งแต่ ป.3 ขึ้นมา ให้มาเรียนในห้องเรียนพิเศษที่เราเรียกว่า ห้อง ป.ไก่ ซึ่งได้จัดบรรยากาศในห้องเรียนให้เหมาะสมและน่าเรียน ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่นำหลายทักษะมาใช้ร่วมกัน เปลี่ยนสื่อการเรียนใหม่โดยเราเลือกใช้สื่อการสอนของ สพป.ตาก 2 (RRC) ทั้งหมดเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีและเรียนรู้ได้ไว โดยเด็กนักเรียนคนไหนผ่านการประเมินแล้วก็จะกลับไปสู่ห้องเรียนเดิม เพื่อเรียนกับเพื่อนตามปกติ"  นายสิปปนนท์ กล่าว 

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

ครูนงนุช ศิริพร 

        ครูนงนุช ศิริพร ครูผู้สอนห้องเรียน ป.ไก่ ในฐานะครูผู้สอนห้องเรียน ป.ไก่ เล่าว่ามีการจัดกระบวนการเรียนการสอนโดย แบ่งช่วงเวลาในแต่ละวันออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า ช่วงกลางวัน และช่วงบ่าย โดยในแต่ละช่วงจะมีครูดูแลในการจัดกิจกรรมสำหรับผู้เรียน  ซึ่งโดยส่วนใหญ่กิจกรรมที่ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับห้องเรียน ป.ไก่ จะเป็นไปในแนวเรียนปนเล่น มีกิจกรรมที่สนุกสนานระหว่างช่วงที่ผู้เรียนได้ทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เพราะผู้เรียนในห้องเรียนนี้อ่านหนังสือไม่ได้และสื่อการเรียนการสอนที่ใช้ คือ RRC ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอนของ สพป.ตาก เขต 2 เนื้อหาจะมีความน่าสนใจ มีรูปภาพที่สวยงาม สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นและพัฒนาตนเองในด้านการอ่านการเขียนที่ดีขึ้นได้

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

 เด็กชายสุรกิจ ไม่มีนามสกุล

       เด็กชายสุรกิจ ไม่มีนามสกุล นักเรียนห้องเรียน ป.ไก่ บอกว่าจากการที่ถูกคัดกรองเข้ามาอยู่ในห้องเรียน ป.ไก่ ตอนแรกไม่อยากเข้ามาอยู่ ด้วยความที่กลัวว่าเพื่อนจะล้อและอายที่ใครๆ จะมองว่าอ่านหนังสือไม่ออก แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในห้องเรียน ป.ไก่ เป็นห้องเรียนที่น่าเรียนมาก และครูที่สอนก็มีกิจกกรมที่หลากหลายได้ลงมือทำใบงานต่างๆ ด้วยตนเองทำให้การเขียนการอ่านดีขึ้น ต้องขอขอบคุณห้องเรียน ป.ไก่ ที่ทำให้อ่านหนังสือได้ดีขึ้น

     เช่นเดียวกับ เด็กหญิงวรดา ไม่มีนามสกุล นักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ได้” ถูกล้อถูกแซว แต่เมื่อได้มาอยู่ห้อง ป.ไก่ ครูผู้สอนได้อธิบายถึงที่มาของห้องเรียน ป.ไก่ จึงทำให้รู้ว่าที่ต้องมาอยู่ห้องเรียนนี้เพราะตัวเราเองและครูจะช่วยแก้ปัญหาด้านการอ่านการเขียนให้ดีขึ้น ห้องเรียน ป.ไก่ ที่ทำให้อ่านดีขึ้นและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม   

ต้องอ่านวิธีแก้เด็กอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้

       ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) กล่าวด้วยว่า จากการที่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนห้องเรียน ป.ไก่ แบบเรียนปนเล่น ทำให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียน ผลตอบรับที่ได้นักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยที่ดีขึ้น อีกทั้งในส่วนของผู้ปกครองได้ให้คำชื่นชม และยอมรับกับพัฒนาด้านการเรียนของนักเรียนในทางที่ดีขึ้น จากนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สามารถอ่านออกเขียนได้ผ่าน

        โดยการทดสอบการอ่านจากครูประจำชั้น ได้เห็นพัฒนาการด้านการอ่านการเขียนที่ดีขึ้น เห็นความตั้งใจของคณะครูและเด็กๆ นักเรียนทุกคนในห้องเรียน ป.ไก่ ทำให้ผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนและถิ่นทุรกันดาร มีประสิทธิภาพและเกิดผลดีต่อผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น.

           

 0 ศตายุ วาดพิมาย  0

นักประชาสัมพันธ์ สพป.ตาก เขต 2 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ