Lifestyle

อาชีวะจับมืออู่ต่อเรือใหญ่สร้างคนสายพาณิชย์นาวี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอศ.ร่วมกับอู่ต่อเรือยกระดับความรู้ทักษะอาชีพ ฝีมือกลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี เน้นฝึกปฏิบัติจริง เรียนรู้ระบบเรือขนส่งสินค้าจริง ๆ ตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน

       ดร.สุเทพ  ชิตยวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)  เปิดเผยว่า  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการกำลังคนสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี ซึ่งยังมีความต้องการกำลังคนที่มีทักษะอาชีพ ทักษะฝีมือ อีกหลายหมื่นคน จึงได้มอบให้วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา ลงนามความร่วมมือกับบริษัท หะรินสุตขนส่ง จำกัด เพื่อยกระดับความรู้และเป็นการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสาขาพาณิชย์นาวีให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดกำลังคน โดยได้จัดให้มีพิธีลงนามที่ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

     เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อไปว่า  ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. หลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนจะต้องใช้ครูผู้สอน สื่อการสอนและครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องเป็นไปตามหลักสูตรมาตรฐานสากล รวมถึงเรือฝึกกลเดินทะเลที่จะใช้สำหรับฝึกภาคปฏิบัติทางทะเลให้แก่ผู้เรียน  แต่ สอศ. ไม่สามารถจัดหาครุภัณฑ์และสื่อการสอนที่ครบถ้วนได้ภายในระยะเวลาจำกัด ดังนั้น ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี จึงได้มีมติให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี โดยลงนามความร่วมมือกับบริษัท หะรินสุตขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีท่าเทียบเรือทั้งที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดสงขลา ร่วมกันดำเนินการจัดการเรียนการสอน วางแผนการฝึกภาคปฏิบัติ และการวัดผลประเมินผลการเรียนของนักศึกษา และที่สำคัญการเรียนในสาขานี้ต้องมีการฝึกปฏิบัติจริง หรือที่เรียกว่าลงภาคสนามกับท้องทะเลจริง ๆ เรียนรู้ระบบเรือขนส่งสินค้าจริง ๆ จำเป็นต้องมีครูฝึกมืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้นักศึกษา

      ด้านนายเสริมศักดิ์  นิลวิลัย  ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ กล่าวเสริมว่า ก่อนที่วิทยาลัยจะส่งนักศึกษาออกไปฝึกปฏิบัติกับสถานประกอบการ จะมีการสอนภาคทฤษฏีและปูพื้นความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับเรือเดินทะเล เรือประมง การดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้ในเบื้องต้นก่อน เพื่อนักศึกษาจะได้มีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติทีดีต่อวิชาชีพ เมื่อไปฝึกปฏิบัติจริง จะได้มีความตั้งใจ มีความอดทน และรู้สึกสนุกสนานไปกับการเรียนรู้  ที่สำคัญผู้ที่เรียนในสาขาพาณิชย์นาวี จะมีรายได้ในระหว่างเรียน และเมื่อจบแล้วก็สามารถทำงานได้ทันทีโดยมีรายได้มากกว่าคนที่ทำงานบนบกประมาณ  3-4 เท่า  และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศพร้อมรับเข้าทำงาน  ทั้งนี้นักศึกษาที่จบการศึกษาในสาขาพาณิชย์นาวีของ สอศ. จะมีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการเนื่องจากความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคีนี้มีความพิเศษตรงที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสอน ช่วยแนะนำเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะฝีมือตรงกับสิ่งที่ภาคการผลิตต้องการ

          เลขาธิการกอศ. กล่าวปิดท้ายว่า  นักศึกษาที่เรียนในสาขาพาณิชย์นาวีนี้จะได้รับการสนับสนุนให้มีโอกาสสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรขั้นต้น STCW 2010 จากกรมเจ้าท่า และรับใบประกาศนียบัตรลูกเรือฝ่ายเดินเรือก่อนก้าวขึ้นสู่ประกาศนียบัตรนายประจำเรือ  นั่นหมายถึงทุกคนจะรู้เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ และวางแผนการทำงานสำหรับอนาคตได้อย่างถูกต้อง มีทิศทาง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ