Lifestyle

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีรับฟังความคิดเห็น “เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท” เปิดโอกาสให้น้องๆ เด็กและเยาวชนที่ถูกเท สะท้อนเรื่องราวชีวิตเปราะบาง พร้อมข้อเสนอหลุดพ้นการถูก “เท”

      สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และศูนย์วิจัยและพัมนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้น้องๆ เด็กและเยาวชนที่ถูกเท สะท้อนเรื่องราวชีวิตเปราะบาง พร้อมข้อเสนอหลุดพ้นการถูก “เท”

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

       น้องเนม (นามสมมติ) เด็กต้องคดี ค้ายาเสพติด อายุ 24 ปี  กล่าวว่า วัยเด็กเขาก็เหมือนเด็กทั่วไป ชอบตามเพื่อน เกเร ไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วงม.ต้น ก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ไปสมัครเรียนที่ไหนไม่มีใครรับ เพราะทุกโรงเรียนรู้ว่าเราเกเรมาก ทำให้ต้องออกจากระบบโรงเรียนไม่ได้เรียนต่อ ด้วยความที่ชอบมอเตอร์ไซต์ ก็กลายเป็นเด็กแว้นกับเพื่อน จนวันหนึ่งช่วงอายุ 14 ปี เราเริ่มเข้าสู่ชีวิตเสพยา รู้จักยาบ้าจากรุ่นพี่ เพื่อนในกลุ่มที่อยู่ด้วยกันมาแนะนำให้ลอง เพื่อนถามว่า ใจหรือเปล่า และถ้าใจต้องกล้าลองมัน  เราติดเพื่อนอยู่กับเพื่อนตลอด เพราะกลับบ้านไปก็ถูกด่า เนื่องจากไม่ช่วยงานบ้าน ไม่เรียนหนังสือ พอเสพยาบ้า ก็รู้จักยาไอซ์ กัญชา และที่ติดสุด คือ เฮโรอีน 

          “ตอนแรกๆ มีคนให้มาเสพ แต่พอหลังๆต้องหาเงินซื้อเอง เราก็ขโมยของที่บ้าน เงินที่บ้าน จนครั้งหนึ่งได้ทำร้ายพ่อแม่ เพราะเราต้องการเงิน จนต้องออกจากบ้านและมีเพื่อนคนหนึ่งให้เราเป็นคนส่งยาโดยจะได้ยาเป็นค่าตอบแทน  และหลังๆ กลายเป็นเด็กส่งยาต่างจังหวัดได้เงินค่าส่งหลักหมื่นบาท แสนบาท ซึ่งเด็กวัย 15-16 ปี มีเงินเยอะมากขนาดนั้น ย่อมไม่สนอะไรนอกจากหาเงินมาซื้อยาเสพติด กิน เที่ยว และเด็กวัยนี้ เป็นวัยติดเพื่อน ฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ เพราะต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม จนกระทั่งตัดสินใจเลือกข้องเกี่ยวยาเสพติด  ครั้งสุดท้าย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้ที่บ้านได้ค่าจ้าง 2 แสนกว่าบาท แต่ก็พลาดโดนจับกุมข้อหามียาบ้า 50,000 เม็ด โดยศาลเยาวชนตัดสินส่งไปอยู่ศูนย์ฝึก” เนม กล่าว

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

     ทุกคนที่ทำผิด อย่าเรียกร้องเพียงให้สังคมยอมรับ ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เนม เล่าต่อว่า ปัจจุบันพ้นโทษแล้วและเลิกยุ่งกับยาเสพติดทุกชนิด เพราะได้รับโอกาส ได้ฝึกอาชีพโดยให้ค้นหาตัวเองถึงอาชีพที่สนใจ การซ่อมและซื้อขายมอเตอร์ไซด์เก่า รวมถึงเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานแบบพอเพียง ทำให้ผมมีความฝันอยากอยากจะมีบ้านสวนเล็กๆ และเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ เพื่อสักวันหนึ่งผมจะมีโอกาสรับเยาวชนที่เคยก้าวพลาดมาดูแล เหมือนที่ตนเองได้รับโอกาสนั้นมา เพราะเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ต้องการเพียงคนให้อภัย ให้โอกาสได้เริ่มต้นใหม่

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

        น.ส.คำแลง เยาวชนไร้สัญชาติ อายุ 20 ปี นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าอยู่ในสถานะไร้สัญชาติแม้ว่าจะเกิดที่ประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ที่ผ่านมาพยายามยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทยแต่ติดปัญหาที่ต้องมีพ่อแม่มายืนยันการเกิด ซึ่งพ่อที่แยกทางจากแม่ก็แจ้งว่ามีลูกเพียงคนเดียวคือลูกที่เกิดกับครอบครัวใหม่ ทุกครั้งเวลาไปร่วมกิจกรรมภายนอกตนมักใส่เสื้อกันหนาวปิดไว้ เพราะมีแต่ชื่อไม่มีนามสกุลทำให้รู้สึกอายเมื่อมีคนมาถามว่าทำไมมีแค่ชื่อ และการไม่มีสัญชาติทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเรียนต่อ เพราะคณะที่อยากศึกษาต่อคือ คณะแพทย์และสายสุขภาพ ซึ่งมีการระบุคุณสมบัติว่าไม่รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ และไม่มีสิทธิกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษา (กยศ.) 

     “หนูมีเกรดเฉลี่ย 3.8 ฝันอยากเป็นหมอหรือพยาบาล แต่สิทธิการสมัครสอบก็ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่หลายคนพยายามช่วยให้หนูได้รับสัญชาติโดยเร็ว แต่ปัญหาของหนูมันซับซ้อน ซึ่งหนูมีเส้นตายการสมัครอยู่ภายใน 30 ก.ย.นี้”   

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

       ขณะที่ มาย (นามสมมติ) อายุ 23 ปี อดีต แม่วัยรุ่นเล่าว่า ครอบครัวของเธอไม่ได้มีปัญหาอะไร พ่อแม่รักและดูแลอย่างดี จนช่วงเพิ่งจบม.3 เธอทะเลาะกับพ่อ จึงตัดสินใจออกจากบ้านไปอยู่กับแฟน จนตอนอายุ 17 ปี ก็ท้อง พอท้องก็ไม่ได้เรียนต่อ และเมื่อแฟนต้องทำงานคนเดียว เธอเลี้ยงลูกทำงานช่วยแฟนไม่ได้ มีปัญหาทะเลาะกัน จนแยกกันอยู่กันแฟน ด้วยภาวะที่เราเป็นเด็ก งานก็ไม่ได้ทำ เงินก็ไม่มี ทำให้ตัดสินใจทำอะไรผิดๆไปหลายอย่าง แต่ก็โชคดีที่แม่เข้ามาช่วยเหลือ ให้กลับไปอยู่บ้าน และช่วยเธอเลี้ยงลูก ตอนนี้ก็กลับมาอยู่กันแฟนและพ่อแม่ที่บ้าน

     “ไม่มีใครอยากเดินก้าวพลาดแต่เมื่อย้อนกลับไปไม่ได้ ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด มายอาจโชคดีที่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือ แต่ก็แม่วัยใสทุกคนไม่ได้โชคดีเหมือนมาย หลายคนต้องอยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีใครดูแล อยากให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ช่วยเหลือกลุ่มแม่วัยใสให้มีงานทำ หรือศึกษาต่อ รวมถึงควรมีบทเรียน หรือสอนให้เด็กผู้หญิงดูแลตัวเอง รู้ผลเสียหากเดินก้าวพลาด อย่าใช้อารมณ์ และครอบครัวต้องให้กำลังใจจากครอบครัว”

(คลิป) หนูไม่อยากถูกเท

     ไม่ว่าครอบครัวของจะอบอุ่นหรือไม่ มาย(นามสมมติ)ย้ำว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดบอก เตือน เด็กควรเชื่อฟังครอบครัวของเรา ชีวิตจะดีมากกว่าที่เราคิด 

    น้องโอลี่ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี ตัวแทน เด็กครอบครัวแตกแยก เล่าว่าพ่อกับแม่แยกทางกันตอนเขาอายุ 13 ปี พ่อทิ้งแม่ไป ทำให้แม่กลายเป็นเสาหลักของบ้าน ต้องทำงาน หาเงินเลี้ยงครอบครัว แม่ไม่มีเวลาให้ ทำแต่งาน บางครั้งก็ทะเลาะกับแม่ เพราะพอแม่ไม่มีเวลาให้ เขาก็เริ่มเกเร สูบบุหรี่ แม่ก็ขอให้หยุด เขาก็ยังหยุดไม่ได้

     “พ่อแม่แยกทางกัน เราอยู่กับแม่ 2 คน พอแม่ทำแต่งาน เราก็เหมือนขาดความอบอุ่น เริ่มเรียนรู้สิ่งที่ไม่ดีง่ายขึ้น ซึ่งมีเพื่อนๆ ที่ประสบปัญหาแบบผมอีกเยอะ  แถมบางคนถูกปล่อยทิ้งไว้  หลายคนกลายเป็นเด็กเก็บกดมีปัญหา อยากให้สังคมเข้ามาช่วยเหลือ คอยปรับความคิด สร้างความอบอุ่น หยิบยื่นความรัก กำลังใจ ความเข้าใจแก่เด็กกลุ่มนี้ เพราะสิ่งที่พวกเขาอยากได้คือการยอมรับ ความรัก ความเข้าใจจากคนในครอบครัว”

      คำพูด การกระทำของคนในครอบครัว จุดเล็กๆ แต่สร้างผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก..หลายคนที่ไม่ได้อยากเดินบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ความยากลำบาก และในเมื่อพลาดไปแล้ว ก็อยากให้ใครสักคนหรือสังคมเข้าใจ ให้โอกาส และอยากหลุดพ้นภาวะเปราะบางด้วยเช่นกัน

            0 ชุลีพร  อร่ามเนตร [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ