Lifestyle

ธุรกิจนมเด็ก แจงผลกระทบ พ.ร.บ.มิลค์โค้ด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ยันดำเนินธุรกิจภายใต้กม.ใหม่ แจงแนวปฏิบัติขยายจัดการเรื่องฉลาก ชี้ขั้นตอนและระยะเวลา 1 ปีตามพ.ร.บ.ไม่ทัน พร้อมขอมีส่วนร่วม

           เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2560 พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก(PNMA) ในนามสมาชิกทั้งหมด6บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ,บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด,บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน(ประเทศไทย)จำกัด ,บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด,บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด แผนกธุรกิจไวเอท นิวทริชั่น  และบริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กรณีผลกระทบจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ว่า ที่ผ่านมาผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็กดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ทำธุรกิจภายใต้กฎหมายและพร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ตกลงร่วมกันอย่างเคร่งครัด

     โดยสมาชิกของสมาคมฯ สนับสนุนคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่มุ่งส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นให้นมแม่ควบคู่กับอาคารตามวัยที่เหมาะสมจนถึงอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น และการใช้อาหารสำหรับทารกเพื่อทดแทนหรือเสริมนมแม่นั้น ควรใช้เมื่อจำเป็นอย่างถูกต้องบนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่เพียงพอผ่านการทำตลาดและการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม

         ทั้งนี้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2560 ขณะนี้สมาชิกฯ ได้มีการปรับตัวเพื่อให้ดำเนินการสอดคล้องกับกฎหมายใหม่ มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็กต่างๆ  โดยที่ผ่านมาสมาชิกฯ ได้ดำเนินธุรกิจตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)บังคับอยู่แล้ว             อีกทั้ง นมผงสำหรับทารกสูตร 1 และสูตร 2 เป็นอาหารทารกที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายอาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งผู้ผลิตไม่สามารถทำสื่อสารการตลาดได้อยู่แล้ว และมีการกำกับดูแลกันเองในหมู่สมาชิกเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดระเบียบปฏิบัติ ทางสมาคมได้จัดทำ PNMS Code of Marketing of Breast-milk Substitutes  เริ่มต้นใช้ในปี 2559  ระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดอาหารทดแทนนมแม่สำหรับแม่และเด็กที่มีความจำเป็นต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ (แรกเกิดถึง 1 ปี ) มีการปรับปรุงให้ระเบียบปฏิบัติมีความทันสมัยในปี 2560 และปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2559 โดยได้จัดอบรมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อทำความเข้าใจตรงกันในทางปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมการตลาดอย่างถูกต้องและมีบทลงโทษกรณีสมาชิกละเมิดระเบียบปฏิบัติ  

        พญ.กิติมา  กล่าวต่อไปว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขออกกฎหมายใหม่ฉบับนี้เพื่อควบคุมเรื่องการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของนมผงและอาหารเสริมสำหรับทารก (นมสูตร1 -2 ) ซึ่งสอดคล้องกับ PNMA CODE  ที่ทำกันมานานแล้ว และระหว่างรอความชัดเจนในหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่างๆ ภายใต้พ.ร.บ.นั้นสมาคมฯ ได้ประสานสมาชิกและมีข้อตกลงในเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางร่วมกันสำหรับการปฏิบัติที่สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล

       โดยจะมีมีแนวปฏิบัติดังนี้ 1. การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือนมผงสูตร 3 จะกระทำต่อไปในลักษณะที่ไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นอาคารทารก นั่นคือ ทางสมาชิกฯ จะทำการตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ ให้มีตัวอักษรชัดเจน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าเป็นนมสำหรับทารก ซึ่งตอนนี้ถึงจะมีการดำเนินการดังกล่าวอยู่แต่จะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  

        2.การวางแผนจัดการเรื่องฉลาก เนื่องจากกฎหมายระบุให้ผู้ผลิตต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนฉลากให้แตกต่างจากอาหารอื่นๆ ภายใน 1 ปี นับจากประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติ ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีได้ เนื่องจากขั้นตอนและระยะเวลาในการเปลี่ยนฉลากอาหารสำหรับทารกตามมาตรฐานสากลการผลิตสินค้า เพื่อให้ได้ฉลากสินค้าใหม่ ประมาณ 17 เดือน  ทางสมาคมฯ จึงได้ไปหารือกับ อย.เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยสมาชิกของสมาคมฯ พร้อมจะปรับแก้แต่เรื่องระยะเวลาต้องเจอกันคนละครึ่งทาง และต้องขอความร่วมมือไปยัง อย. เพื่อลดระยะเวลาด้วย เนื่องจากหนึ่งในขั้นตอนของการเปลี่ยนฉลาก ต้องยื่นขออนุญาตจาก อย. รอการอนุมัติด้วย  

       “กฎหมายใหม่ ได้สร้างผลกระทบแก่การดำเนินการธุรกิจอาหารสำหรับอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็กและอาหารเสริมสำหรับทารก   เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าอาหารสำหรับเด็กเล็กและอาหารเสริมสำหรับทารก อีกทั้งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามนิยาม (ข้อมูลจากรมอนามัย) ในส่วนของอาคารเด็กเล็กต้องเป็นไปตามประกาศรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการ นอกจากนั้นอาคารเสริมสำหรับทารก มีบางผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเด็กที่อายุเกิน 1 ปี ขึ้นไปจึงไม่ควรใช้เป็นตัวอย่างอาหารเสริมสำหรับทารก รวมถึงฉลากใช้คำว่าเชื่อมโยง ซึ่งยังไม่ชัดเจน ดังนั้น อยากขอการมีส่วนร่วม ในการจัดทำกฎหมายรอง โดยสมาคมฯ เสนอให้มีตัวแทนภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและจัดนำนโยบายยุทธศาสตร์ และมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารก อาหารสำหรับเด็กเล็กและอาหารเสริมสำหรับทารก   ควรเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และภาคประชาสังคม เป็นต้น ”พญ.กิติมา กล่าว

       อย่างไรก็ตาม ในการโฆษณา หรือส่งเสริมการขาย การทำธุรกิจของสมาชิกทุกบริษัทเป็นการทำกิจการค้าภายใต้กฎหมายและพร้อมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆที่ตกลงร่วมกันอย่างเคร่งครัด ดังนั้น การโฆษณาเกินจริง การลดแลกแจกแถม จะไม่ดำเนินการอย่างแน่นอน รวมถึงการนำไปให้แพทย์ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ทางสมาชิกฯ พร้อมปฏิบัติตามข้อห้ามต่างๆ ตามที่ พ.ร.บ.กำหนด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ