Lifestyle

ภาคประชาสังคม วอนนายกฯ ยับยั้ง“บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาคประชาสังคมฯ เดินหน้ารวม 5 พันรายชื่อ ยื่น นายกฯ-วธ.-กรมศิลป์ ยับยั้งบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ จี้เปิดทีโออาร์ ตั้งกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบ แก้ไข

         “พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร” สีขาวโพลนทั้งองค์ ที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน จากการบูรณะที่ กรมศิลปากร รับผิดชอบดำเนินการ ยังมีเรื่องการแกะกระเบื้องสี  ลวดลายกระเบื้องที่ประดับเปลี่ยนไป ฝีมือของช่าง  ไปจนถึงการนำเศษกระเบื้องไปทำมวลสารวัตถุมงคล กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ สนั่นโลกโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
        แม้อธิบดีกรมศิลปากร “อนันต์ ชูโชติ” จะออกมาไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ ด้วยตนเอง แต่ยังมีความไม่เห็นด้วยกับการบูรณะ เพราะมีภาพลักษณ์และความหมายที่เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อมถอย กระทบใจของประชาชนคนไทยผู้ที่รักและผูกพันกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้  มีการรวมตัวในนาม “ภาคประชาสังคม ศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร” ผุดแคมเปญรณรงค์ผ่าน Chang.org  ให้ผู้สนใจร่วมลงชื่อเพื่อเสนอผู้มีอำนาจสั่งการะงับยับยั้งการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ 

ภาคประชาสังคม วอนนายกฯ ยับยั้ง“บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ"
         

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ภาคประชาสังคมฯ ได้รวบรวมรายชื่อ 5,000 รายชื่อเดินสายไปทำเนียบรัฐบาล กรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม โดยอดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร “ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์” หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาสังคมฯและผู้ร่วมลงชื่อ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมฯ ได้นำรายชื่อทั้งหมดที่ได้ร่วมลงชื่อยื่นพร้อมจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้ระงับยับยั้งโครงการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร และแต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขาเพื่อทบทวน ตรวจตราและแก้ไขความเสียหาย ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ,นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม และนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร 
        โดยขอให้ดำเนินการใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ขอให้มีคำสั่งให้กรมศิลปากร ระงับยับยั้งและยุติการบูรณะตามสัญญาโครงการในทันที 2. ขอให้เปิดเผยสัญญาว่าจ้างแก่สาธารณชนรับทราบ เพราะงานการบูรณะที่ปรากฏออกมาเห็นได้ชัดว่ามีปัญหา ศิลปะดั้งเดิมหายไป ขั้นตอนการทำงาน การออกแบบขาดการควบคุม และหละหลวม  ทั้งที่ควรศึกษาให้ละเอียดว่าต้องบูรณะแบบใด และ3.ขอให้แต่งตั้งกรรมการระดับชาติที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เข้าตรวจตรา ทบทวนกระบวนการ วิธีการบูรณะและอนุรักษ์พุทธปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ 

ภาคประชาสังคม วอนนายกฯ ยับยั้ง“บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ"


       เพราะลงพื้นที่สำรวจปัญหาจึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องดังกล่าว ศ.สายันต์ กล่าวต่อไปว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาพบเห็นและสรุปปัญหาทั้งในระดับการวางนโยบายบูรณะ และระดับปฏิบัติการได้ พบว่า กรมศิลปากร ไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย ประเมินสภาพศิลปกรรมโบราณโดยละเอียดก่อนการออกแบบบูรณะ ทำให้การบูรณะไร้ทิศทางและขาดมาตรฐานที่จะให้ผู้ควบคุมงานใช้การอ้างอิงเพื่อตรวจรับงาน มีการรื้อผลงานล้ำเลิศของครูช่างโบราณออก ทำใหม่เปลี่ยนแปลงจากของเดิม เช่น สีกระเบื้องของยักษ์ ลิง คนธรรพ์ รวมไปถึงลวดลาย ขนาด ช่างไร้ฝีมือ ขาดความประณีต มีการใช้วัสดุ(ปูนขาว)ที่ไม่ได้มาตรฐานใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับของเดิมทำให้วัสดุกระเบื้องถ้วยเคลือบเริ่มหลุดร่วง ทั้งที่เพิ่งบูรณะเสร็จไปไม่กี่เดือน
       “โครงการบูรณะครั้งนี้ทำให้เกิดความเสื่อมค่า ทางอัตลักษณ์อันโดดเด่นของพุทธปรางค์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กระทบตากระทบใจคนแวดวงศิลปะ ผู้รักงานศิลป์ ยิ่งเข้าไปดูใกล้ๆจะเห็นได้ว่าการบูรณะเปลี่ยนไปจนทำลายคุณค่างานครูช่าง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้น ทางภาคประชาสังคมฯ จึงเสนอถึงนายกฯ สั่งการให้ยุติการบูรณะที่ดำเนินการอยู่  ในระยะเร่งด่วนได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ  โดยนายกฯเป็นผู้ตั้งขึ้น อาจจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ นักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้ทางด้านการบูรณะโบราณสถาน ลงมาตรวจสอบและวางแผนบูรณะใหม่ ซึ่งต่อให้ต้องลงทุนแก้ไขใหม่ก็ควรทำ ถ้าไม่แก้ไขก็จะยิ่งน่าเกลียดกว่าเดิมและในอนาคตควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ที่ทำหน้าที่ในการกำกับ กำหนดทิศทางการดูแลบูรณะโบราณสถานสำคัญๆ ควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรให้อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว”ศ.สายันต์ กล่าว

ภาคประชาสังคม วอนนายกฯ ยับยั้ง“บูรณะพระปรางค์วัดอรุณ"
   

         อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมฯ มาจากการรวมตัวของคนที่มองเห็นปัญหาและไม่สบายใจต่อการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ข้อเสนอต่างๆที่ยื่นให้กับระดับนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เห็นประเด็นปัญหา ซึ่งจะรับไปดำเนินการหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่เรื่องนี้เป็นที่สนใจของประชาชน เชื่อว่าจะคอยจับตาดูการแก้ไขปัญหาแน่นอน  แต่ส่วนตัวจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆอีก เพราะได้ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลต่างๆมามากแล้วในฐานะนักวิชาการ ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 

     สำหรับการบูรณะพระปรางค์ วัดอรุณฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีและมีกำหนดส่งมอบงานในเดือนตุลาคม 2560  และมีกำหนดจะจัดงาน สมโภชพระโภชพระปรางค์วัดอรุณฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2561 รวมระยะเวลา 10 วันอีกด้วย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ