Lifestyle

ครอบครัวไทยผูกพันไม่ทอดทิ้งคนแก่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

-ผลวิจัยวงจรชีวิตครอบครัวไทย เฟสแรก ถาม 310 ครอบครัวใน 4 ภาครวมกรุงเทพฯ ระบุครอบครัวไทยมีระบบพึ่งพาภายใน มีสัมพันธภาพที่ดี ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ

 

           การประชุมวิชาการ"ครอบครัวไทย ยุค 4.0 : ข้อค้นพบเบื้องต้นจากการศึกษาเบื้องต้น" โครงการวิจัยการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี โดย ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยโครงการศึกษาครอบครัวไทยฯ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทยตามวงจร และการวัดครอบครัวอยู่ดีมีสุข โดยใช้ดัชนีทางการวิจัย ภายใต้โจทย์ "ครอบครัวอยู่ ดี มีสุข" กำหนดแผนดำเนินใน 3 ระยะ

     คือ ระยะที่ 1 ศึกษาเชิงคุณภาพ ระยะที่ 2  ศึกษาเชิงปริมาณ และระยะที่ 3 ศึกษาเชิงคุณภาพ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1.(2559-2560) ศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม 310 ครอบครัวใน 4 ภาคและกรุงเทพมหานคร รวม 8 จังหวัดสุ่มภาคละ 2 จังหวัดละ 2 อำเภอ แบ่งเป็น 6 กลุ่มตามเพศและช่วงวัย ซึ่งจะมีการแบ่งกลุ่มเพศหญิงและชายในการสัมภาษณ์ ตามช่วงอายุระหว่าง 18-30 ปี,อายุ 31-59 ปีและอายุ 60 ปีขึ้นไป 
            ทั้งนี้ ได้รวบรวมจากการจัดกลุ่มจนได้เป็นองค์ประกอบของความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว ใน 9 ด้าน ได้แก่ สัมพันธภาพ การดูแลสุขภาพ การพัฒนาทางจิตวิญญาณ เศรษฐกิจ การศึกษา ความมั่นคงและพึ่งพา ความร่วมใจและความปลอดภัยในชุมชน การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง และบทบาทหน้าที่ โดยผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่าครอบครัวไทยมีลักษณะเฉพาะของครอบครัวที่มีความใกล้ชิด มีระบบเกื้อหนุน เป็นระบบพึ่งพากันภายใน

      ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะอยู่รวมกันในครอบครัวเดิม เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการแยกตัวทำให้เกิดการหดตัวของจำนวนผู้อยู่ในครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่เมื่อครอบครัวนั้นมีผู้สูงอายุก็พบว่ามีการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวขยาย จุดนี้เป็นสิ่งที่ดีของครอบครัวไทย และอยากให้มีการส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวต่อไป
           “ในอนาคตอยากจะให้งานวิจัยนี้สะท้อนสภาพครอบครัวไทยอยู่ดีมีสุขหรือไม่ แต่ละภาคอยู่ดีมีสุขอย่างไร ในระยะของพัฒนาการครอบครัว แต่ละระยะของชีวิต เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆนไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและนโยบายการพัฒนา โดยขณะนี้คณะทำงานได้นำข้อมูลจากการศึกษาวิจัยระยะแรก ได้องค์ประกอบ 9 ด้านมาพัฒนาจนได้เครื่องมือที่ดีเป็นโครงร่างแบบประเมินเชิงปริมาณ ได้ 75 ข้อ นำไปเก็บข้อมูลในระยะที่ 2 จาก 6,000 ครอบครัวใน 10 จังหวัด อาทิ นครปฐม เพชรบุรี ลำพูน นครสวรรค์ สุรินทร์ ยโสธร สุราษฎร์ธานี พัทลุง เป็นต้น”หัวหน้าคณะผู้วิจัยฯ กล่าว
            ด้าน ศ.ดร.ดารุณี จงอุดมการณ์ คณะผู้วิจัยฯ กล่าวว่า สำหรับ 9 องค์ประกอบความอยู่ดีมีสุขครอบครัวไทยจากผลการศึกษา 5 ภูมิภาค พบว่า สภาพวิถีชีวิตของครอบครัวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีความคล้ายคลึงกัน คือสมาชิกที่เป็นวัยหนุ่มสาวต้องออกไปทำงานต่างถิ่นเพื่อจุนเจือครอบครัว แล้วย้ายกลับมาเมื่ออยู่บ้านเมื่อต้องกลับมารับผิดชอบดูแลลูกหลานที่เติบโต หรือผู้สูงอายุในครอบครัว แต่ก็มีภาวะแหว่งกลางที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรุ่นหลานและคนสูงอายุตรงนี้ต้องมีแนวทางที่จะพัฒนาส่งเสริมเพิ่มเชื่อมสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 พื้นที่นี้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุและอุทิศตนเพื่อครอบครัว
           สำหรับวิถีชีวิตคนภาคกลาง ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และครอบครัวชาวสวนมีทั้งครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย ผู้อาวุโสเป็นหัวหน้าครอบครัว ห่วงใยหลานในเรื่องของอาชีพที่ยังขาดหลักประกันที่ มั่นคง ในส่วนของภาคใต้พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธในจังหวัดยะลามีสภาพที่ดีกว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่ปัญหาความรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดยะลาส่งผลให้ครอบครัวได้รับผล กระทบ ผู้ให้ข้อมูลมีข้อเสนออยากให้รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาเยียวยาความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ความรุนแรง
       อย่างไรก็ตามเมื่อดูภาพรวมขององค์ประกอบทั้ง 9 ด้านจากการสัมภาษณ์ในทุกพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่สอดคล้อง และอธิบายถึงสุขภาพวะครอบครัวที่ให้ความสำคัญ เรื่องสัมพันธภาพในครอบครัว การอยู่ร่วมกัน ดูแลเกื้อหนุนกัน

     นอกจากนี้ในภาคอีสานยังใช้ใช้วิธีการสร้างสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจากอดีต คือ คุยกันผ่านไลน์หรือเฟซบุ๊ก เป็นต้น มีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนเพื่อนบ้านปฏิบัติตามหน้าที่และบทบาทของตนเอง โดยเรื่องสำคัญที่ทุกครอบครัวเป็นห่วงก็คือปัญหายาเสพติด ส่วนความมุ่งหวัง คือ ให้ลูกหลานมีการศึกษาในระดับที่สูง ดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง 
       ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว.กล่าวว่า การศึกษาสถานภาพวงจรครอบครัวไทย ยังอยู่ในระยะที่ 1  ดำเนินการเบื้องต้น 310 ครอบครัว เป็นเพียงดูแนวโน้มเทรนของครอบครัว อาจยังไม่สามารถนำผลไปใช้ได้ชัดเจน เพราะมีแผนดำเนินการ ระยะที่ 2 ที่ต้องเก็บข้อมูลในอีก 6,000 ครอบครัว

      ซึ่ง สกว.หวังให้งานวิจัยนี้เกิดความรู้ทางวิชาการ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เพื่อสร้างครอบครัวไทยซึ่งมีความหลากหลาย แตกต่างถ้าจะทำให้จาก 3.0 ไปสู่ 4.0 ต้องทำอะไรบ้าง เป้าหมายให้ครอบครัวอยู่ ดี มีสุข เป็นฐานสำคัญในการผลักดันประเทศ ครอบครัวเป็นยูนิตเล็กที่สุด แต่หากรวมตัวกันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ