Lifestyle

"ข้าราชการไทย 4.0"อาจมีสิทธิเลือกชีวิตทำงานเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาธิการก.พ.เผยอยู่ระหว่างวิจัย 2 เรื่องสำคัญ ข้าราชการไทยทำงานที่ไหนก็ได้ และ รูปแบบจ่ายค่าแรง-สวัสดิการหลากหลาย เปิดโอกาสข้าราชการออกแบบชีวิตทำงานเอง

       เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ที่ศุนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการประชุมภาคีเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ “ความสุขข้าราชการไทย 4.0”  นางเมธินี เทพมณี  เลขาธิการก.พ. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความสุขราชการไทย 4.0” ว่า  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ดูแลข้าราชการพลเรือน 4 แสนคน และมีพนักงานรัฐอื่นๆ เช่น ตำรวจ ยุติธรรม และท้องถิ่น 3 ล้านคน  ซึ่งการข้าราชการไทยจะก้าวไปสู่ 4.0จะต้อง 1.มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ คือเฉลี่ยการทำงานทั้งสุขและทุกข์ในรูปแบบต่างๆไม่ใช่การทำงานคนเดียว 2.มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมในการทำงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่เมื่อทำงานอะไรแล้วต้องดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดผลเบ่งบานเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของประชาชน

            3.ส่วนราชการต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยด่วนให้ที่ทำงานรู้สึกเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2  น่าอยู่ น่าทำงาน เพื่อนร่วมงานก็ต้องทำให้อยู่ใกล้เราแล้วมีความสุข เพราะจะไปหวังให้เขาทำงานให้เรามีความสุขคงยาก และเงินไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการทำงาน และ4.การก้าวสู่ยุคดิจิตัล ซึ่งขณะนี้สำนักงานก.พ.กำลังทำวิจัยเรื่องข้าราชการไทยทำงานที่ไหนก็ได้ หมายถึง ทำงานแล้วส่งงานเข้ามาไม่จำเป็นต้องปรากฎตัว เนื่องจากในอนาคตคนรุ่นใหม่มีการคิดแบบใหม่ๆ  เวลาทำงานของข้าราชการอาจไม่ใช่การต้องเข้างาน 8.00 -16.00 น.อีกต่อไป

            นางเมธินี กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขอพิจารณาบัญชีเงินเดือนของข้าราชการทั้งหมด และในอนาคตบัญชีเงินเดือนอาจจะไม่ใช่แบบบล็อคๆอย่างที่เป็นในปัจจุบัน แต่สำนักงานก.พ.กำลังวิจัยรูปแบบการจ่ายค่าแรง จ่ายสวัสดิการที่หลากหลายรูปแบบให้เลือกได้หรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับข้าราชการไทยออกแบบชีวิตการทำงานของตนเองได้

            “ส่วนที่ไม่ใช่ข่าวปล่อยข่าวลือคือ ข้าราชการไทยไม่มีต่ออายุราชการ มีแต่ข้าราชการไทยห้ามเกษียณ  ผู้สูงอายุต้องไม่ติดบ้าน ติดเตียง เพราะรัฐไม่ต้องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและผู้สูงอายุก็ไม่อยากรับ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ผู้สูงอายุมีคุณค่า จึงต้องพยายามหางานให้ผู้สูงอายุทำ โดยจะทำฐานข้อมูลข้าราชการบำนาญ เพื่อให้สามารถมีงานทำที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้เป็นกลไกส่วนหนึ่งที่สร้างความสุข”นางเมธินีกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ