Lifestyle

(คลิป)ฟังชัดๆสปส.ให้สิทธิรักษา"มะเร็งเม็ดเลือดขาว"หรือไม่!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯประกันสังคมแจงผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกระยะ ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ครอบคลุมตามข้อบ่งชี้มาตรฐานการรักษาของประเทศ

            จากกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ ได้ออกแคมเปญผ่านเว็บไซต์ Change.org "คนไข้ประกันสังคมวอนขอชีวิต หลังพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดระยะที่ 3" เพื่อร้องเรียนต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยระบุว่า เป็นมะเร็งดังกล่าวระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย แต่ประกันสังคมไม่อนุมัติให้ใช้ยารักษา เนื่องจากจะอนุมัติเฉพาะคนที่เป็นระยะแรกเท่านั้น

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) นนทบุรี  นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แถลงข้อเท็จจริง “การให้ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว”ว่า  สิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนครอบคลุมผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกระยะ ที่ให้การรักษาตามข้อบ่งชี้ที่เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของประเทศไทย ซึ่งวางแนวทางการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ของประเทศไทยมาปรึกษาหารือและเห็นร่วมกัน  โดยสปส.จะนำแนวทางมาตรฐานดังกล่าวมากำหนดเป็นกฎเกณฑ์ในการกำหนดสิทธิการรักษาให้กับผู้ประกันตน 

      เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ของประเทศไทยยังยืนยันใช้ข้อบ่งชี้และแนวทางการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเช่นเดิมตามที่สปส.กำหนดเป็นสิทธิให้กับผู้ประกันตน คือ หากเป็นระยะที่ 1 ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับยาอิมาตินิบ แต่หากใช้แล้วไม่ได้ผลก็สามารถใช้ยาตัวที่สูงขึ้นอีก 2 ตัว คือ ยานิโลตินิบ และดาซ่าทินิบได้ โดยครอบคลุมอยู่ในสิทธิประกันสังคมเช่นกัน

        ส่วนระยะที่2และ3 มาตรฐานการรักษาของไทยระบุว่าหากใช้ยาอิมาตินิบจะเกิดผลข้างเคียงมากกว่าผลดีที่จะเกิด ขึ้นกับคนไข้  สปส.ก็กำหนดกฎเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้นี้ แต่หากคนไข้ในระยะที่ 2 และ 3 เห็นพ้องกับแพทย์ที่ทำการรักษาว่าต้องการใช้ยาอิมาตินิบ รพ.ต้นสังกัดก็จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาให้กับผู้ประกัน  ยืนยันว่าผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายเงินเอง อย่างไรก็ตาม กรณีแพทย์จ่ายยาให้ผู้ป่วยโดยไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย แพทย์ท่านนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

       “สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองและสิทธิสวัสดิการข้าราชการก็ใช้ข้อบ่งชี้แนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานของประเทศอันนี้เช่นเดียวกับสปส.  เพราะการเขียนแนวทางมาตรฐานการรักษากลางของประเทศ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเป็นหนูทดลองยาให้กับแพทย์ เพราะแนวทางมาตรฐานฯเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันดูและพิจารณาเห็นร่วมกันแล้ว ซึ่งสปส.ก็ไม่อยากให้ผู้ประกันตนเป็นเช่นเดียวกัย”นพ.สุรเดชกล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ