Lifestyle

“ระบบอุปถัมภ์”ทำผลสอบ"คุกคามทางเพศ"มักไม่ผิด!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผอ.บ้านกาญฯ ชี้ปัญหาคุกคามทางเพศ กฎหมายเป็นแค่เสือกระดาษ เหตุจากระบบอุปถัมภ์ในหน่วยงาน แนะทางออกเพิ่มคนนอกร่วมไต่สวน

           เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเอบีน่าส์เฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว: รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ภายในงานได้มีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” โดยผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเอง

“ระบบอุปถัมภ์”ทำผลสอบ"คุกคามทางเพศ"มักไม่ผิด!!!

            นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ ทั้งกฎหมายอาญา มาตรา 278 ที่ระบุว่าผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 285 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็มีกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งการคุกคามทางเพศ

     นางทิชา กล่าวอีกว่า สถานการณ์การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น กฎหมายกลับเป็นเพียงเสือกระดาษ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพสังคมไทย 4 ประการ คือ 1. มีระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เคยตาย เหมือนแมลงสาบอายุยืน สกปรกแค่ไหนก็อยู่ได้ 2.ระบบอำนาจนิยมที่แข็งแรง 3.สังคมไทยยังมองผู้เสียหายอย่างมีอคติ คือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็มองว่าผู้เสียหายยินยอมหรือให้ท่า ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเผยตัวหรือเรียกร้องสิทธิความปลอดภัยให้กับตนเอง

“ระบบอุปถัมภ์”ทำผลสอบ"คุกคามทางเพศ"มักไม่ผิด!!!

        4.กระบวนการเอาผิดผู้กระทำภายใต้ระบบราชการมีความยุ่งยากซับซ้อน การสอบสวนมักใช้เวลานาน และยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ซ้อนอยู่ ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัวอะไร โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการที่คุกคามได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด3 ปี จะไม่มีใครรู้เห็นพฤติกรรมเหล่านั้นเลยหรือ หรือรู้เห็นแต่ไม่ทำอะไร  เพราะเขารับใช้นายเก่งหรือ ซึ่งฉากจบของการไต่สวนกรณีทำนองนี้มักจะออกมาว่าคนผิดไม่มีวันตายในระบบราชการ ไม่สามารถดำเนินการหรือมีมาตรการลงโทษได้

       “ทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ ทุกครั้งที่เกิดกรณีแบบนี้ ควรให้มีคนนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น นักวิชาการด้านสิทธิ หรือบุคคลที่ทำงานและมีความเชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ เข้าร่วมไต่สวนหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อสร้างดุลยภาพในการไต่สวน ทำให้มีการเอาผิดอย่างจริงจัง และไม่ถือว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซง”นางทิชา กล่าว

            

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ