Lifestyle

สธ.ตั้งสอบวินัย 2 ข้าราชการ กรณีลวนลามลูกจ้างสาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลัดสธ.แถลง ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ข้าราชการลวนลามลูกจ้าง พ่วงสอบวินัยไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาเพิกเฉย รู้เรื่องไม่แก้ปัญหา ตั้งสอบวินัยไม่ร้ายแรง

   ความคืบหน้ากรณีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระดับหัวหน้างานลวนลามลูกจ้างสาว 4 คน ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่สธ.ตั้งขึ้นได้สรุปผลว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีมูล และจะต้องพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบวินัยต่อไปว่าเป็นวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง 

   ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “ผลการสืบสวนกรณีข้าราชการมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ” ว่า คณะกรรมการสืบสวนได้เสนอผลการสืบสวนกรณีข้าราชการสังกัด สธ.ถูกร้องเรียนว่าได้กระทำอนาจารผู้ใต้บังคับบัญชาหญิงหลายรายในลักษณะไม่สมควร เป็นการคุกคามทางเพศ และมีพฤติกรรมใช้อำนาจข่มขู่ต่างๆ ทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความอึดอัด เกรงกลัว ซึ่งตนได้สั่งการให้สืบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่มีข่าวว่าผู้บังคับบัญชาบางคนมีการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความร้องทุกข์ด้วยนั้น

       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ผลการสืบสวนฯ มี 2 ประเด็น คือ 1.ประเด็นข้าราชการชายมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชา และข่มขู่ผู้เสียหายนั้น  มีพฤติกรรมตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวหาจริง และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้ดำเนินการในลักษณะหยอกล้อที่ไม่ค่อยเหมาะสม แต่ทำโดยไม่มีเจตนาจะลวนลามเชิงชู้สาวหรือคุกคามทางเพศ กรณีนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นการกระทำในสถานที่ราชการ ทั้งยังอยู่ในเครื่องแบบข้าราชการ

       การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความไม่พอใจ อึดอัดใจ อับอาย แต่ต้องจำยอมฝืนทน ไม่กล้าต่อว่า หรือขัดขืนรุนแรง ถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553และผู้ถูกกล่าวหามักแสดงพฤติกรรมวางอำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา บางครั้งได้ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนในกรณีต่าง ๆ กันไป มักแสดงกริยาอาการไม่พอใจ อารมณ์เสียในเวลาผู้ใต้บังคับบัญชาขัดใจหรือไม่ทำสิ่งที่ต้องการ

         คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า มีมูลอันควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

         2.ประเด็นที่เป็นข่าวว่ามีผู้บังคับบัญชาบางคนไกล่เกลี่ยไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินคดีอาญา หรือกรณีผู้บังคับบัญชารู้เรื่องแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ นั้น  ไม่พบว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความ แต่ประเด็นที่ผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ พบว่า ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวทราบเรื่องมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ไม่ได้ทราบจากผู้เสียหาย จึงถือว่าผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้ว แต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน  ถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการสืบสวนจึงเห็นว่า พฤติการณ์เช่นนี้มีมูลอันควรกล่าวหาว่า กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรงผู้บังคับบัญชาชั้นต้น

            “การดำเนินการสอบวินัยบุคคลทั้ง 2 จะใช้คณะกรรมการสอบวินัยชุดเดียวกัน โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือเร็วกว่านั้น ซึ่งผู้ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง หากผลปรากฏว่าผิดวินัยร้ายแรงจริง จะมีโทษคือปลดออกหรือไล่ออก แต่พบว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง จะมีโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ส่วนผู้บังคับบัญชาลูกจ้างสาวที่ตั้งสอบวินัยไม่ร้ายแรง จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องย้ายออกจากส่วนงานดังกล่าวก่อนหรือไม่ แต่ถ้าไม่ดี้พฤติกรรมขัดขวางการสอบก็ไม่จำเป็นต้องย้าย”นพ.โสภณกล่าว

            นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดสธ. กล่าวว่า สธ.ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการที่ถูกกล่าวหาเข้ามาในบริเวณสถานที่ทำงานของลูกจ้างสาวที่เป็นผู้ร้องโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้เสียหายพบว่ามีสภาจิตใจที่เข้มแข็ง อยู่ในความเครียด ไม่มากระดับปานกลาง แต่มีความวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งสธ.ได้ขอความร่วมมือให้ญาติมารับหลังเลิกงาน

ส่องกฎก.พ. 5 ลักษณะเข้าข่ายล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ