Lifestyle

ยื่นนายกฯเปิดปิดเทอมแบบเดิม สัปดาห์หน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายอาจารย์ -บุคลากรมหาวิทยาลัย เตรียมยืนหนังสือถึงนายกฯ ขอให้กลับมาใช้เปิดปิดภาคเรียนแบบเดิม เปิดเดือนมิ.ย. ในสัปดาห์หน้า ชี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการผลิตครู

เมื่อวันที่  19 สิงหาคม 2560 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) จัดประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ผลกระทบจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนของสถาบันอุดมศึกษาไทย ต่อการดำเนินงานของหลักสูตรครุศาสตร์ หลักสูตรศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรเกษตรศาสตร์” เพื่อรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ นำเสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.กร จันทรวิโรจน์ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ปคมทร.) ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา ประธานสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย เข้าร่วม

 

รศ.ดร.ชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย ประธานปอมท. กล่าวว่า จากที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยควรกลับไปเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิม คือเปิดเดือนมิถุนายนของทุกปี เนื่องจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการดำเนินงานของหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์  เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเรื่องเปิดปิดภาคเรียนให้กลับมาตามเดิม ในปีการศึกษา 2562 พร้อมกับการกำหนดปฏิทินการสอบในระบบคัดเลือกทีแคสให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เครือข่ายปอมท.จะนำข้อเสนอทั้งหมดยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์หน้า 

 

ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของไทย หรือ CHES กล่าวว่าการเปิดปิดอาเซียนส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน และนักศึกษาอย่างยิ่ง ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ปฎิรูปการศึกษา สำเร็จ หากไม่ใส่ใจเรื่องการผลิตครูที่จะนำไปสู่ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ 

 

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวว่า การเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และส่งผลต่อคุณภาพบัณฑิต ดังนี้ เวลาเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนไม่สอดคล้องกับการเปิดปิดภาคเรียนของโรงเรียนและสถานศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งสถานศึกษาดังกล่าวเป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์ วิชาชีพครูของนิสิต นักศึกษาครูทุกชั้นปี ซึ่งการฝึกประสบการณ์ วิชาชีพครู ถือเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรและเป็นมาตรฐานวิชาชีพครู  โดยต้องไปปฏิบัติการสอน 1ปี ทำให้การจัดฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูทำได้ไม่เต็มที่ เพราะนิสิตนักศึกษาไม่มีสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู อีกทั้งช่วงเวลาที่เปิดปิดไม่ตรงกันช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยเปิดเรียนเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียน รวมเป็นเวลานานถึง 4 เดือนต่อปี รวมถึงสถาบันผลิตครูที่มีโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งอาจารย์โรงเรียนสาธิตจำนวนมากเป็นครูในโรงเรียนสาธิตฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรผลิตครูของคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ระดับอุดมศึกษาด้วยจึงทำหน้าที่สอนทั้งนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ และสอนนิสิตนักศึกษาครูในรายวิชาชีพครู   เป็นเหตุให้อาจารย์เหล่านี้เกือบไม่มีเวลาหยุดปิดภาคเรียน  ทำให้มีปัญหาทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และปัญญาครอบครัว ดังนั้น  สคศท.เห็นว่าการเปิดปิดภาคเรียนควรกลับไปใช้แบบเดิม  

 

รศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวว่าการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียน ไม่มีความเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ทำให้เกิดผลกระทบในการเรียนรู้ของนักศึกษาเกษตร  โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมากในการเรียนการสอน
นักศึกษาพบปัญหาในการทำกิจกรรมการเรียนและฝึกปฏิบัติการแปลงเกษตร รวมถึงประสบปัญหาการเรียนการสอนด้านสัตว์น้ำ เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาวางไข่ของสัตว์ส่งผลให้นักศึกษา ไม่ได้เรียนรู้  ส่งต่อคุณภาพการฝึกสอนและคุณภาพของบัณฑิต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้สร้างปัญหาให้แก่สังคมในหลายมิติ แทนที่มหาวิทยาลัยจะช่วยแก้ปัญหา 

 

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตการปฏิบัติ หากไม่ตรงก็ควรมีการยกเลิก ซึ่งการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียน ตอนนี้ไม่รู้ว่าจุดไหนคืออาเซียน เพราะ 10 ประเทศมีความแตกต่างกัน และอ้างความเป็นสากล มหาวิทยาลัยในโลกนี้ก็ไม่เปิด การจัดการศึกษาต้องขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต สภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศ แบบเดิมสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและวิถีชีวิต ดังกล่าว ตอนนี้เมื่อเปลี่ยน เข้าสู่ปีที่ 4 มีปัญหาทุกปี ฉะนั้น อยากฝากไปยังรัฐบาล ไม่อยากไปทปอ.เพราะทปอ.ก็พูดว่าไม่ทบทวน เป็นอำนาจของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งการเปิดปิดภาคเรียนเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย แต่การเป็นมหาวิทยาลัยเราอยู่กันเป็นองค์กร ที่ประชุมต่างๆ เมื่อมีมติทุกคนก็ปฏิบัติตาม ตอนนี้ติดอยู่ที่มติทปอ. ถ้าทปอ.ยืนยันไม่ยกเลิก ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี มีปัญหาจำเป็นที่ต้องแก้ 6 ประเด็นสำคัญ คือ1.ทำอย่างไรให้ทุกสถาบันการศึกษา ควรเปิดปิดภาคเรียนตรงกัน 2. ปรับเปลี่ยนระบบถ้าอ้างอาเซียน ทำอย่างไรให้ 10 ประเทศอาเซียนตรงกันได้ 3.การเปิดการเรียนการสอนในเดือนเมษายน อากาศร้อน ทำอย่างไรให้ไม่เปิดเดือนเมษายน 4.การเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู  ให้เกณฑ์ หรือสอบบรรจุครูให้ได้หลังสำเร็จการศึกษา5.สถานศึกษาต้องใช้งบประมาณ  เพราะพอเกิดสิงหาคม เป็นปลายปีงบประมาณ เนื่องจากเปิดภาคเรียนแล้วไม่มีงบ 6.การประเมินอาจารย์ จะประเมินการสอน ซึ่งเมื่อปรับเป็นสิงหาคมไม่สอดคล้องกับวงรอบการประเมิน ทำให้ตอนนี้เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง ทั้งหมดเป็นปัญหา ผลกระทบต้องแก้ ซึ่งถ้าแก้ไม่ได้ ต้องกลับมาเหมือนเดิม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ