Lifestyle

ชื่นชม 5 ทีมไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมใช้ระบบอัตโนมัติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 ทีมไทยคว้ารางวัลจากการแข่งขัน DELTA CUP 2017การประกวดนวัตกรรมที่ใช้ระบบอัตโนมัติสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ที่เมืองหวู่เจียง ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

             นายยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า  DELTA CUP 2017 มีผู้ส่งผลงานรวม 74 ทีม โดยการแข่งขันแบ่งเป้น 3 ประเภท คือ 1.ประเภทหุ่นยนต์ (Smart Robots) 2.ประเภทเครื่องจักรกลอัจฉริยะ (Smart Machine) และ 3.ประเภทอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT)  ที่ผ่านมาเดลต้าร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทย จัดหลักสูตร Industrial Automationถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบออโตเมชั่นแก่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ในอนาคต ซึ่งนักศึกษาทั้ง 5 ทีมที่ได้รางวัลจาก DELTA CUP 2017 แสดงถึงศักยภาพในการนำองค์ความรู้จากชั้นเรียนและการฝึกปฏิบัติมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ได้จริง

ชื่นชม 5 ทีมไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมใช้ระบบอัตโนมัติ

          5 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย 

          เครื่องคัดแยกไข่เสียในตู้ฟักอัตโนมัติ (Non Hatched Smart Detection) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 4คณะวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายธนกร วัฒนาพร หัวหน้าทีม กล่าวว่า “ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อไก่ที่สำคัญซึ่งสร้างรายได้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังขาดแคลนเทคโนโลยี มีผลทำให้ผลผลิตและคุณภาพยังไม่ดี ใช่ว่าไข่ทุกใบจะฟักออกมาเป็นตัวได้ จึงต้องคัดแยกไข่ที่ไม่สามารถฟักได้ออกเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะกระทบต่อไข่และลูกไก่ตัวอื่นๆ แต่เดิมใช้วิธีการคัดแยกไข่ ที่เรียกว่า ส่องไข่ นำไฟฉายส่องใต้ไข่ ดูด้วยตาว่ามีตัวลูกไก่อยู่ข้างในและยังมีชีวิตอยู่หรือไม่นั้น ไม่มีความแม่นยำพอ เราจึงสร้างเครื่องคัดแยกไข่เสียในตู้ฟักอัตโนมัติขึ้นมา โครงสร้างของเครื่องคัดแยกไข่เสียในตู้ฟักอัตโนมัติเป็นอลูมิเนียมและเหล็ก การใช้งานคือ นำไข่เข้าเครื่องตามปริมาณที่กำหนด เครื่องจะทำการประมวลผลภาพและคัดไข่ที่ไม่สามารถฟักออกให้อัตโนมัติ แม่นยำในการตรวจสอบ ลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากคนได้  ช่วยให้เกษตรกรฟาร์มไก่มีผลกำไรมากขึ้นและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต”

ชื่นชม 5 ทีมไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมใช้ระบบอัตโนมัติ

          ตู้ส่งโปสการ์ดอัจฉริยะ (Smart Travelling Mailbox) ได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายสันติสุข สัจวาที เผยถึงผลงานนี้ว่า “กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก หากรวมนักท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยจำนวนปีละกว่า 32 ล้านคน และมีความนิยมส่งโปสการ์ดภาพสถานที่ท่องเที่ยวไปยังเพื่อนหรือครอบครัว แต่มักจะไม่สะดวก ขัดข้อง ที่ต้องหาสถานที่ซื้อและจัดส่ง จากความแตกต่างทางด้านภาษา ค่าธรรมเนียมและค่าเงินที่แตกต่างกัน เราจึงคิดตู้โปสการ์ดอัจฉริยะ  โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกภาพตามต้องการ แจ้งค่าธรรมเนียมของแสตมป์ และบริการรับ-ส่งโปสการ์ดเสร็จสรรพภายในเครื่องเดียวกัน เราเชื่อมต่อ Internet of Things  และระบบ automation ซึ่งใช้ PLC คู่กับหน้าจอ HMI และ Photoelectric sensor มาใช้ในการควบคุมระบบทั้งหมด นวัตกรรมนี้นอกจาช่วยส่งเสริมรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของไทยไปทั่วโลกอีกด้วย”

ชื่นชม 5 ทีมไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมใช้ระบบอัตโนมัติ

        เครื่องแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (SMD Disassembly Machine) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 2  สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายนริศ  อัศวเลิศศักดิ์ หัวหน้าทีม กล่าวว่า “เนื่องจากมีปริมาณขยะไอทีและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งอุปกรณ์บางชิ้นส่วนยังสามารถนำกลับมาใช้งานทั้ง Recycle และ Reuse ได้อยู่ เครื่องแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จึงตอบโจทย์ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างหลักของเครื่องทำจากอลูมิเนียมโปรไฟล์ เราเพียงใส่บอร์ดหรือแผงวงจรลงไป จะมีหน้าจอขึ้นมาให้เลือกว่าเราต้องการนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นไหนออกจากเครื่อง แล้วเเยกออกมาให้เองเเบบอัตโนมัติ จุดเด่นคือเครื่องจะแสดงข้อมูลประวัติการแยกบอร์ดชนิดนั้น โดยเชื่อมโยงถึงกัน และเเชร์ข้อมูลกันผ่านอินเทอร์เน็ตได้ว่าเคยมีผู้แยกชิ้นส่วนนี้ไปใช้งานรีไซเคิลอย่างไรบ้าง นับเป็นประโยชน์ในการลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกได้อีกมาก”

ชื่นชม 5 ทีมไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมใช้ระบบอัตโนมัติ

          Healthy Hub ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวธวัลรัตน์ ศิริวัฒนาเลิศ หัวหน้าทีมเผยว่า “นวัตกรรมนี้เสมือนเป็นศูนย์บริการแพทย์พยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยต่างจังหวัดหรือที่ห่างไกลเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทาง แก้ปัญหาการรอบริการยาวนานในโรงพยาบาลของรัฐ การจ่ายยาผิด จ่ายยาขาดหรือเกินบ้าง วิธีการใช้งาน Healthy Hub ผู้ใช้บริการนั่งที่หน้าเครื่อง จะมีเครื่องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันและอัตราการเต้นของหัวใจ แล้ว log in เข้าไปที่เครื่อง หากไม่เคยเป็นสมาชิกก็สมัครได้ที่ตัวเครื่องเลย เมื่อเข้าสู่ระบบเครื่องจะให้เรากรอกข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน เพื่อที่จะนำไปใช้วินิจฉัยโรค เครื่องจะถามว่ามีแพทย์ประจำตัวหรือไม่ ถ้ามีก็สามารถเลือกได้เลย แต่ถ้าไม่มี เครื่องจะแนะนำแพทย์ในพื้นที่ให้ ผู้ใช้บริการจะได้วีดีโอคอลกับแพทย์ เครื่องสามารถจ่ายยาตามคำสั่งแพทย์ พร้อมใบรับรองแพทย์และสามารถทำการนัดหมายครั้งถัดไปอีกด้วย”

          ผลงานนวัตกรรมจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ เครื่องจัดเก็บอุปกรณ์อัจฉริยะ Ripbat ฝีมือของเมคเกอร์ชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะช่วยให้การจัดการเครื่องมือต่างๆเป็นระเบียบมากขึ้น เข้าถึงการใช้งานด้วยระบบการยืม-คืนที่มีประสิทธิภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ