Lifestyle

"Tracking" ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรียลไทม์(มีคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มธ. เปิดตัว “Tacking ผู้ประสบภัย” Tweet เดียวก็รู้ จุดผู้ประสบภัย รับมือภัยพิบัติยุค 4.0 ชี้โบราณสถาน เหนือ-อีสาน อาจได้รับกระทบ แนะใช้ “โดรนตรวจสอบสามมิติ"

         จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน และภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล็งเห็นความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เปิด 2 ต้นแบบนวัตกรรมประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา และเยียวยาผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้แก่ “ระบบ Tracking ผู้ประสบภัย” หรือระบบแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยแบบเรียลไทม์ รายงานผ่านเว็บไซต์แสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่สามารถแสดงการร้องขอความช่วยเหลือ ค้นหาสถานที่ และแจ้งจุดเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย

        พร้อมทั้ง  เปิดตัว “โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ” การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายที่ได้จากโดรน และนำมาประมวลผล สร้างเป็นข้อมูลดิจิทัลสามมิติ ที่สามารถแสดงได้ถึงรายละเอียดความเสียหายของโบราณสถานหลังประสบภัยพิบัติ ทั้งนี้ สองผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่พร้อมใช้งานได้จริง หากได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ และบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

        ดร.พงศกรณ์ วิจิตเวชไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า  โบราณสถาน เป็นอีกหนึ่งความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีความเสียหาย และหากไม่มีภาพถ่าย หรือการเก็บข้อมูลลักษณะของโบราณสถานเอาไว้ การบูรณะซ่อมแซมย่อมอาจมีความผิดเพี้ยนไปจากของเดิม ทางคณะวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรม โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ ที่ใช้การถ่ายภาพจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาร่วมกับระบบการถ่ายภาพโบราณสถานและสถานที่สำคัญแบบสามมิติความละเอียดสูง เพื่อประมวลผลและสร้างข้อมูลดิจิทัลสามมิติ ที่สามารถหมุน เลื่อนและขยายขนาดของตัวโมเดลเพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ของโบราณสถาน ที่จะสามารถนำข้อมูลดิจิทัลสามมิติดังกล่าว มาเพื่อศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลง ก่อนและหลังประสบภัย เพื่อพิจารณาความเสียหายของโบราณสถาน และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนบูรณะ

       “ตอนนี้แม้จะยังไม่สามารถนำโดรนไปใช้ในพื้นที่อุทกภัยที่เกิดขึ้นในจ.ทางภาคอีสานได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการนำโดรนขึ้นบิน แต่หลังจากนี้จะมีการขออนุญาตไปยังกรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อถ่ายภาพโบราณสถานต่างๆ เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล เพราะการใช้โดรนนั้น เป็นนวัตกรรมที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการเก็บข้อมูลภาพถ่ายต่างๆ แม้จะยังมีข้อจำกัดแต่ถ้าขออนุญาตเป็นกรณีๆ ไปไม่น่าจะปัญหา” ดร.พงศกรณ์ กล่าว

       ขณะที่ ดร.วนิดา พฤทธิวิทยา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า แพลตฟอร์มบริการสร้างเว็บไซต์สำหรับแสดงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์ (GIS with Crowdsourcing as a Service - GCaaS)” พัฒนาโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 รุ่น รวมทั้งสิ้น 4 คน เป็นเครื่องมือช่วยสร้างเว็บไซต์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลผู้ประสบภัย ซึ่งใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS-based website) ในการจัดแสดงแผนที่แสดงตำแหน่งผู้ประสบภัยและภาพข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของพื้นที่ประสบภัย

       “เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลาย โดยได้นำร่องด้วยการประยุกต์ใช้กับการรวบรวมข้อมูลการร้องขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ (Twitter) สามารถแสดงผลได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ผู้ประสบภัยที่สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียจะสามารถขอรับความช่วยเหลือแบบออนไลน์ โดยระบุเพียงพิกัดที่อยู่ปัจจุบัน และติดแฮชแท็กที่ประกาศใช้งานไว้อย่างทั่วถึง ทีมผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังสามารถเพิ่มและอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์  แต่ทั้งนี้ จะเกิดขึ้นได้จริงนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนด แฮชแท็ก เพื่อช่วยเหลือต้องมีหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริงๆ  โดยต้องอาศัยข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ เพราะการบอกพิกัดบนพื้นที่ได้นั้นต้องอาศัยข้อมูลจากทางภาครัฐ ” ดร.วนิดา กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ