Lifestyle

ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแสดงรามายณะ ที่เวทีการแสดงกลางแจ้งปรัมบานัน เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย คราวนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะเป็นครั้งแรก!!ที่นักแสดงโขนไทยได้ร่วมแสดง

       การแสดงรามายณะไทย-อินโดนีเซีย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชนต่างๆ ของไทย ร่วมกับกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์รมว.วัฒนธรรม นำทีมผู้บริหาร วธ. ตลอดจนคณะนักแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร เดินทางแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม2ชาติในครั้งนี้

    ...ค่ำคืนวันที่21กรกฎาคมบนดินแดนชวา ผู้ชมทั้งชาวไทย ชาวอินโดนีเซีย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จับจองที่นั่งชมรามายณะ บริเวณลานกลางแจ้ง ปรัมบานัน ได้สัมผัสถึงความอลังการของโขนไทย การแสดงชั้นสูงของไทย ที่มีความสง่างาม อ่อนช้อย ทั้งท่วงท่า ความสวยงามของเครื่องแต่งกาย ถูกถ่ายทอดผ่านนักแสดง34ชีวิต ที่ร่วมแสดงรามายณะในตอน “พระรามเดินดง-จองถนน” กับนักแสดงอินโดนีเซีย ภาพการแสดงที่เคลื่อนไหวอยู่บนเวทีตรงหน้า มองลึกไปวงดนตรีไทย-อินโดนีเซีย ตั้งขนาบข้างซ้าย-ขวา ผสมผสานอย่างกลมกลืน ประกอบกับฉากหลังที่มองเห็นพระปรางค์3องค์ในศาสนสถานปรัมบานัน ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ทั้งในเรื่องของการสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม จนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกส่งให้บรรยากาศทุกอย่างเป็นใจ จนมิอาจละสายตาได้

ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ

       กว่าจะได้มาแสดงร่วมกัน สุรัตน์ เอี่ยมสอาด นาฏศิลปินทักษะพิเศษ สำนักการสังคีต ในฐานะผู้ควบคุมดูแลคณะนักแสดง เล่าว่า แต่แรกตกลงว่าจะสลับกันเล่นคนละตอน จนกระทั่งเดินทางมาถึงมาคุยกันใหม่ว่าอยากให้เป็นการแสดงร่วมกันของ2ประเทศ โดยโจทย์คือ การแสดงต้องมีความต่อเนื่อง จึงใช้วิธีการสลับนักแสดง เช่น ฉากไหนมี พระรามของอินโดนีเซียเป็นตัวหลัก ที่เหลือเป็นนักแสดงของไทย หรือในตอนจองถนน ช่วงการแสดงเพลงหน้าพาทย์ ใช้กองทัพลิงของไทยเป็นหลัก ส่วนนักแสดงของอินโดนีเซียประกอบในฉาก เป็นต้น

ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ

     “เนื้อหาเรื่องราวที่ใช้การแสดงรามายณะและการแสดงรามเกียรติ์ มีความคล้ายคลึงกันจึงไม่ใช่เรื่องยากในการปรับเพื่อแสดงร่วมกัน ในส่วนของเพลงที่ใช้ก็ต้องเลือกจังหวะที่มีความคล้ายคลึงกันเพื่อมาใช้แสดงร่วมกันได้ ซึ่งจากที่ครูเดินทางไปแสดงมาหลายที่่ก็จะสลับกันแสดงคนละตอน ในคราวนี้จึงถือเป็นครั้งแรก”สุรัตน์ กล่าว

      ขณะที่ “ดุม”-อนุชา เลี้ยงสอน สำนักการสังคีต รับบทเป็น เสนาลิง เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมแสดงรามายณะในครั้งนี้ ว่า รู้สึกภูมิใจ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ในการได้มาแสดงร่วมกับนักแสดงอินโดนีเซีย มองว่าเป็นการผสมผสานนาฏศิลป์ของ2ประเทศ ที่ผ่านมาไม่เคยแสดงร่วมกับประเทศไหนมาก่อน ก่อนแสดงจริงได้ฝึกซ้อมล่วงหน้าประมาณ2วัน ส่วนตัวไม่รู้สึกว่ายาก แต่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะนักแสดงอินโดนีเซีย ก็ต้องไปทำการแสดงด้วย แต่ทุกคนก็ทำเต็มที่ถึงเวลาแสดงจริงทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ส่วนการแสดงของอินโดนีเซียก็จะแตกต่างในเรื่องของเทคนิคที่ใช้ อย่างตอนเผากรุงลงกา ฉากที่ต้องเผาเวลาที่เขามาโชว์ในงานมหกรรมรามายณะ ที่โรงละครแห่งชาติ เขาจะใช้เทคนิคแสงสีเสียงแทน แต่ที่อินโดนีเซียเวทีการแสดงเป็นเวทีกลางแจ้ง เขาจะใช้ไฟจริงๆประกอบการแสดง เพื่อความสมจริงก็จะให้ความรู้สึกในการชมอีกแบบหนึ่ง

ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ

     สำหรับการแสดงรามายณะมีทั้งหมด11ตอน ซึ่งนักแสดงโขนไทยยังได้แสดงอีก 3 ตอน ได้แก่ 1.พาลีและสุครีพ 2.ศึกกรุงลงกา-กองทัพวานรปะทะกองทัพยักษ์ และ3.ศึกทศกัณฑ์ ส่วนอีก6ตอนอินโดนีเซียแสดง ได้แก่ 1.พิธียกศร 2.หนุมานถวายตัว 3.นางสีดาในกรุงลงกา 4.เผากรุงลงกา 5.ศึกกุมภกรรณ และ6.นางสีดาลุยไฟ

      “รามายณะ หรือ รามเกียรติ์เป็นวัฒนธรรมร่วมของอินเดีย และคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ซึ่งการแสดงรามายณะเป็นที่นิยมของชาวอินโดนีเซียและถ้าจะให้ยิ่งใหญ่ต้องมาแสดงที่ปรัมบานัน โบราณสถานสำคัญ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่การจัดงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คณะนาฏศิลป์ไทยได้แสดงโขนร่วมกับรามายณะของอินโดนีเซียถือเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยและอินโดนีเซียมีความร่วมมือทางวัฒนธรรมกันมาด้วยดีตลอด ทั้งนี้ วธ.ใช้มิติทางวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอันจะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆทั้งท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของ2ประเทศ” วีระ บอกถึงความตั้งใจ

ครั้งแรก!!โชว์รามายณะร่วมไทย-อินโดฯ

      การเดินทางมาอินโดนีเซียคราวนี้ ยังได้เข้าพบนายมูฮัดญีร์เอฟเฟนดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย หารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของ2ประเทศ นายวีระ กล่าวว่า ทางอินโดนีเซียขอบคุณที่ไทยริเริ่มจัดแสดงรามายณะร่วมไทย-อินโดนีเซีย ถือเป็นการร่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของ2ประเทศ และได้ตกลงร่วมกันว่าจะขยายเวลาความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมของไทย-อินโดนีเซียออกไป โดยเพิ่มประเด็นวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งอินโดนีเซียให้ความสนใจคือ ภาพยนตร์ไทย ยังมีการแลกเปลี่ยนครูผู้สอนภาษาและวัฒนธรรม เยาวชนในค่ายศิลปวัฒนธรรม และการนำเสนอวรรณกรรมร่วม “อิเหนา-ปันหยี” เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกด้วย

         “ในส่วนของไทยได้เสนอว่าในปี2018(พ.ศ.2561)จะประกาศเป็นปีวัฒนธรรมของอาเซียน ซึ่งทางอินโดนีเซียก็ให้ความสนใจขณะนี้ วธ.ได้เริ่มมีการทำหนังสือไปยังประเทศต่างๆ โดยหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมทุกประเทศให้ความเห็นพ้องกันก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมระดับอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายของการประกาศปีวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ส่งเสริมบทบาทวัฒนธรรมในการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชน เพื่อสร้างประโยชน์และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย”วีระ กล่าวในที่สุด.

oเกศกาญจน์ บุญเพ็ญo

[email protected]

ภาพ ประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ