Lifestyle

แม่ๆนิยมผิดๆต้องระวังอันตราย!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม่ไทยยุคใหม่่นิยมผ่าคลอด อัตราพุ่งกระฉูดทั้งในรพ.รัฐ-เอกชน  ราชวิทยาลัยสูติฯบอกผ่าท้องอันตรายกว่าคลอดเอง  เตือนหญิงตั้งครรภ์อย่าผ่าโดยไม่มีเหตุความจำเป็น

     รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม สาขาสูตินรีเวชกรรม กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะประธานอนุกรรมการกิจการพิเศษ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหญิงตั้งครรภ์นิยมผ่าท้องทำคลอด เห็นได้จากปัญหาอัตราการผ่าท้องทำคลอดที่พุ่งสูงเฉลี่ยในโรงพยาบาลรัฐประมาณร้อยละ 35-40 ของการคลอดทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลเอกชนประมาณร้อยละ 70-80 ของการคลอดทั้งหมด องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดอัตราผ่าท้องทำคลอดที่เหมาะสมไว้ที่ร้อยละ 15 ของการคลอดทั้งหมด ดังนั้น หากอัตราผ่าท้องทำคลอดที่มากกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดย่อมไม่ได้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการดำเนินการแบบบูรณาการเพื่อที่จะลดอัตราผ่าท้องทำคลอดที่พุ่งสูง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องมีอัตรามากขนาดนี้

     "การผ่าท้องทำคลอดกลายเป็นค่านิยมที่หญิงตั้งครรภ์มักจะขอให้สูตินรีแพทย์ทำคลอดด้วยวิธีนี้ ประกอบกับช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะมีข่าวคนดัง หรือดารา ออกข่าวการผ่าท้องทำคลอดอยู่เนืองๆ ซึ่งมีผลในการชักจูงให้ประชาชนคิดว่า การผ่าท้องทำคลอดเป็นสิ่งปกติประกอบกับหลายคนมักคิดว่า คลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะเจ็บปวด และอาจอันตราย โดยเข้าใจว่าผ่าคลอดปลอดภัย แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ ค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดยังมีราคาแพงกว่าคลอดปกติ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดนี้ และที่เสี่ยงคือ การผ่าท้องทำคลอดมีอันตรายต่อแม่มากกว่าการคลอดทางช่องคลอด เพียงแต่ปัจจุบันอันตรายเหล่านั้นพบน้อย เนื่องจากการแพทย์พัฒนาขึ้นมาก การคลอดทางช่องคลอดจึงเป็นวิธีการคลอดลำดับแรกเสมอ แต่หากมีข้อบ่งชี้ มีความจำเป็นแล้วจึงเลือกการผ่าท้องทำคลอด มิใช่ว่าจะเลือกคลอดโดยวิธีไหนก็ได้ตามที่แม่หรือครอบครัวต้องการ"รศ.นพ.เอกชัยกล่าว 
    รศ.นพ.เอกชัย กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการผ่าท้องทำคลอดในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับในสหรัฐอเมริกา และจากการรวบรวมข้อมูลอัตราการผ่าคลอดในโรงพยาบาลตติยภูมิ 4 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รพ.รามาธิบดี รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ และรพ.สงขลานครินทร์ เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552-2555 พบว่าจำนวนการคลอดรวมในรพ.4 แห่งเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆในแต่ละปี โดยอัตราการผ่าท้องทำคลอดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆทุกปีจากร้อยละ 38 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 40.5 ในปี2555 และเมื่อพิจารณาข้อบ่งชี้ในการผ่าท้องทำคลอดพบว่า เคยผ่าท้องทำคลอดในครรภ์ก่อนเป็นข้อบ่งชี้ที่พบบ่อยที่สุดในทุก รพ. ส่วนข้อบ่งชี้ของการผ่าท้องทำคลอดปฐมภูมิ คือ ไม่เคยผ่าท้องทำคลอดมาก่อน พบว่ามีการผิดสัดส่วนของส่วนนำทารกกับเชิงกรานของมารดา

    “ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าท้องทำคลอด ส่วนใหญ่ข้อมูลเป็นแบบรายงานประจำปีของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งอาจยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถวน และไม่เห็นภาพรวมของการผ่าท้องทำคลอดของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลเกิดความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปวางแผนการดำเนินงานด้านสูติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรมีการกำหนดหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และการคลอดที่ชัดเจน รวมทั้งควรมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นปัจจุบัน และเป็นฐานข้อมูลสำคัญเพื่อวางแผนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อไป” รศ.นพ.เอกชัย กล่าว
       อนึ่ง รศ.นพ.เอกชัย ได้เขียนบทความเรื่อง การผ่าท้องทำคลอดลงในหนังสือ Thailand Medical Service Profile ซึ่งเป็นหนังสือของกรมการแพทย์ที่ได้เขียนถึงปัญหาสาธารณสุขของไทยอย่างสมบูรณ์ และได้เขียนหนังสือเรื่อง คลอดอย่างไร คลอดเองหรือผ่าคลอด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ