Lifestyle

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

.“ศ.พิเศษดร.เดวิด รูฟโฟโล อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ม.มหิดล”นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี60ผู้ไขปริศนา“พายุสุริยะและกัมมันตรังสีรอบโลก”

 

     “ศ.พิเศษ ดร.เดวิด” อายุ 49 ปี  เป็นผู้ที่มีระดับสติปัญญาสูงตั้งแต่วัยเด็ก (Gifted Child) จึงได้เรียนข้ามชั้นและสามารถเรียนจบปริญญาเอกตอนอายุเพียง 22 ปี ในปีพ 2534 ได้เริ่มทำงานในประเทศไทย เพราะชื่นชอบประเทศไทย โดยเป็นอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์สอนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและสอนนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก จนถึงปัจจุบัน และในปี2555 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย นอกจากนี้ปี 2559 ได้รับการยกย่องให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

     “จุดเริ่มต้นที่สนใจเรื่องฟิสิกส์อวกาศนั้น ก็คงเหมือนเด็กทุกคนที่ชื่นชอบการดูดาว ชอบเรียนฟิสิกส์  อยากรู้เรื่องอวกาศ เมื่อเรียนจบปริญญาเอก เราก็อยากทำอะไรเพื่อสังคมไทย เพราะอดีตตอนมาอยู่เมืองไทย ได้เห็นว่ามีนักวิจัยด้านฟิสิกส์ อวกาศ ระบบสุริยะน้อยมาก อยากมีส่วนร่วมทำให้นักเรียน นักศึกษาไทยก้าวสู่การเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์อวกาศของประเทศไทย  ขณะนี้ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องเพิ่มมีนักวิทยาศาสตร์ และต้องทำให้คนไทยรู้เข้าใจเรื่องพายุสุริยะรอบด้าน”ศ.พิเศษ ดร.เดวิด กล่าว 

    งานวิจัย “ฟิสิกส์ อวกาศ:กัมมันตรังสีรอบโลก พายุสุริยะ รังสีคอสมิก และการขนส่งในพลาสมาปั่นป่วนในอวกาศ” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากพายุสุริยะในอวกาศ เพราะต่อให้พายุสุริยะไม่เคยฆ่ามนุษย์และไม่เคยทำให้สิ่งปลูกสร้างถล่ม แต่เคยทำให้ไฟฟ้าดับและเคยทำลายดาวเทียมและยานอวกาศที่ใช้สำหรับการสื่อสารหรือสาเหตุอื่นๆ 

    ศ.พิเศษ ดร. เดวิด กล่าวต่อว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษารังสีคอสมิกและพายุสุริยะ เพราะเมื่อมนุษย์ขึ้นเครื่องบินหรือขึ้นไปในอวกาศ รังสีคอสมิกอาจเป็นภัยต่อสุขภาพ ดาวเทียมและยานอวกาศได้รับผลกระทบโดยกัมมันตรังสีในอวกาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์ประกอบสภาพอวกาศที่แปรปรวนอย่างมาจากลมสุริยะและพายุสุริยะ นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาโปรแกรมจำลองของรังสีคอสมิก เพื่อใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกพายุสุริยะจะกระทบโลก 

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

    “ผมมีความฝันอยากติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนเพื่อวัดรังสีคอสมิกในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีค่าพลังงานขั้นต่ำที่รังสีคอสมิกผ่านสนามแม่เหล็กโลกได้สูงที่สุดในโลก โดยอนุภาคโปรตอนต้องมีพลังงานถึง 17 GCRs จึงจะมาถึงประเทศไทยได้ ซึ่งผ่านไป 18 ปี ความฝันของผมก็เป็นจริง เมื่อกลุ่มบุคคลที่ประเทศญี่ปุ่นบริจาคเครื่องตรวจวัดนิวตรอนให้กับผม และที่น่าปลาบปลื้มที่สุด เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร  และกองทันอากาศได้อนุญาติให้ติดตั้งสถานีฯที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย” ศ.พิเศษ ดร.เดวิด กล่าว

     สถานีตรวจวัดนิวตรอน มี 40 แห่งทั่วโลก แต่ “สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร” ถือเป็นสถานีแรกของโลก ที่สามารถวัดจำนวนรังสีคอสมิกต่อเวลาในประเทศไทย และหลังจากนี้ “ศ.พิเศษ ดร.เดวิด” จะมีการศึกษารังสีคอสมิก   ต่อยอด เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศโลก สร้างระบบการเตือนภัยทั่วโลก รวมถึงก่อให้เกิดองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยเรื่องใหม่ๆ เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและทั่วโลก 

      ศ.พิเศษ ดร.เดวิด กล่าวอีกว่า วิทยาศาสตร์ เป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งอยากให้เด็กไทยหันมาสนใจการเรียนฟิสิกส์มากขึ้น อยากให้มองว่าเป็นความอิสระในการเรียนรู้ การเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นความสนุก ความท้าทาย การคิดค้นหาคำตอบจากโจทย์ใหม่ๆ 

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

     “ที่จริงตามธรรมชาติเด็กสนใจอวกาศอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อมโยงกับการเรียนฟิสิกส์ การศึกษา   เพราะเมื่อทุกคนนึกถึงฟิสิกส์ มักมองว่าเป็นเรื่องสูตร การคำนวณ ทั้งที่จริงๆ ฟิสิกส์ อวกาศ เป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมนุษย์มีศิลปะหลายด้าน หากเราทำให้เด็กเกิดความใฝ่รู้ มองว่าฟิสิกส์เป็นความสนุกบวกกับการเรียนอวกาศ เป็นเรื่องจินตนาการที่เด็กชื่นชอบ ขณะเดียวกัน อยากให้ผู้ปกครองตระหนักในการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็ก ให้เด็กรู้สึกอิสระที่จะทำตามในสิ่งที่เขาชอบ ถนัดและต้องการทำ ไม่ใช่ตามกระแส บ้านเรามีกระแสว่าเด็กเก่งต้องเรียนแพทย์ วิศวะ แต่หากเด็กคนไหนชื่นชอบวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ขอให้พ่อแม่สนับสนุน” ศ.พิเศษ ดร.เดวิด กล่าวทิ้งท้าย

     สำหรับผู้ที่ได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2560 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท นอกจากนั้น มีรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560 โดยได้รับโล่พระราชทานฯ และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

    ผศ.ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผลงาน “ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง...สู่สังคมปลอดมลพิษ” ,รศ.ดร.เบญจพล เฉลิมสินสุวรรณ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงาน “การเปลี่ยนพฤติกรรมของแข็งให้กลายเป็นของไหล…จากทฤษฎีสู่การประยุกต์ใช้งาน” ,

“นักฟิสิกส์อวกาศ”ผู้ไขปริศนาจักรวาล

     ผศ.ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงาน “บูรณาการศาสตร์หลากสาขา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาด้านพันธุศาสตร์อย่างยั่งยืน”  และ  ผศ.ดร.วิบุญ ตั้งวโรดมนุกูล ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการตัดด้วยเลเซอร์ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ