Lifestyle

‘โป่ง พอง แตก’ ตรวจรักษาได้เร็วรอดชีวิตสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสำคัญของหลอดเลือดแดงใหญ่ คือ เปรียบเสมือนท่อประปาหลัก ที่ให้แขนงหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง

      "จากการตรวจสอบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก ซึ่งโรคดังกล่าว เป็นโรคที่มีความรุนแรงอย่างมาก พบได้น้อย จากสถิติพบผู้ป่วยมีอาการนี้ในอัตรา 5 คน จาก 1,000,000 คน และส่วนใหญ่พบได้ในวัย 40-70 ปี สมมุติฐานเบื้องต้นของโรคก็ทำได้ยาก ต้องใช้เครื่องมือ ct scan หรือการ x-ray คอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวจึงทราบได้ โรคนี้รักษายากในพื้นที่นี้ มีเพียง รพ.ศิริราช แห่งเดียว ที่สำคัญเมื่ออาการกำเริบรุนแรงจะมีเวลาเพียง 3-5 นาที ในการรักษาเท่านั้น" นพ.ประจักษ์ วัฒนะกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าว 

     คำอธิบายหลังจากที่น้องนิว -นายธีธัช เกตุทอง อายุ 15 ปี เสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดใหญ่ในช่วงอกแตก ที่ีรพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี  โดยเมื่อคืนวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา น้องนิวมีอาการเจ็บปวดท้องอย่างรุนแรง ญาตินำตัวส่ง รพ.ชะอำ แพทย์ทำการเอ็กเรย์รักษาให้นอนพักดูอาการ 1 คืน แต่เช้าวันที่ 21 ปรากฏอาการไม่ดีขึ้น.จึงส่งตัวมารักษาต่อที่ รพ.โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี

        ต่อมา "นพ.สาธิต รัตนศรีทอง" ผอ.รพ.พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ชี้แจงว่า ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาจาก ร.พ.ชะอำ ถึง รพ.พระจอมเกล้าฯ เวลา 13.30 น. เข้าตรวจที่แผนกอายุรกรรม ต่อมาเวลา 14.04 แพทย์ส่ง x-ray เวลา 14.30 ได้ฟิล์ม ส่งให้แพทย์วินิจฉัย ระหว่างรอผลเด็กเป็นลมหมอทำการเจาะเลือด ปฐมพยาบาล เวลา 14.45 ส่งมายังห้องฉุกเฉิน ความดันตกแพทย์ทำการตรวจให้น้ำเกลือเจาะเลือดจากนั้น เข้า ct scan ตรวจคลื่นหัวใจ และทำการ ct scan ซ้ำ เนื่องจากมีอาการผิดปกติ เบื้องต้นแพทย์สงสัยเป็นเส้นเลือดใหญ่โป่งพองในช่วงอก ซึ่งเกินกว่าระดับการรักษาของ รพ.พระจอมเกล้า จึงประสานเตรียมส่งตัวไปรักษาต่อแต่ปรากฏผู้ป่วยเริ่มกระสับกระส่าย ชีพจรหยุดเต้น แพทย์ทำการปั้มหัวใจ ให้เลือด แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ เสียชีวิต 16.38 ด้วยอาการเส้นเลือดใหญ่ในช่วงอกแตก

    ก่อนหน้านี้มี ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Nu-sajee Kornrawee”ได้มีการโพสรูปและข้อความเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล ถึงผู้ป่วยเป็นเด็กชายเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมารักษาตัวที่ ร.พ.พระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี และต้องรอเพื่อเข้ารับการรักษานาน จนผู้ป่วยมีอาการช๊อกและเสียชีวิต เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง  

   จริงๆแล้วโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง คืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร “ผศ.นพ.วรวงศ์ ศลิษฏ์อรรถกร” ภาควิชาศัลยศาสตร์สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก Faculty of MedicineSirirajHospitalคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ ใน http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=845 ว่าหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta)   เปรียบเสมือนท่อประปาหลัก ที่ให้แขนงหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และอวัยวะในช่องท้อง ได้แก่ ตับ ไต สำไส้ หากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองปริแตกจะทำให้เสียชีวิตได้

‘โป่ง พอง แตก’ ตรวจรักษาได้เร็วรอดชีวิตสูง

      ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอก อาจมีอาการจากการกดเบียดของหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก กดเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก กดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบ  ถ้ามีอาการแน่นอก ปวดหลัง หน้ามืดหมดสติ หรือไอเป็นเลือด อาจบ่งชี้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ 

     ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง อาจคลำพบก้อนเต้นได้ในช่องท้อง หรือ มีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หากพบมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้การวินิจฉัยได้จากการสอบถามประวัติอาการ ตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจค้นเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก หรือช่องท้อง,การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ (Ultrasound)การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan )

      ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการ Marfan (ซึ่งจะมีความผิดปกติหลายระบบคือ มีรูปร่างสูงผอม แขนขาและ นิ้วยาว เพดานปากสูง สายตาผิดปกติ มีโรคลิ้นหัวใจรั่วร่วม) มักมีอาการของโรคหลอดเลือดตั้งแต่อายุวัยหนุ่มสาว การสูบบุหรี่ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง

     ถ้ามีการแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ จะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 -90 ขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่โตยิ่งมีโอกาสแตกง่าย ภาวะความดันโลหิตสูงจะเสริมให้มีโอกาสแตกมากขึ้น การรักษา ควบคุมความดันโลหิต งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย ผ่าตัดรักษา ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ถ้าตรวจพบหลอดเลือดแดงโป่งพองในขนาดที่ไม่โตมาก แพทย์จะแนะนำให้ตรวจติดตามเฝ้าระวังเป็นระยะ

       การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดต้องอาศัยทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และสถานที่ที่มีอุปกรณ์การผ่าตัดพร้อมเพรียงรวมทั้งมีความ   พร้อมในการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดการผ่าตัดใหญ่แบบเปิด(open surgery)โดยผ่าตัดผ่านทางช่องทรวงอก หรือช่องท้อง ขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือด แล้วใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน

      การผ่าตัดด้วยวิธีการสอดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด(Stent Graft)ผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง เป็นทางเลือกใหม่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่ แพทย์จะพิจารณาและประเมินเพื่อให้ผู้ป่วยได้ทราบและร่วมในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

     "นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล" รองผู้อำนวยการศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ อธิบายว่า หากพบการโป่งพองไม่เกิน 5 เซนติเมตร แพทย์จะให้รับประทานยาร่วมกับการติดตามผลการรักษาโดยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวน์ปีละ 1 ครั้ง แต่หากโป่งพองมากกว่า 5 เซนติเมตร แพทย์จะให้ยารับประทานและติดตามผลถี่ขึ้น ร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงแต่หากเส้นเลือดที่โป่งพองแตก ต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด ยิ่งเร็ว โอกาสรอดชีวิตยิ่งมีมาก

     ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงทางหลอดเลือดทั้งร่างกาย ได้แก่ การตรวจ ABI เพื่อดูสภาพเส้นเลือดที่ขา, การตรวจ Carotid dropper เพื่อดูเส้นเลือดแดงบริเวณที่คอที่ไปเลี้ยงสมอง, การตรวจ Aneurysm Screening เพื่อดูเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณหน้าอกและช่องท้อง, การตรวจ M.R.A. Brain เพื่อดูสภาพเส้นเลือดสมอง

     “ความน่ากลัวของโรคนี้คือ ผู้ป่วยไม่รู้ตัวมาก่อน เพราะโป่งพองไม่มาก จะไม่มีอาการแสดงออก กระทั่งเมื่อเส้นเลือดโป่งพองมากจนไปกดทับอวัยวะข้างเคียง ก็จะเกิดอาการกับอวัยวะนั้น เช่น อาการปวดแน่นในท้อง โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมีโอกาสหาย หากเส้นเลือดที่โป่งพองไม่แตก ในทางกลับกันหากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องท้องหรือบริเวณอื่นแตก อัตราการเสียชีวิตจะสูงถึง 50%ดังนั้น ผู้ที่ต้องการป้องกันตนเองจากภาวะเสี่ยงดังกล่าว ควรตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้งในผู้ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี แต่หากอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายโดยใส่ใจการเอกซเรย์ปอด อัลตราซาวน์ช่องท้อง ตรวจการทำงานของตับ ไต ทดสอบประสิทธิภาพของหัวใจ" นพ.วิฑูรย์ กล่าว

   สำหรับการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายตามบทบัญญัติของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  ที่เกิดหลัง 1 ต.ค.55  เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท พิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นไปตา่มที่กฏหมายกำหนดไว้

0 ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ